เคราะห์ซ้ำที่ชายแดนใต้...เงินเยียวยายังไม่มา แต่มีนายหน้าขอหักหัวคิวแล้ว!
พลันที่มีข่าวคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองด้วยเม็ดเงินสูงสุดถึง 7.7 ล้านบาท ก็ได้เกิดกระแสนำไปเปรียบเทียบกับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐในอัตราที่ต่ำกว่ามาก
และแน่นอนว่าเมื่อมีการพูดถึงผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ย่อมมีหลายคนนึกถึงเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบ ซึ่งมีผู้สูญเสียจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และยังคงเป็นเงื่อนไขปลุกระดมของขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐอยู่จนถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์กรือเซะ คือเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมกว่าร้อยคนบุกโจมตีป้อมจุดตรวจนับสิบแห่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ในพื้นที่ชายแดนใต้ เกือบทั้งหมดมีเพียงมีดกับไม้เป็นอาวุธ กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ทั้งหมดถูกตอบโต้ด้วยอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 108 ราย (เป็นเจ้าหน้าที่ 1 นาย) โดยจุดที่มีความสูญเสียมากที่สุดกว่า 30 ศพคือที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ชานเมืองปัตตานี
คดีความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 ส่วนใหญ่ถึงที่สุดไปแล้ว เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง ครอบครัวผู้สูญเสียได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบ้าง แต่ไม่มากนัก และการขอรับความช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากรัฐมองว่าผู้ที่เสียชีวิตเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน
ส่วนเหตุการณ์ตากใบ คือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการใช้กำลังสลายการชุมนุมจำนวน 7 ราย และเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วยวิธีให้ถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง และนำไปเรียงซ้อนกันบนรถบรรทุกของทหารอีกถึง 78 ราย
นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการมากกว่าร้อยคน...
คดีความที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ตากใบมีหลายคดี หนึ่งคือ คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเอาผิดผู้ต้องหา 58 รายในฐานะแกนนำและมีส่วนร่วมในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุม แต่อัยการสูงสุดสั่งถอนฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2549 ตามนโยบายเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาล
สองคือ คดีแพ่งที่ครอบครัวผู้สูญเสียรวมตัวยื่นฟ้องฐานละเมิด ซึ่งสุดท้ายภาครัฐยอมจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47 ล้านบาทจากการเจรจาไกล่เกลี่ย แต่เมื่อนำมาแบ่งสรรกันในหมู่ครอบครัวผู้เสียชีวิตเกือบร้อยชีวิตแล้ว แต่ละรายก็ได้เงินไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนั้นยังมีคดีครอบครัวผู้สูญเสียดูจะยอมรับไม่ได้ นั่นก็คำสั่งของศาลในสำนวนไต่สวนการตาย 78 ราย (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เมื่อมีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานหรือระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ อัยการต้องทำคำร้องให้ศาลไต่สวนการตาย เพื่อถ่วงดุลการทำหน้างานของพนักงานสอบสวน) ซึ่งศาลมีคำสั่งว่าทั้ง 78 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย
และพนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุดไปแล้วเช่นกัน
น่าสนใจว่าครอบครัวของผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ รู้สึกอย่างไรเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเตรียมจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองถึงรายละ 7.7 ล้านบาท และแม้รัฐบาลจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน แต่ก็เพิ่งประชุมนัดแรกกันไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา และผลประชุมก็ยังแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ลูกสาวเหยื่อกรือเซะแนะเยียวยาอย่ามุ่งแค่เงิน
คอลีเยาะ หะหลี ผู้สูญเสียบิดาไปจากเหตุการณ์กรือเซะ กล่าวว่า กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองไม่ควรได้รับการเยียวยาเป็นกรณีพิเศษ เพราะเหตุที่เกิดไม่ได้ต่างอะไรกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากจะเยียวยาด้วยจำนวนเงินหลายล้านบาทตามที่เป็นข่าวจริง รัฐบาลก็ต้องดำเนินการให้มีความเท่าเทียมกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่กระทำในลักษณะสองมาตรฐานเช่นนี้
"ถ้าฝั่งชุมนุมทางการเมืองได้ 7.7 ล้านบาท ฝั่งนี้ก็ต้องได้ด้วย ทุกกรณีทุกเคส เพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่า จริงๆ แล้วการเยียวยาไม่จำเป็นต้องใช้เงินเท่านั้น แต่สิ่งที่ครอบครัวผู้สูญเสียอยากได้มากที่สุดคือความเป็นธรรมในคดีว่าใครผิดใครถูก" คอลีเยาะ กล่าว
ยังไม่เห็นเงินเยียวยาแต่เจอ "นายหน้า" ขอหักหัวคิวแล้ว
ขณะที่หนึ่งในครอบครัวเหยื่อตากใบ กล่าวว่า การช่วยเหลือที่รัฐกำลังจะให้ถือว่าช้าเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลย หากได้เงินเยียวยามาจริง จะมอบให้พ่อกับแม่เพื่อนำไปประกอบพิธีฮัจญ์ให้กับคนตาย
อย่างไรก็ดี ญาติเหยื่อตากใบรายนี้ มองว่ารัฐบาลไม่ค่อยมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากนัก เพราะตั้งเป้าจะช่วยกลุ่มคนเสื้อแดงมากกว่า แต่ที่ต้องจ่ายให้กับกรณีภาคใต้ด้วย ก็เพราะเกรงว่าจะถูกวิจารณ์
"เรารู้สึกว่าถ้าไม่มีเรื่องของกลุ่มหรือสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงไม่มีการช่วยเหลือเพิ่มเติมแน่นอน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีความเท่าเทียมอะไรอยู่แล้ว"
สมาชิกครอบครัวเหยื่อตากใบ ยังบอกอีกว่า จนถึงขณะนี้แม้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องเงินเยียวยาส่วนเพิ่มว่าจะได้อีกเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มมีนายหน้ามาขอส่วนแบ่งหรือหักหัวคิวบ้างแล้ว ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นคนที่อ้างตัวว่าเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่
"เขาบอกว่ากว่าจะทำให้รัฐอนุมัติได้ก็เหนื่อย ยากลำบากมาก จึงต้องขอแบ่งให้กับกลุ่มพวกเขา 50 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่รู้ว่าจะได้เท่าไหร่ก็มาขอกันแล้ว ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ บางคนได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐแค่ 4-5 หมื่นบาท ก็มาขอ 25 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเป็นการทำบุญบ้าง เอาไปให้คนที่เดินเรื่องบ้าง พูดจาสารพัด สุดท้ายก็เอาไปกินกันเอง ปัญหาภาคใต้ทุกวันนี้มีผลประโยชน์เยอะมาก หลายคนสามารถสร้างบ้านหลังใหญ่ แถมยังสร้างบ้านให้คนเช่าได้อีกต่างหาก จากคนที่ไม่มีอะไรมาก่อนเลย"
ญาติเหยื่อตากใบรายนี้ เสนอว่า หากรัฐจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มครอบครัวผู้สูญเสียจริง ก็ขออย่าให้องค์กรอื่นใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ขอให้เป็นเรื่องที่พูดคุยกันโดยตรงระหว่างรัฐกับครอบครัวผู้สูญเสีย ไม่อย่างนั้นชาวบ้านก็ต้องถูกหักเปอร์เซ็นต์จนแทบไม่เหลืออะไรเลย
"อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐประสานตรงกับชาวบ้าน แม้ทหารหรือเจ้าหน้าที่จะมีผลประโยชน์บ้าง แต่ก็ยังต้องกว่ากลุ่มนายหน้าพวกนี้" สมาชิกครอบครัวเหยื่อตากใบ กล่าว
กรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้คาด 2 สัปดาห์คลอดเกณฑ์ชดเชย
ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ “เนชั่นทีวี” เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ความสูญเสียในภาคใต้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมานั้นมีมากและหลายลักษณะ จึงต้องมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแยกแยะกรณีต่างๆ ว่าประชาชนได้รับความเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยคาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะสามารถวางหลักเกณฑ์ในการเยียวยาได้ ซึ่งจะต้องใช้เกณฑ์เดียวกันกับที่ ครม.มีมติให้เยียวยาผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสองมาตรฐาน
"ท่านรัฐมนตรีประชา (พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก) ย้ำเองว่าการเยียวยาจะต้องไม่มีสองมาตรฐานเด็ดขาด แต่การชดเชยเยียวยาในภาคใต้ใช้เงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฟื้นฟูจิตใจด้วย" ผศ.ปิยะ ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เหตุการณ์ตากใบ
2 คอลีเยาะ หะหลี
3 ผศ.ปิยะ กิจถาวร
อ่านประกอบ :
เปิดราคาชีวิต " ตร.-ทหาร-ชาวบ้าน" ชายแดนใต้ กับคำฝากจากใจ "รัฐอย่างสองมาตรฐาน"