ชาวนาเกลือบุก ก.เกษตร ร้องนิยามผิด “ไม่ให้เป็นเกษตรกร” หลุดความช่วยเหลือรัฐ
ชาวนาเกลือ 4 จังหวัด ยื่นหนังสือนายกฯ รมว.เกษตร-พานิชย์ ค้านนิยามใหม่ให้นาเกลือเป็นอุตสาหกรรม ทำให้ตกความช่วยเหลือรัฐ แจงกฎหมายเดิมชัดอยู่แล้วว่าเป็นเกษตรกร ไม่เร่งแก้ต่อไปไม่มีเกลือกิน ธีระรับเสนอ ครม.ทบทวน
วันที่ 16 พ.ย.53 นายอรรถพร พลบุตร สส.เพชรบุรี นำตัวแทนเกษตรกรนาเกลือจาก จ.เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และชลบุรี กว่า 20 คน เข้าพบนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กระทรวงเกษตรฯ) และยื่นหนังสือเรียกร้องในนามประธานชาวนาเกลือ 4 จังหวัด ลงนามโดยนายยุทธ อังกินันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และประธานชมรมสหกรณ์ชาวนาเกลือ 4 จังหวัด ถึงนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงเกษตรฯ ร.ม.ว.กระทรวงพานิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนการตีความการทำนาเกลือเป็นอาชีพเกษตรกรรมหรือเกษตรกร
โดยระบุว่าจากการที่วันที่ 24 ส.ค.คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี ร.ม.ว.เกษตรฯ เป็นประธาน รับทราบผลการประชุมระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า “การผลิตเกลือโดยใช้การระเหยของน้ำทะเล ทะเลสาบน้ำเค็มหรือน้ำเค็มจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆโดยใช้แสงอาทิตย์เป็นกิจกรรมประเภทการทำเหมืองหินและเหมืองแร่” เป็นการตีความให้การทำนาเกลือเป็นอุตสาหกรรม ส่งผลให้ชาวนาเกลือเสียสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.)
“ผู้แทนสำนักกฎหมาย สป.กษ. ยังให้ความเห็นว่าการทำนาเกลือไม่ใช่อาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากร่างกฎหมายด้านการเกษตรที่ผ่านมา รวมถึง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติที่กำลังประกาศใช้ ไม่ได้รวมการทำนาเกลือเข้าไว้ในความหมายของเกษตรกรรม”
หนังสือดังกล่าว ยังระบุว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับกำหนดให้การทำนาเกลือเป็นเกษตรกรรม เช่น พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2508, ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6 ก.ค.2551 ตามความใน พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2517, พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ.2528
ทั้งนี้จึงขอเรียกร้องให้ 1.มีการทบทวนตีความการทำนาเกลือเป็นอาชีพเกษตรกรรม 2.ให้กระทรวงเกษตรฯรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 3.ให้กำหนดการทำนาเกลือเป็นอาชีพเกษตรกรรมไว้ในกฎหมายด้านการเกษตรทุกฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติที่กำลังประกาศใช้
นายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จ.สมุทรสาคร เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ชาวนาเกลือยังไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง เพราะยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ ตนเห็นว่าไม่ควรใช้พจนานุกรมมากำหนดชีวิตชาวนาเกลือด้วยการตีความให้เป็นอุตสาหกรรมเช่นนี้ ทั้งนี้ปัจจุบันชาวนาเกลือใน ต.โคกขาม อ.เมือง สมุทรสาคร ปัจจุบันเหลือเพียง 31 ราย อีกกว่า 100 รายหันไปทำบ่อกุ้งเพราะมีรายได้ดีกว่าการทำนาเกลือซึ่งมีต้นทุนสูงถึงเกวียนละ 1,100 บาท แต่สามารถขายแค่ 1,200 บาท ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอาชีพการทำนาเกลือจะหมดไปในที่สุด
“เมื่อราคาเกลือไม่แน่นอน เขาก็ไปทำวังกุ้งเพราะสามารถเลี้ยงหอยเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปูด้วย แต่นาเกลือทำเกลือได้อย่างเดียว แล้วไม่มีใครมาดูแล กระทรวงไหนก็ส่ายหัว คนรุ่นใหม่นี้ไม่มีใครมาทำแล้ว ไปโรงงานกันหมดแล้ว หมดรุ่นลุงคงไม่มีใครทำแล้วถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป”
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรฯ ยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดว่าอาชีพทำนาเกลือจะได้รับการดูแลจากหน่วยงานใด ทั้งนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ และจะรายงานคณะรัฐมนตรีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน และหาทางออกต่อไป.
ที่มาภาพ : http://www.keajon.com/tag/นาเกลือ