นโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นำโดยนางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ รองเลขาธิการและคณะเข้าร่วมประชุมและเป็นผู้นำเสนอและชี้แจงความเห็นและข้อเสนอแนะร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดในวันพุธที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙เพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ณ ห้องบอลรูม ๒-๓ ชั้น ๔ โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตประทุมวัน กรุงเทพมหานคร
และในวันเดียวกันเวลา ๑๓.๓๐ น. ได้เข้าชี้แจงความเห็นและข้อเสนอแนะร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ต่อคณะกรรมการกฏษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ณ ห้องประชุมโบราณ ชั้น ๒ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สรุปการชี้แจงความเห็นและข้อเสนอแนะร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและการได้ชี้แจงความเห็นและข้อเสนอแนะร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ต่อคณะกรรมการกฏษฎีกา (คณะที่ ๑๑)
ผู้เข้าร่วมการเสวนา/ชี้แจง ประกอบด้วย
๑.นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ผู้นำเสนอ/ชี้แจงหลัก)
๒. นางสาวนาลินี ศรีกสิกุล เลขานุการกลุ่มงานกฎหมายสังคม
๓. นางภัทรินทร์ สั้นนุ้ย ผู้ช่วยเลขานุการกลุ่มงานกฎหมายสังคม
๔. นางสาวนิศาชล ตุ่นเฮ้า ผู้ช่วยเลขานุการกลุ่มงานกฎหมายสังคม
๕. นางสาวกวิสรา สุวรรณโณ ผู้ช่วยเลขานุการกลุ่มงานกฎหมายสังคม
ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดที่ ๑ ได้จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยได้มีการศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ทางวิชาการตลอดตนจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการรวมทั้งภาคประชาสังคม จึงได้จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดจำนวน ๔ เรื่อง ได้แก่
(๑) กฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม
(๒) แนวทางการปฏิรูปกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด
(๓) หลักการในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและ
(๔) การดำเนินคดีที่เป็นธรรม : กรณีการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ประกอบกับเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพในการปฏิรูปกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยนำหลัก ๔ ประการดังกล่าวมาข้างต้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อจัดทำรายงานวิชาการเพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด (ฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา) ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและให้การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลแท้จริงต่อไป โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
๑. โครงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้นโยบายในการปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ผลจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเน้นแนวทางการส่งเสริมและป้องกันด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงเสนอเค้าโครงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ดังนี้
ภาค ๑ นโยบายและการบริหารจัดการสารเสพติด
ลักษณะ ๑ นโยบายเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของบุคคล
หมวด ๑ บทบัญญัติทั่วไป
หมวด ๒ มาตรการส่งเสริมและป้องกัน
ส่วนที่ ๑ มาตรการทางเลือก
หมวด ๓ มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด หมวด ๔ มาตรการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด
ภาค ๒ การควบคุมและความผิดเกี่ยวกับสารเสพติด (วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติดให้โทษ และพืชเสพติด)
ลักษณะ ๑ การควบคุมและความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์
ลักษณะ ๒ การควบคุมและความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
ลักษณะ ๓ การควบคุมและความผิดเกี่ยวกับพืชเสพติด
ลักษณะ ๔ ความผิดและบทลงโทษ
ภาค ๓ การดำเนินคดีเกี่ยวกับสารเสพติด
๒. นโยบายเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติดและมาตรการส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของบุคคล ให้มีการพิจารณา ทบทวนนโยบายและแผนระดับชาติเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งในส่วนการป้องกันและการคำนึงถึงมาตรการส่งเสริม สุขภาพและความปลอดภัยของบุคคลต้องมีการพิจารณาทบทวนเป็นระยะๆ อาจจะกำหนดเป็นทบทวนทุกห้าปี
ซึ่งการกำหนดนโยบายและแนวโน้มในการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องคำนึงถึงการป้องกันยาเสพติด กระบวนการรักษา การฟื้นฟูดูแล และการกลับคืนสู่สังคม รวมทั้ง ต้องมีการประเมินผลสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาแนวทางที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๓. มาตรการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกัน การตรวจปัสสาวะควรเป็นกระบวนการทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์ที่นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบกับข้อมูลด้านอื่น ซึ่งลักษณะของการเสพหรือการติดยาและข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เสพหรือผู้ติดยา โดยขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ต้องมีมาตรฐานเหมือนกันทั้งประเทศ ในกรณีผู้เสพหรือผู้ติดยา แม้จะปรากฏว่าเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นอยู่ด้วย บุคคลดังกล่าวก็ควรได้รับการบำบัดรักษาโดยวิธีการทางด้านการแพทย์เนื่องจากแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น แต่หากมีการคำนึงถึงเรื่องสุขภาพไปพร้อมกันก็ต้องมีสิทธิในการได้รับการรักษาทางการแพทย์ด้วยหากว่ามีการพิสูจน์ว่ามีสารเสพติดในร่างกายเหมือนผู้เสพหรือผู้ติดยาทั่วไป โดยไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดี
๔. มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) ต้องนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาพิจารณาเป็นสำคัญ รวมทั้ง ต้องมีความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ไม่ได้ปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาเสพติดเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาเสพติดหรือผู้ที่เสี่ยงจะเข้าไปสู่การใช้ยาเสพติดด้วย จึงนับได้ว่ามาตรการดังกล่าวมีความสำคัญตั้งแต่การป้องกัน การดูแล รักษาผู้ใช้ยาเสพติด รวมถึงเพื่อความปลอดภัยหรือลดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในการใช้สารเสพติดด้วย
๕. ระบบการดูแลบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
หลักการ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เห็นว่าผู้ใช้ยามีหลายประเภทและหลายลักษณะ เปรียบเสมือนอาการของคนป่วยที่จะมีความแตกต่างและหนักเบาไม่เหมือนกัน ดังนั้น การกำหนดแนวทาง การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมแก่กรณี และเสนอว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ในกำหนดแนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานให้ชัดเจนและเป็นไปตามหลักวิชาการ
นอกจากนี้ ควรมีระบบการจำแนกและคัดกรองประเภทของผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด โดยวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถกำหนดโปรแกรมและแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสม
๖. การกำหนดประเภทของยาเสพติดต้องเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์และหลักวิชาการด้าน การแพทย์และสาธารณสุข
การกำหนดนิยามของคำว่า “สารเสพติด” (เปลี่ยนจาก คำว่า “ยาเสพติด”เดิม) “วัตถุออกฤทธิ์” “ยาเสพติดให้โทษ” “สารระเหย” และ “พืชเสพติด” (เพิ่มขึ้นมาใหม่) เนื่องจากพืชเสพติดสามารถนำมาใช้ ประโยชน์ในด้านยาและเป็นตัวช่วยในระหว่างการบำบัดรักษา จึงต้องมีมาตรการควบคุมให้น้อยที่สุด โดยต้อง แยกออกจากประเภทสารเสพติดอื่นที่มีความร้ายแรงกว่า เช่น กัญชา กระท่อม เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีการประกาศการควบคุมและการลงโทษเป็นการเฉพาะ
๗. การกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือสารเสพติด และการบังคับโทษต้องมีความชัดเจน และต้องมีการแยกกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดังนี้
(๑) ผู้เสพ ผู้ติด หรือการครอบครองเพื่อเสพ ต้องไม่นำการลงโทษทางอาญามาบังคับใช้
(๒) ผู้รับจ้างขนยาเสพติด หรือผู้ค้ารายย่อย ต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิด วัตถุประสงค์ในการกระทำ พฤติการณ์และสภาพการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา รวมถึง ผลประโยชน์ที่ได้รับจากยาเสพติด เพื่อนำมาพิจารณาลงโทษได้อย่างเหมาะสมและได้สัดส่วน
ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดโทษเป็นไปอย่างเหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษนั้น
(๓) ผู้ค้ารายใหญ่ หรือองค์กรอาชญากรรม กลุ่มคนเหล่านี้มักจะเป็นใน รูปแบบขององค์กรอาชญากรรมและขบวนการค้ายาเสพติด จึงต้องมีมาตรการลงโทษทางอาญามาบังคับใช้อย่างเด็ดขาด
๘. การลงโทษที่ได้สัดส่วนและการใช้มาตรการบังคับทางอาญาที่เหมาะสมกับบุคคล (Individualization of Punishment)
ข้อมูลบุคคลในการพิจารณาของศาล ควรกำหนดให้มีการ รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาสามารถเสนอข้อมูล เพื่อให้ศาลไต่สวนได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะพนักงานสอบสวน เพื่อประโยชน์ในการให้ศาลพิจารณาลงโทษได้อย่างเหมาะสมกับการกระทำ ความผิด
๙. การลดทอนการเป็นความผิดทางอาญา (Decriminalization)
ให้นำมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษทางอาญา ในกรณีที่เป็นผู้เสพยาเสพติดหรือผู้ติดยาเสพติดมาใช้บังคับ อาทิ การตักเตือน การทำทัณฑ์บน หรือการทำข้อตกลง การให้บำเพ็ญประโยชน์หรือสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
๑๐. การดำเนินคดียาเสพติด ให้มีการยกเลิกการควบคุมตัวผู้ถูกจับในคดียาเสพติดไว้เพื่อทำการสอบสวนไม่เกิน ๓ วัน ก่อนส่งตัวไปยังพนักงานสอบสวน และมีข้อเสนอโดยให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาในคดียาเสพติดเท่าที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ ให้เจ้าหน้าที่นำกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินมาบังคับใช้ในการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของผู้ต้องสงสัย การอำพรางตัวเป็นสายลับ และการล่อซื้อยาเสพติด การใช้มาตรการพิเศษ และต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่ ชัดเจน มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ด้านยาเสพติดอย่างเคร่งครัด ดังนั้น การใช้มาตรการพิเศษของ เจ้าพนักงานต้องมีการขออนุญาตศาลก่อน เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานและเป็นการ ถ่วงดุลไม่ให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตแห่งความจำเป็น
๑๑. การยกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
สรุปโดย กลุ่มงานกฎหมายสังคม