ปอกเปลือกพูดคุยดับไฟใต้...เกมเล็ก-เกมใหญ่ ภายใน-ภายนอก
ถือว่าเซอร์ไพรส์พอสมควรสำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.59
เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากระบวนการพูดคุยน่าจะหยุดชะงัก หรือล่มไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่อง “ทีโออาร์” หรือร่างข้อตกลงที่เป็นกรอบการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนาม “มารา ปาตานี”
หลายคนนำไปกล่าวอ้างว่าการหยุดชะงักหรือล่มไปของกระบวนการพูดคุย ทำให้เกิดระเบิดปูพรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค. โดยฝีมือบีอาร์เอ็น เพราะต้องการสร้างแรงกดดันให้เกิดการพูดคุย
แต่พอการพูดคุยเกิดขึ้นเมื่อวาน คนกลุ่มเดียวกันนั้นก็บอกว่าเนื้อหายังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็นเข้าร่วม
ก็ว่ากันไป...
ย้อนกลับมากับความเซอร์ไพรส์ที่การพูดคุยยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ปรากฏร่องรอยเล็กๆ ที่น่าประหลาด เมื่อฝ่ายรัฐบาล คสช. ยอมให้มีการพูดคุยรอบใหม่ แต่กลับไม่ได้ให้ความเห็นชอบกับ “ร่างทีโออาร์” ที่ฝ่าย “มารา ปาตานี” พยายามผลักดัน
คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อักษรา เกิดผล ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข หลังการพูดคุยเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.ยุติลงแล้ว คงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
พิจารณาจากองค์คณะที่ร่วมวงพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีบางเสียงสะท้อนว่าฝ่าย “มารา ปาตานี” ไม่ค่อยเต็มที่เท่าที่ควร บ้างก็ว่าแกนนำคนสำคัญบางคนที่เป็นดั่ง “กระบอกเสียง” ไม่ได้เดินทางเข้าร่วม ซ้ำบางคนยังโพสต์เฟซบุ๊คโจมตีรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงก่อนการพูดคุยจะเริ่มขึ้น ทำนองว่ารัฐบาลไทยเป็น “นักเลง” เสมือนหนึ่งว่ามีการเล่นเกมกดดันให้พวกเขาต้องยอมรับกระบวนการพูดคุยต่อไป
ทั้งๆ ที่ข้อเรียกร้องหลักๆ หลายประการไม่ได้รับการตอบสนอง!
ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์กันว่า “มารา ปาตานี” ไม่ได้ต้องการร่วมกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลทหารอย่าง คสช. เพราะต่อรองยาก และไม่มีความยืดหยุ่นในข้อเรียกร้องทางการเมือง ทั้งยังประเมินว่าอีกไม่นานรัฐบาลทหารก็ต้องเก็บฉาก ลงจากอำนาจ
แต่แล้วเกมก็พลิก เพราะรัฐบาลชนะประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (อย่างพลิกความหมายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง) และยังทำท่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเป็นนายกฯยาวต่อเนื่องไปถึงหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปลายปีหน้าอีกด้วย โดยใช้กลไกการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามคำถามพ่วง
ความพลิกผันนี้เองที่ทำให้ มารา ปาตานี อาจอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น เพราะหากยังแข็งขืนรั้งรอต่อไปโดยไม่ยอมถอยอะไรเลย ก็อาจต้องรออีกหลายปีกว่าจะได้คุยใหม่ในรัฐบาลพลเรือนที่แท้จริง
เมื่อพิเคราะห์เจือสมกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ต้องบอกว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง
ห้วงเวลาหลังเสร็จศึกประชามติ เพียงไม่ถึง 15 วันในครึ่งหลังของเดือน ส.ค. ทั้งนายกฯประยุทธ์ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินทางไปเยือนมาเลเซียถึง 2 ครั้ง พร้อมๆ กับแนวโน้มความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะลงนามกันระหว่างการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ปลายสัปดาห์หน้า (8-9 ก.ย.)
โดยเฉพาะความร่วมมือเรื่องการก่อสร้าง “รั้วชายแดน” และการแก้ไขปัญหา “คนสองสัญชาติ” ซึ่งเป็นหนามยอกอกรัฐบาลไทยทุกยุคมาเนิ่นนาน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวข้ามแดนของกลุ่มก่อความไม่สงบได้เลย ปัญหานี้กำลังจะถูกแก้อย่างเป็นรูปธรรมหากความร่วมมือใน 2 เรื่องดังกล่าวปรากฏผล
มาเลเซียได้ประโยชน์ในแง่ของการเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวและขยายตัวของนักรบไอเอส รวมถึงขบวนการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ที่สร้างปัญหาให้มาเลเซียอย่างหนักในระยะหลัง โดยที่ทางการไทยยืนยันให้ความร่วมมือเต็มที่ ทั้งด้านการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน และการข่าว
เพราะต้องไม่ลืมว่าไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยวของภูมิภาค นักรบไอเอสแม้ไม่ได้มีเป้าหมายก่อเหตุในประเทศไทย แต่ก็มีรายงานใช้ไทยเป็นทางผ่านเป็นระยะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยนี่เอง
ขณะที่ฝ่ายไทยก็ได้ประโยชน์ในแง่ของการสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ และจำกัดพื้นที่ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ขับเคลื่อนงานอยู่นอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนพำนักอยู่ในมาเลเซีย
หากหยุดความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ การควบคุมสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ย่อมดีขึ้น แต้มต่อเดิมๆ ของฝ่ายต่อต้านรัฐไทยก็จะลดลง
ยิ่งสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ไม่สงบและมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในห้วงใกล้วันกำหนดนัดพูดคุยเพื่อสันติสุข ยิ่งทำให้ภาพพจน์ของ “ปาร์ตี้บี” ย่ำแย่ลงไปด้วย เพราะประชาชนทั่วไปมองกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในกระบวนการพูดคุยแบบเหมารวม ไม่ได้มองแยกส่วน (ว่าเป็นบีอาร์เอ็น มารา ปาตานี หรือกลุ่มอื่นใด) และหลายๆ ครั้งก็มีนักวิเคราะห์บางรายเลือกมองแบบนั้นเช่นกัน เพื่อผลในการวิจารณ์ดิสเครดิตรัฐบาล
นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงใช้ “ไม้แข็ง” ค่อนข้างมากในเรื่องทีโออาร์ และเดินหน้ากดดันให้มารา ปาตานี กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันก่อน จึงจะพูดคุยเรื่องอื่นๆ ต่อไป
นั่นเพราะมาเลเซียกำลังร่วมด้วยช่วยกัน และร้องเพลงคีย์เดียวกันกับรัฐบาลไทยใช่หรือไม่...เกมนี้น่าติดตาม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้ายไปขวา) พล.อ.อักษรา, อาบู ฮาฟิซ อัล ฮากิม, พล.อ.ประยุทธ์
ขอบคุณ : ภาพต้นฉบับ อาบู ฮาฟิซ จากเว็บไซต์ดีพเซาท์วอทช์