ก.เกษตรเตรียมเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรหลังคลอด พ.ร.บ.
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรก หลังลงพระปรมาภิไธยผ่านร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ เน้นบูรณาการทุกภาคส่วน ดึงมหาดไทยตรวจสอบข้อมูล-ทำบัญชีรายชื่อเกษตรกร
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกร ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ กรุงเทพฯ ว่าขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งหลังจากนั้นสิ่งที่กระทรวงต้องเร่งดำเนินการเมื่อกฏหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือ การจัดเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรในระดับต่างๆเพื่อให้ได้สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด
รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงการดำเนินการว่ามีหลายขั้นตอน เช่น การขึ้นทะเบียน, ประกาศรายชื่อเกษตรกร, จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับตำบลและอำเภอ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
“เกษตรและสหกรณ์จังหวัดต้องเป็นหน่วยหลักร่วมกับหน่วยงานอื่นในจังหวัด และเกษตรกรจังหวัดซึ่งสังกัดระดับอำเภอจะต้องช่วยดำเนินการ และยังต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบข้อมูล จัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกรผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร” นายธีระ กล่าว
ด้านนายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดบทเฉพาะกาลในช่วง 2 ปีแรก ให้ปลัด ก.เกษตรฯ ทำหน้าที่เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด รวมทั้งให้ดำเนินภารกิจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร, ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร, จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรก ซึ่งจะเป็นที่มาของสมาชิกของสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดแรก ซึ่งเป็นองค์ประกอบให้เกิดสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจรูปแบบ วิธีการ แผนการเลือกตั้ง รวมถึงหลักเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด คณะกรรมการเตรียมพร้อมการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนัก/กองที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจตนารมณ์การมีสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่รักษาและสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็นอาชีพสำคัญของประเทศ สาระสำคัญตามจะคุ้มครองรักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิต การตลาด เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างเป็นเอกภาพเข้มแข็ง ที่สำคัญเกษตรกรสามารถทำแผนแม่บทเสนอคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายภาคเกษตรกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความเป็นจริง
ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.สุมลมาลย์ สิงหะ ผู้ประสานงานวิจัยและรณรงค์นโยบาย มูลนิธิชีวิตไท เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าพิจารณาจาก 4 เรื่องหลักยังมีปัญหาคือ 1.นิยามคำว่าเกษตรกร คลุมเครือมาก ไม่ได้พูดถึงสิทธิเกษตรกรรายย่อย 2.กระบวนการได้มาของสมาชิกสภาฯทั้งระดับชาติและจังหวัดไม่เปิดช่องให้เกษตรกรรายย่อยแต่เปิดช่องให้เกษตรกรรายใหญ่หรือนายทุน 3.อำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นอาจเอื้อให้กลุ่มนายทุนมีความต้องการเข้ามามากขึ้น 4.ขาดความเป็นอิสระแท้จริง ร่างดังกล่าวกำหนดให้ปลัดกระทรวงฯ เป็นเลขาฯ ดูเรื่องงบประมาณ อีกทั้งแผนแม่บทที่ชาวบ้านเสนอก็ต้องผ่านมือรัฐมนตรีก่อนถึงนายกฯ .