พูดคุย 2 กันยาฯ ก้าวข้าม"ทีโออาร์" เดินหน้ากำหนดพื้นที่ปลอดภัย
การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือนหยุดชะงักไปเพราะตกลงกันไม่ได้เรื่อง "ทีโออาร์" หรือกรอบข้อตกลงเบื้องต้นในการพูดคุย จนทำให้ต้องเว้นว่างการพบปะกันของคณะพูดคุยชุดใหญ่นานกว่า 4 เดือน ทำให้การนัดพูดคุยรอบใหม่ในวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.59 ได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายอย่างมาก
27 เม.ย.59 คณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ยุติการพูดคุยกับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ในฐานะตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐลงกลางคัน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พร้อมปฏิเสธการลงนามใน "ทีโออาร์" ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานเทคนิค (ชุดเล็ก) จากทั้งสองฝ่ายแล้ว โดยให้เหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ
หลังจากนั้นมีข่าวลบๆ เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางฝ่ายเชื่อว่าการพูดคุยล่มลงแล้ว กระทั่งมีบางคนเชื่อว่าเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนช่วงระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นการพยายามส่งสัญญาณและแรงกดดันไปยังรัฐบาลไทยให้เดินหน้าพูดคุยต่อไป
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การพูดคุยยังคงดำเนินต่อมาอย่างเงียบๆ ในระดับคณะทำงานเทคนิคซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลใหม่บางส่วนทั้งสองฝ่าย และการเดินเกมระดับรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงของไทย ที่บินไปพบปะนายกฯและรองนายกฯมาเลเซียถึง 2 ครั้ง
ในที่สุดการพูดคุยรอบใหม่ก็เกิดขึ้น แต่ประเด็นที่ยังคงสับสนก็คือ การนัดพบปะกันครั้งนี้ เป็นการตกลงกันเรื่อง "ทีโออาร์" หรือไม่
ก้าวข้าม "ทีโออาร์"
ข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับจากแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลซึ่งทราบรายละเอียดของกระบวนการพูดคุยเป็นอย่างดี บอกว่า การพูดคุยวันที่ 2 ก.ย.จะไม่มีการหารือเรื่องทีโออาร์อีกแล้ว
“เราก้าวข้ามมันไปแล้ว มันจบหมดตั้งนานแล้ว” เป็นคำยืนยันจากแหล่งข่าว
เขาอธิบายว่า ร่างทีโออาร์ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานเทคนิคชุดก่อน ไม่ได้รับการอนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีการตั้งต้นหารือกันใหม่ และสรุปว่าไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำข้อตกลงใดๆ มีเพียงกรอบกว้างๆ ในการพูดคุยที่เห็นชอบร่วมกันก็เพียงพอแล้ว
“ในการพูดคุยจะไม่มีการลงนามใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งเรื่องทีโออาร์ด้วย เพราะประเทศของเราเป็นรัฐ การลงนามในข้อตกลงใดๆ กับองค์กรนอกประเทศ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ฉะนั้นเรื่องนี้จบแล้ว เวลาเราทำงานหรือพูดคุยร่วมกันก็ทำเป็นบันทึกการประชุมที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายก็พอ” แหล่งข่าวระบุ
ข้อมูลจากแหล่งข่าวในรัฐบาล สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงหลายครั้งในระยะหลังว่า การพูดคุยของคณะพูดคุยในวันที่ 2 ก.ย.นี้ จะไม่มีการให้ความเห็นชอบร่างทีโออาร์ และแกนนำรัฐบาลทั้งสองก็ยังไม่เคยเห็นร่างทีโออาร์แต่อย่างใด
เดินหน้ากำหนดพื้นที่ปลอดภัย
คำถามก็คือ การพูดคุยในวันศุกร๋ที่ 2 ก.ย.ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก จะเป็นการพูดคุยกันเรื่องอะไร
“เรามุ่งเรื่องลดเหตุรุนแรง กำหนดพื้นที่ปลอดภัยอย่างเดียวเลย” แหล่งข่าวคนเดิมบอก และว่า “การลดเหตุรุนแรงต้องทำให้ได้ ต้องมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ถ้าทำได้ก็จะคุยกันเรื่องอื่นๆ ต่อไปตามกระบวนการ โดยมีคณะทำงานชุดย่อยๆ รับหน้าที่ไปหารือในรายละเอียด”
เมื่อซักว่า แสดงว่าฝ่ายมารา ปาตานี ยินยอมลดข้อเรียกร้องในร่างทีโออาร์เดิมลง โดยเฉพาะการให้ยอมรับชื่อ "มารา ปาตานี" ใช่หรือไม่ แหล่งข่าวบอกว่า ตกลงกันให้ใช้คำว่าผู้เห็นต่างจากรัฐ
“ชื่อมารา ปาตานี นั้นทางฝั่งมาราฯ ก็นำไปทำความเข้าใจในประชาคมของตนเองได้อยู่แล้ว รวมทั้งการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ การมีสถานะไม่ใช่เรื่องชื่อ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยพูดคุยด้วย เมื่อรัฐบาลคุยด้วย ก็ย่อมมีสถานะ แต่ถ้าไม่คุยด้วยสิ ถึงจะไม่มีสถานะ”
เขาเผยทิ้งท้ายว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยในวันศุกร์ที่ 2 ก.ย. คาดว่า พล.อ.อักษรา จะเปิดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าการพูดคุย และหวังว่าจะมีข้อตกลงเรื่องการลดเหตุรุนแรงและกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อักษรา เกิดผล และการประชุมของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย (แฟ้มภาพ)