‘มีชัย’มอบฉันทะให้ จนท.รัฐสภาส่งร่าง รธน.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความรอบ 3
‘มีชัย’ ลงนามมอบฉันทะให้ ผอ.กลุ่มงานประธานรัฐสภา ส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญตีความคำถามพ่วงประชามติรอบที่ 3 หลังถูกตีกลับ 2 ครั้งซ้อน เหตุให้มาแค่ใบปะหน้า-ไม่มอบฉันทะให้บุคคลที่มายื่น
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญคืนแก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นครั้งที่ 2 เนื่องจาก กรธ. ไม่ได้ส่งมาในรูปแบบของหนังสือราชการ แต่กลับแนบเป็นหนังสือปะหน้ามาอย่างเดียว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและกระทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 บัญญัติให้แนบใบมอบฉันทะในการกระทำดังกล่าวมาด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : ศาลรธน.- กรธ.ขัดแย้งหนักตีกลับร่าง รธน.รอบ 2 ยันต้องยื่นคำร้องตามแบบ, ให้จนท.สภายื่นแทน-ไม่แนบใบมอบฉันทะ! ศาลรธน.แจงเหตุผลกลับร่าง รธน.รอบ 2)
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ลงนามใบมอบฉันทะให้ ผอ.กลุ่มงานประธานรัฐสภานำส่งร่างรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามาตรา 272 เกี่ยวกับประเด็นคำถามพ่วงประชามติ (ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้) เป็นครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้ว
เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ถึงกรณีนี้ว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการปรับแต่งแต่อย่างใด เป็นเรื่องของขั้นตอนทางธุรการ และเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นตีความไม่ตรงกันเท่านั้น
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะตามกรอบของ กรธ. มีเวลาถึงวันที่ 10 ก.ย. 2559 เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ก่อนสิ้นเดือน ส.ค. 2559 ถือว่าเป็นกำไรด้วยซ้ำ และการส่งเรื่องนี้ไม่เหมือนคำร้องทั่วไปของประชาชน แต่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ต้องดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 2 โดยนายนุรักษ์ มาปราณีต ได้ทำหนังสือถึงนายมีชัย ให้นำเรื่องที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตามแบบคำร้องสำหรับยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่ส่งมาในรูปแบบของหนังสือราชการที่ทำเรื่องปะหน้ามาเท่านั้น ส่งผลให้นายมีชัย และ กรธ. เกิดความไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากมองว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติไว้ ไม่ได้เป็นการส่งให้วินิจฉัยเหมือนกรณีทั่วไป