มลายู-ยาวี เรียกอย่างไรดี?
ในห้วงที่กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี กำลังฮือฮาคึกคักในพื้นที่ โดยเฉพาะ "โอกาส" ของการเปิดตัวสู่โลกกว้างของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งเรื่อง "การงาน" และ "การศึกษา" เนื่องจากพูดและใช้ "ภาษามลายู" ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในอาเซียนหลายประเทศ
มีการพูดถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา "ภาษามลายู" และใช้ "ภาษามลายู" เป็น "ภาษาทำงาน" อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมทางนโยบายมากที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมคนสู่ "ตลาดแรงงาน" ระดับภูมิภาค และด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นของพื้นที่นี้ "โอกาส" จึงอาจเชื่อมโยงไปถึงตะวันออกกลางและอีกหลายๆ พื้นที่ในโลกใบนี้เลยทีเดียว
แต่ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และ "ที่มา" ของตัวเอง โดยเฉพาะภาษามลายู ซึ่งคนจำนวนมากยังสับสนระหว่างคำว่า "มลายู" กับ "ยาวี" จึงนับเป็นเรื่องจำเป็นและน่าสนใจ
กัณหา แสงรายา เขียนบทความที่ชื่อ "มลายู-ยาวี เรียกอย่างไรดี?" เพื่อพาทุกท่านย้อนกลับไปค้นหารากเหง้าของภาษาที่พี่น้องมลายูมุสลิมชายแดนใต้ใช้กันอยู่ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหัวถึงหมอนในแต่ละวัน...
มลายู-ยาวี เรียกอย่างไรดี?
ภาษาที่คนมลายูพูดเรียกว่า "ภาษามลายู" แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีคำเรียกภาษามลายูอีกคำหนึ่งคือ "ภาษายาวี" (Jawi)
ภาษามลายูที่พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้พูดในชีวิตประจำวันเป็นนิจสินนั้นเป็นภาษามลายูถิ่น ซึ่งเราเรียกว่า "ภาษามลายูถิ่นปัตตานี" ใช้ใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และใน อ.เทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ของ จ.สงขลา ส่วนภาษามลายูที่ใช้ใน จ.สตูล เป็นภาษามลายูถิ่นไทรบุรี (เคดะห์) ต่างไปจากภาษามลายูถิ่นปัตตานี
เคยมีผู้ศึกษาว่า นับตั้งแต่กำเนิดมนุษย์เป็นต้นมา เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเรามีภาษาที่ใช้พูดกันนับหมื่นภาษา ปัจจุบันเชื่อกันว่าภาษาต่างๆ เกือบ 30,000 ภาษาได้สูญหายไปแล้วเพราะไม่มีคนพูด ที่เหลืออีกประมาณ 5,000 ภาษาในจำนวนนี้ก็มีนับพันภาษาที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ภาษามลาบรี (ของชนเผ่ามลาบรีที่ถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่า ผีตองเหลือง) ปัจจุบันชนเผ่านี้อาศัยอยู่ในบางอำเภอของ จ.น่านและแพร่ เหลือผู้พูดประมาณ 400 คนเท่านั้น
ภาษามลายูเป็นภาษาหนึ่งที่มีคนพูดมากที่สุดในโลก คือเป็นภาษาที่ใช้พูดมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกรองลงมาจากภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาสเปน สำหรับภาษาอังกฤษและภาษาสเปนใช้พูดอย่างกว้างขวางเนื่องจากอังกฤษและสเปนเป็นประเทศที่เคยมีเมืองขึ้นจำนวนมาก อังกฤษมีเมืองขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชีย เอเชีย-แปซิฟิก (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) และอาฟริกา ส่วนประเทศสเปนมีเมืองขึ้นมากในทวีปอเมริกาใต้ จึงมีผู้พูดภาษาสเปนในอเมริกาใต้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีประเทศฟิลิปปินส์ แต่ภายหลังสเปนออกจากฟิลิปปินส์ก็มีจำนวนผู้พูดน้อยลง ทั้งๆ ที่คนฟิลิปปินส์นิยมพูดและเขียนภาษาสเปนอย่างมาก นักเขียนและวีรบุรษแห่งชาติอย่าง โฮเซ่ ริซาล (José Rizal) ใช้ภาษาสเปนในการสร้างสรรค์นวนิยายยอดเยี่ยมหลายเล่ม เช่น Noli me Tanngere (อย่าแตะต้องตัวข้า) และ El filibusterismo (อุปสรรค) เป็นต้น
ในระยะหลังคนฟิลิปปินส์จะหันมาพูดภาษาอังกฤษแทน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่สเปน ทำให้ภาษาอังกฤษกับคนฟิลิปปินส์เป็นของคู่กันรองลงมาจากภาษาตะกะล็อก (Tagalog - ภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียนเช่นเดียวกับภาษามลายู-อินโดนีเซียน) ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ
ภาษามลายูเป็นภาษากลางในประเทศมาเลเซียเรียกว่า "บาฮาซา เกอบังซาอัน" (Bahasa Kebangsaan) ในอินโดนีเซียเรียกว่า "บาฮาซา" (Bahasa) ในสิงคโปร์และบรูไน ดารุสลาม เรียกว่า "บาฮาซา มลายู" (Bahasa Melayu) ในสิงคโปร์นั้นมีภาษาทางการใช้ 4 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาแมนดาริน (จีน) และภาษาทมิฬ แต่เพลงชาติยังคงใช้เนื้อร้องเป็นภาษามลายู
ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เคยไปประชุมทางวิชาการที่สิงคโปร์ หลังการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายชาติหลายภาษาต่างแยกย้ายกันไปจับกลุ่มพูดคุยกัน บ้างก็ไปจับกลุ่มกับกลุ่มที่ใช้ภาษาจีน บ้างก็ไปจับกลุ่มกับกลุ่มที่ใช้ภาษามลายู แสดงว่าภาษามลายูเป็นภาษาที่สามารถปรับตัวกับยุคสมัยและใช้กันในแวดวงวิชาการได้อย่างดี ผู้เข้าร่วมในการประชุมนานาชาติแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง (ดัตช์ อังกฤษ อมริกัน ออสเตรเลีย รัสเซีย ฯลฯ) หรือชาวเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น หลายคนสามารถพูดภาษามลายูได้อย่างคล่องแคล่ว และยินดีที่ได้ใช้ภาษานี้
ในนครเมกกะ (มักกะฮ์) เวลาฮุจญาจย์ (ผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์) ไปจับจ่ายซื้อของซึ่งบ่อยครั้งมีการต่อรองราคากัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอาหรับกับเจ้าของถิ่น เพราะคนอาหรับจำนวนไม่น้อยสามารถใช้ภาษามลายูโต้ตอบกับผู้ซื้อได้อย่างสบายๆ และมักได้รับเกียรติจากชาวอาหรับอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าบอกว่ามาจากมาเลเซีย
คนยาวี-ภาษายาวี
ในบันทึกของพระอี้จิง (I Ching: ค.ศ.635-ค.ศ.713) ได้อ้างถึงอาณาจักรคุน-หลุน (Kun-lun) ว่าหมายถึงประเทศทั้งสิบในทะเลจีนใต้ซึ่งเชื่อกันว่าใช้ภาษามลายู วิคเกอรี [1] อ้างบันทึกจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-906) ว่าลูกเรือของพวกคุน-หลุน (k’un-lun/*k‘uen-luen) เป็นพวกมลายูทั้งหมด
พวกคุน-หลุนซึ่งนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่าเป็นผู้คนในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความชำนาญในการเดินเรือและสร้างเรือขนาดใหญ่ซึ่งสามารถบรรทุกคนหลายร้อยคนก่อนพวกเปอร์เซีย อินเดีย และชาวจีนเสียอีก ซึ่งพวกหลังนี้เพิ่งมีเรือขนาดใหญ่ในศตวรรษที่ 12 เข้าไปแล้ว
วิคเกอรี กล่าวย้ำว่า นักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้นไม่ใช่ทั้งอินเดียและจีน แต่เป็นชาวเอเชียอาคเนย์ ซึ่งระบุได้ว่าเป็นพวกที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียน (ภาษามลายูเป็นสาขาของตระกูลภาษานี้)
นายธรรมทาส พานิช อธิบายว่า ที่จีนเรียกคุน-หลุนนั้นหมายถึงกลุ่มเมืองในอาณาจักรนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นคนไทย เขากล่าวว่า "คนไทยจากอ้ายลาวได้เคยอพยพลงมาแทรกกลาง ดันเอามอญไปทางตะวันตก เขมรไปทางตะวันออก คนไทยเหล่านี้เรียกตัวเองว่า ชะวา; ชาวภูเขาตรงกับที่จีนว่า ชะวาดอน คือพนมและทวาราวดี, ชะวาล่างคือไชยา-นครศรีธรรมราช"[2]
ถ้าเรายึดถือความคิดนี้ คำว่า ชวา ชะวา หรือชวากะ (เรียกแบบสันสกฤตแปลว่า คนชวา) ซาบัก ศรีบูซะ (อาหรับเรียกหมายถึงอาณาจักรศรีวิชัย) แต่ครั้งโบราณกาลมา ย่อมหมายถึงดินแดนและผู้คนตั้งแต่คาบสมุทรไทย-มลายูตอนบนลงมา รวมทั้งเกาะสุมาตราและเกาะชวาด้วย ซึ่งพอรับได้ แต่ชวาพวกนี้น่าจะพูดภาษามลายูหรือมลายู-ชวาอันเป็นสาขาของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน แต่ก็น่าสนใจที่นายธรรมทาสว่า พวกคุน-หลุนเป็นไทย เพราะในทางภาษาศาสตร์แล้ว ภาษาไทยดั้งเดิมนั้นจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ไม่ใช่จีน-ทิเบตดังที่เข้าใจกันมาแต่เดิม[3] ปัจจุบันในระดับสากลแล้ว ก็จัดภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่นเดียวกับภาษามลายู ชวา ตะกะล็อก ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ใน Encyclopaedia Americana ได้จัดภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนเรียบร้อยแล้ว
คำเรียกว่า ชวา หรือชวากะ (คนชวา) เป็นคำที่รู้จักมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 หมายถึงดินแดนและผู้คนในคาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา หรือที่เรียกกันแพร่หลายว่า Malay world (โลกมลายู)
ตามสำเนียงอาหรับคำว่า ชวา เรียกว่า ยาหวา (Jawah) หมายถึงประเทศ (ภาษาอาหรับเรียกว่า bilad) หรือดินแดนชวา หรือประเทศชวา คนอาหรับในสมัยโบราณเรียก Biladu Jawah[4] โดยรวมๆ หมายถึงประเทศหรือหมู่เกาะชวา-มลายู หรือโลกมลายู
ชาวอาหรับเรียกคนที่อาศัยใน Biladu Jawah ว่า "ยาวี" (Jawi ผู้ชาย, Jawiyya ผู้หญิง, Jawiyyin และ Jawiyyat พหูพจน์ของผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียกอย่างจำแนก ชาวอาหรับเรียกเกาะสุมาตราว่า "ยวา อัชชุกรอ" (Jawa Ash Shugra) หรือ ชวาน้อย (Minor Java) ก่อนที่จะรู้จักคำว่า Samudra-Pasai หรือ Sumatera (เกาะสุมาตรา) ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยต่อมา คำว่า "ชวาใหญ่" (Major Java) จึงจะหมายถึง เกาะชวา
ในปี ค.ศ.1344 (พ.ศ.1887) อิบนู บาตูฏอฮฺ (Ibnu Batutah) นักเดินเรือชาวอาหรับมอรอคโค เดินทางต่อจากเกาะสุมาตรา (ยวา อัชชุกรอ) ไปประเทศจีน ในระหว่างที่เดินเรือเขาแลเห็นคาบสมุทรมลายูจึงได้จดชื่อว่า Mul Jawah (อ่านว่า มุลยาหวา) นี่เป็นข้อยืนยันว่าพวกอาหรับรู้จักประเทศต่างๆ ในทะเลจีนใต้ด้วยชื่อ "ยวา" (Jawah) หรือ "ชวา" (Java) มาช้านานแล้ว และเรียกคน Jawah ว่า Jawi (ยาวี หรือ ญาวี) [5]
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ในที่นี้ว่า เดิมทีนั้น "ยาวี" หมายถึงคนชวา หรือชวากะ ซึ่งถ้าเรียกโดยทั่วไปแล้ว หมายถึง คนชวา-มลายู อันได้แก่ผู้คนที่อาศัยในเกาะสุมาตรา ชวา และคาบสมุทรมลายูทั้งหมด ซึ่งผู้คนเหล่านี้น่าจะใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลาง (lingua franca) ในการสื่อสาร ภาษามลายูนั้นเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนที่ใช้กันในรัฐริมฝั่ง เช่น ฟูนัน (พนม?) จามปา ฟิลิปปินส์ บอร์เนียว สุมาตรา ชวา คาบสมุทรมลายู ฯลฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
คำว่า "ยาวี" (Jawi) ที่อาหรับเรียกนี้ที่จริงมาจากคำภาษาสันสกฤตคือ Yava
นายซาร์การ์ (R.B.Sarkar)[6] ปราชญ์ชาวอินเดียเสนอว่า ในสมัยโบราณดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สองแห่งที่ผู้รู้หรือปราชญ์อินเดียรู้จักดีคือ Suvarnarupyakadvipa และ Yavadvipa เขาชี้ว่า คำหลังคือ Yavadvipa (ยวทวีป) หรือ "เกาะยาวา" เดิมทีหมายถึงเกาะสุมาตรา
ในมหากาพย์เรื่องรามายณะ (รามเกียรติ์) ซึ่งแต่งในราวศตวรรษที่ 1 โดย วาลมิกิ (ฉบับดั้งเดิมไม่ใช่ฉบับแปลง) บรรยายถึง Yavadvipa ว่าเป็นดินแดนของกษัตริย์ทั้งเจ็ด ในอาณาจักรนี้มีเงินและทองคำมากมาย รวมทั้งเหมืองทองด้วย ซึ่งดูเหมือนเป็นเกาะสุมาตรามากกว่าเกาะชวา
ดังนั้น คำว่า Yava (ภ.สันสกฤต) จึงเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 เป็นอย่างน้อย
วารุโณ มาห์ดี (Waruno Mahdi) นักประวัติศาสตร์ชาวอินโดนีเซียอธิบายคำว่า Yava ว่าเขียนแบบบาลีว่า Java รู้จักในสมัยโบราณในฐานะเขตที่มีอำนาจปกครอง (polity) แห่งหนึ่งในสุมาตราตะวันออก คนอาหรับเรียก Java ว่า Jawah และเรียกคน Jawa ว่า Jawi ภาษาไทยว่า "ยาวี"
ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันว่า คำว่า "ยาวี" หมายถึง ตัวหนังสือหรือตัวอักษรอาหรับที่เอามาใช้กับภาษามลายู โดยเพิ่มตัวอักษรอีก 5-6 ตัว เรียกว่า "อักษรยาวี" หรือตัวหนังสือยาวีนั้น ตัวหนังสือยาวีดังกล่าวนี้ปรากฏหลักฐานครั้งแรกถูกสลักบนแท่งศิลา พบเมื่อ ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) คือ จารึกตรังกานู ค.ศ.1303 (พ.ศ.1846) ปัจจุบันอยู่ในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
"อูลามะปาตานี" (Ulama Patani) หรือปราชญ์ปัตตานีจำนวนมากได้เรียบเรียงตำรับตำราทางศาสนาที่ใช้กันในปัตตานี มลายู อาเจะห์ จาม สุมาตรา ฯลฯ เรียกว่า "กิต๊าบยาวี" (Kitab Jawi) และใช้ชื่อเติมหลังชื่อตัวว่า "อัลฟะฏอนี อัลญาวี" (Al Fatani Al Jawi) เพื่อบ่งบอกถึงถิ่นกำเนิดที่เป็นคนปัตตานีและคนยาวี (คนในโลกมลายู) เช่น ท่านเชคดาวุด บิน อับดุลเลาะหฺ บิน อิดริส อัลฟะฏอนี อัลญาวี อัสชาฟิอี, เชคอาหมัด บิน อิสมาแอล อัลญาวี อัลฟะฏอนี อัสชาฟิอี ฯลฯ รวมทั้งปราชญ์อื่นๆ ในปาเล็มบัง มินังกาเบา บันตัน ฯลฯ ล้วนใช้ "อัลญาวี" ต่อท้ายชื่อทั้งสิ้น[6]
ที่อียิปต์มีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์กิต๊าบยาวี (กิต๊าบมลายู) มาช้านาน ชื่อร้าน Mustafa Al Baby Al Halaby Wa Awladuhu ตั้งอยู่หลังสุเหร่าใหญ่ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ เมื่อ พ.ศ.2552 นายซามีรฺ มาหฺมูด ทายาทเจ้าของร้านรุ่นที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อัลมัสรี อัลยูม ว่า "เราได้ส่งออกหนังสือเกี่ยวกับศาสนาอิสลามจำนวนมากไปยังประเทศต่างๆ ในอาฟริกา อินโดนีเซียก็สั่งหนังสือที่เราจัดพิมพ์จำนวนมหาศาลในแต่ละปี หนังสือพวกนี้เราไม่ได้พิมพ์เป็นภาษาอาหรับ แต่เราพิมพ์เป็นภาษายาวี"[7]
สรุปแล้วก็คือ คำว่า "ยาวี" ไม่ได้หมายถึงตัวอักษรที่ใช้ในหนังสือมลายูเท่านั้น แต่หมายถึง "คนยาวี" (orang Jawi) หรือ "คนในโลกชวา-มลายู" นั่นเอง
ชาวมุสลิมภาคใต้ไม่ว่าจากปัตตานีหรือนครศรีธรรมราชที่จาริกแสวงบุญที่มักกะฮ์ คนอาหรับจะเรียกว่า "คนยาวี"
นักศึกษาอินโดนีเซียที่เรียนที่ตะวันออกกลาง คนอาหรับก็เรียกว่า "นักศึกษายาวี" แม้แต่คนหนองจอก ฉะเชิงเทรา หรือคนมุสลิมกรุงเทพฯ เมื่อก่อนนี้พวกอาหรับก็เรียกว่า "คนยาวี"
ทั้งนี้เพราะสำหรับชาวอาหรับ คำว่า "ยาวี" หมายถึงผู้คนหรือประชากรในโลกชวา-มลายูทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ภาษามลายู เพราะได้สมมุติมาแต่โบราณกาลมาแล้วว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ใช้ภาษามลายูหรือชวาในชีวิตประจำวัน และ/หรือในฐานะภาษากลาง
คนมลายู-ภาษามลายู แต่อักษรยาวี
จากที่บรรยายมาข้างต้นจึงไม่ตรงกับที่ผู้รู้ส่วนมากในภาคใต้ตอนล่างที่พยายามอธิบายว่า กลุ่มชาติพันธุ์ยาวีไม่มี และภาษายาวีก็ไม่มี มีแต่คนมลายู ภาษามลายู อักษรยาวีต่างหาก มีความหมายทำนองว่า คนมลายูใช้ภาษามลายู โดยใช้อักษรยาวี.. .คำกล่าวนี้ไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดแต่อย่างใด เพราะนับในอดีตนับพันปีมาแล้ว คนมลายูเรียกตัวเองและภาษาที่ตัวเองใช้ว่า คนมลายู และภาษามลายู แต่เรียกอักษรอาหรับที่ดัดแปลงมาเขียนภาษามลายูที่ตนพูดว่า อักษรยาวี หรือ "ฮูรุฟ ยาวี" (Huruf Jawi) ก่อนที่ในปัจจุบันจะนิยมใช้อักษรรูมี (Rumi) แทน
อย่างไรก็ตาม การเรียกคนมลายูหรือภาษามลายูว่า "คนยาวี" หรือ "ภาษายาวี" ก็ไม่ได้ผิด ดังที่ได้อธิบายมาแล้วอย่างละเอียด หากแต่ว่าคนมลายูไม่ได้เรียกตัวเองว่า "คนยาวี" และไม่ได้เรียกภาษามลายูว่า "ภาษายาวี" เท่านั้น
การเรียกคนมลายูว่า "คนยาวี" และภาษามลายูว่า "ภาษายาวี" นั้น เป็นคำเรียกของชาวอาหรับซึ่งเรียกพวกมลายู–ชวาว่า "คนยาวี" และเรียกภาษามลายู-ชวาว่า "ภาษายาวี" ตามอย่างที่ชาวอินเดียโบราณเรียกคนมลายู-ชวา ว่า "ชาวชวา" หรือ "ชวากะ" ในอดีตหรือกระทั่งปัจจุบัน
กลุ่มชาติพันธุ์นี้อาศัยอยู่ทั้งในแหลมมลายู บนคาบสมุทรสุมาตรา และบนเกาะชวามาช้านานนับพันๆ ปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้มีแต่คนชวาเท่านั้นที่เรียกตัวเองว่า คนชวา หรือ "โอรัง ยาวา" (Orang Jawa) และเรียกภาษาตัวเองว่า "ภาษาชวา" (Bahasa Jawa) หรือ "ภาษายาวี" (Bahasa Jawi)
สรุป: ยาวี-ยาวา ชวี-ชวากะ ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าที่คิด?
ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนอินเดียโบราณเรียกว่า "ชาวชวา" หรือ "ชวากะ" นี้ ได้เดินทางขึ้นทางเหนือสู่ดินแดนที่เรียกว่าล้านนาของประเทศไทยปัจจุบัน ได้เผยแพร่ภาษาออสโตรนีเซียนของพวกตนในดินแดนล้านนาอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏถ้อยคำภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียนจำนวนมากในภาษาของชาวล้านนาแม้ กระทั่งในปัจจุบัน (หรือในทางกลับกัน: ในที่นี้หมายถึงว่าพื้นที่ที่เป็นประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนามในปัจจุบัน ช่วงหนึ่งอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันที่เป็นพวกออสโตรนีเซียนร่วมอยู่ด้วย)
ข้อสรุปและข้อสันนิษฐานก็คือ พวกชวาหรือชวากะเหล่านี้ปัจจุบันได้กลายเป็นชาวล้านนาที่ "อู้คำเมือง" ไปอย่างเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว มีแต่เค้ารอยทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติและขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของคนล้านนาเท่านั้นเองที่จะแกะรอยพบ "ตัวตน" บรรพบุรุษของพวกชวากะเหล่านี้ได้
-------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง :
[1] Vickery, Michael, Coedès’ Histories of Cambodia ใน Silpakorn International Journal, Vol.1 No.1 Jan-Jun 2000, Nakhon Pathom, pp.66-67.
[2] ธรรมทาส พานิช, พนม ทวารวดี ศรีวิชัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2538, หน้า 93.
[3] Benedict, Paul K., Austro-Thai Language And Culture With Glossary of Roots, Hraf Press, New Haven, 1975.
[4] Tuhfatun Nudhdhar Fi Ghara'ibil Amshar ใน Farhan Kourniawan, Dunia Jawah-The Jawah World-Al 'Alam Al Jawi p.623 จากhttp://farhankournia.blogspot.com/feeds/posts/default?orderby=updated สืบค้น 8 ส.ค. 2554
[5] อ้างแล้ว.
[6] Laffan, Michael, Finding Java: Muslim Nomenclature of Insular Southeast Asia from Srivijaya to Snouck Hurgronje, Asia Research Institute Working Paper Series No. 52, 2005, National University of Singapore, pp. 6-7.
[7] Al Masri Al Youm, 3/9/2009 ใน Farhan Kourniawan อ้างแล้ว
บรรยายภาพ :
1 ภาพแกะสลักเรือของพวกชวา-มลายูที่ฐานจันทิพุทธสถานบูโรบูโด ชวากลางอินโดนีเซีย
2 การสร้างเรือกอและที่หมู่บ้านชาวประมงหาดนราทัศน์ อ.เมืองนราธิวาส
3 เรือกอและ (kolek) ซึ่งดัดแปลงมาติดเครื่องยนต์สมัยใหม่แทนการแล่นใบอย่างสมัยโบราณ (ถ่ายที่ด้านหลังเกาะนราทัศน์ นราธิวาสโดยผู้เขียน)