ตามไปดูความก้าวหน้าก่อสร้าง 'เหมืองแร่โพแทช' ใต้ดินที่อีสาน
การทำเหมืองโพแทชจะไม่มีปัญหาดินถล่มเกิดขึ้น เพราะมีการขุดลงไปแล้วเอาแร่ขึ้นมาแค่ 40 % ของพื้นที่ที่ขุด เครื่องมือที่ใช้จะเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดนำเข้ามาจากประเทศออสเตรียและมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลด้วย ในกระบวนการผลิตจะไม่มีปัญหาที่จะเอาเกลือออกมากองไว้
เมื่อต้นปี 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกใบอนุญาตเหมืองแร่โพแทชฉบับแรกของไทยให้ กับ บริษัท เหมืองแร่โพแทช อาเซียน จำกัด (มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ รวมประมาณ 9,700 ไร่ กลางปีเดียวกัน ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชแห่งที่ 2 ให้กับ บริษัทไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 9 พันไร่
ปัจจุบัน โครงการเหมืองแร่โพแทชทั้ง 2 โครงการนี้ ผ่านขั้นตอนการดำเนินการคำขอประทานบัตรของพื้นที่ และผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนการตรวจเปิดการประกอบการ
มีการคาดกันว่า หากก่อสร้างเสร็จ ทั้ง 2 โครงการนี้มีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจการดำเนินงานสถานประกอบการเหมืองแร่โพแทชที่ได้รับประทานบัตรตรวจสอบความก้าวหน้า เหมืองแร่โพแทชไทย ที่มีปริมาณการผลิตใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมติดตามสถานการณ์และยุทธศาสตร์แร่โพแทช ณ จังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่ประมาณ 105 ล้านไร่เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 32.7 ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในภาคการเกษตรก็คือแร่ธาตุที่จะทำให้พืชผลเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า “ปุ๋ย”
บ้านเราต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทชเซียมปีละประมาณ 7.2 แสนตัน คิดเป็นเงินประมาณ 9 พันล้านบาทต่อปี นับเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่จะต้องเสียไปในแต่ละปี
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลระหว่างลงพื้นที่ถึงการกำกับดูแลการนำมาใช้ประโยชน์ของทรัพยากรแร่ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะโพแทช
"แร่โพแทชที่ผลิตได้จากโครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยประมาณร้อยละ 90-95 จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยโพแทชในราคาที่ถูกลงประมาณร้อยละ 20-25 และจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันด้านสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ
สำหรับแร่โพแทชส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นได้อีก เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ หากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตแร่โพแทชในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้มีอำนาจต่อรองในการจัดหาปุ๋ยฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ"นางอรรชกา อธิบาย ก่อนจะชี้ว่า การทำเหมืองโพแทช นอกจากจะช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยได้มาก ยังสามารถนำแร่โพแทชส่งออกขายจีนและประเทศอาเซียนได้อีกด้วย
ในส่วนของผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการเหมืองแร่โพแทชนั้น รมว.อุตสาหกรรม ไล่ให้เห็นก็อย่างเช่น
- จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาท
- ค่าภาคหลวงแร่เป็นเงินประมาณ16,600 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ โดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 6,640 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9,960 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ก็จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตร 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ประทานบัตร 1,660 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดอื่น 1,660 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีรายได้จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐประมาณ 3,400 ล้านบาท และจะมีการจัดให้มีกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม 740 ล้านบาท กองทุนสุขภาพของประชาชน 57.5 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 325 ล้านบาท
ซึ่งในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังมีแผนผลักดันให้มีการจัดตั้ง "กองทุนปุ๋ยโพแทช" ราคาถูกเพื่อเกษตรกรไทย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูงราคาถูกตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลต่อไป
สำหรับข้อกังวลของหลายฝ่ายที่ตั้งคำถามถึงผลที่จะตามมาในการทำเหมืองแร่โพแทชที่ประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่รอบๆเหมือง ยังออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษสารปนเปื้อน ความปลอดภัยต่อสุขภาพ การทรุดตัวของดิน และ “เกลือ” ซึ่งเป็นผลพวงที่ได้จากการขุดแร่โพแทชนั้น
เรื่องนี้ นางอรรชกา ยืนยันว่า การทำเหมืองโพแทชจะไม่มีปัญหาดินถล่มเกิดขึ้น เพราะมีการขุดลงไปแล้วเอาแร่ขึ้นมาแค่ 40 % ของพื้นที่ที่ขุด เครื่องมือที่ใช้จะเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดนำเข้ามาจากประเทศออสเตรียและมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลด้วย ในกระบวนการผลิตจะไม่มีปัญหาที่จะเอาเกลือออกมากองไว้ เพราะจะนำเกลือไปขาย และหางแร่ก็จะนำกลับเข้าไปเก็บที่เดิม
ส่วนเรื่องการใช้น้ำในการทำเหมือง รมว.อุตสาหกรรม ชี้ว่า จะมีระบบการดูแลไม่ให้มีน้ำที่มีส่วนของเกลืออยู่ไหลออกไปนอกพื้นที่ นอกจากมีบ่อเก็บน้ำแล้ว พื้นที่รอบ ๆ ยังมีการทำคันดินสูงขึ้นไป ส่วนเรื่องของสุขภาพจะดูแลทั้งชาวบ้านและคนที่เข้ามาทำงานในเหมือง
ด้านนายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยคาลิ จำกัด ผู้ได้รับใบขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทช จังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลเรื่องน้ำเพิ่มเติมว่า น้ำที่จะใช้ในการทำเหมืองแร่โพแทช จะใช้น้ำในกระบวนการการผลิตเป็นจำนวน 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี
เขายอมรับว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับการทำเหมือง เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานมักขาดน้ำในการทำการเกษตรเป็นประจำ แต่แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในโครงการมาจากที่แหล่งเก็บน้ำลำคันฉู ซึ่งอยู่ในท้องที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้มีการวางแผนที่จะส่งน้ำมาทางท่อเพื่อลำเลียงน้ำมาที่นี่ ในเบื้องต้นได้ใช้ระบบประปาไปก่อน
“ที่ผ่านมาชาวบ้านก็เข้าใจ เราอธิบายไปและทำให้เห็นว่า ปลอดภัยแค่ไหน และจะได้ประโยชน์อะไรจากเหมืองนี้ก็ไม่มีการต่อต้านอะไร ส่วนเรื่องที่กรมควบคุมมลพิษตรวจพบสารปนเปื้อนในน้ำอันนั้นไม่เกี่ยวกับทางบริษัท เป็นเรื่องที่ชาวบ้านใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากเกินไปทำให้เกิดการปนเปื้อนในบ่อน้ำ ซึ่งเป็นบ่อน้ำนอกโครงการ”
ขณะที่พนักงานเหมืองแร่โพแทช ของบริษัทไทยคาลิ จำกัด ให้ข้อมูลขณะพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมอุโมงค์ โดยเปรียบเทียบกระบวนการผลิตว่า “เหมือนเราทำนาเกลือ ไม่ใช่การทำเหมืองถ่านหิน เพราะฉะนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่น ซึ่งเรื่องฝุ่นมีการตรวจทุก ๆ 3 เดือนอยู่แล้ว อีกทั้งโครงการยังใช้วิธี Zero Discharge คือเราจะไม่ปล่อยให้มีน้ำ หางแร่ เกลือ หลุดออกไปจากโครงการเด็ดขาด”
“วิธีการกำจัดหางแร่ ทางบริษัทจะทำให้แข็งตัวและนำไปเก็บในที่ที่ขุดออกมา ซึ่งเนื้อแร่เคยอยู่ใต้ดินอยู่แล้วไม่ส่งผลอะไรต่อใต้ดินแน่นอน อีกทั้งยังจะไปช่วยเพิ่มเสถียรภาพเหมืองใต้ดินตรงช่องว่างให้แน่นขึ้นแก้ปัญหาดินทรุดได้”
ก่อนจะเน้นย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดฝุ่นเกลือ เพราะกระบวนการแต่งแร่ของบริษัทเป็นการใช้น้ำ ซึ่งเมื่อใช้น้ำในกระบวนการผลิตแร่ แร่ก็จะเปียกพอเปียกแล้วจะไม่เกิดฝุ่น อีกทั้งยังไม่มีเอาเกลือมากองไว้บนผิวดิน เก็บเข้าโกดังหมดไม่มีลมมาพัดไปได้แน่นอน เพราะฉะนั้นหายห่วงเรื่องดินจะเค็มหรือฝุ่นเกลือได้
ในฐานะหน่วยงานที่การกำกับดูแลโครงการเหมืองแร่โพแทช นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า การกำกับดูแลโครงการเหมืองแร่โพแทชซึ่งเป็นการทำเหมืองใต้ดินให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎ ระเบียบเงื่อนไขและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียของโครงการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและตรวจสอบการทำเหมืองร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว กพร. มีนโยบายให้ผู้ถือประทานบัตรจัดทำข้อมูลฐานเปรียบเทียบ (Baseline data) สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำเหมือง เพื่อใช้ในการตรวจสอบและกำกับดูแล รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการชี้แจงต่อสังคมได้อย่างชัดเจน
“ที่สำคัญโครงการเหมืองแร่โพแทชจะต้องจัดทำการประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันหากเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินจากการทำเหมืองในเขตพื้นที่ประทานบัตร พร้อมทั้งต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสียหายความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการเยียวยาให้กับผู้มีส่วนได้เสียทันที”
ทั้งหมด คือ คำยืนยันของผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการเหมืองแร่โพแทช เพียงแห่งแรก ซึ่งเดิมทีคณะสื่อมวลชน มีกำหนดเดินทางสู่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูม ชมความคืบหน้า โครงการอาเซียนโพแทชชัยภูมิ แต่หมายถูกยกเลิกเสียก่อน เมื่อมีข่าวกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ร่วม 400-500 คน มารวมตัวกันบริเวณที่ทำการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน เพื่อยื่นคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่พ่วงมากับเหมืองแร่โปแตชอาเซียน