ย้อนตำนาน 3 พรรค(นอมินี)ทหาร ก่อน ‘ไพบูลย์’ผุดโมเดลหนุน‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯ
ย้อนตำนาน 3 พรรค (นอมินี) ทหารไทย ‘เสรีมนังคศิลา-สหประชาไทย-สามัคคีธรรม’ ลงเลือกตั้งสู้ตามกระบวนการประชาธิปไตย กลับรัฐประหารซ้ำ รบ.ตัวเอง-นั่งเก้าอี้นายกฯเอง-เสียสัตย์เพื่อชาติ ก่อน ‘ไพบูลย์’ ผุดโมเดลหนุน ‘บิ๊กตู่’ นั่งนายกฯ
สิ่งที่กำลังพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในแวดวงการเมืองขณะนี้ หนีไม่พ้นที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สทป.) และอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ออกมาประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคำรบ
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์-คัดค้านจากฝ่ายการเมืองทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็น ‘ซีกสีแดง’ อย่างพรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ ‘ซีกสีฟ้า’ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มแนวร่วมอดีตคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (กปปส.) ที่แม้มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันขณะนี้คือ ‘ไม่เอา’ นายกรัฐมนตรีคนนอก !
เมื่อโฟกัสมาที่ฝั่ง ‘ท็อปบู้ต’ คสช. ในช่วงแรกต่างออกมาปฏิเสธข่าวที่ ‘บิ๊กตู่’ จะเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯอีกสมัยเป็นพัลวัน แต่ท้ายสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เริ่ม ‘เปิดหน้าตัก’ แบไต๋ต่อสาธารณชนถึงการนั่งเก้าอี้นายกฯอีกสมัยไว้ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดผ่านสื่อต่าง ๆ อย่าง
“มันไปไม่ได้แล้วค่อยมาถามผม ติดอะไรค่อยว่ากัน” หรือ “นายกฯไม่ว่าจากคนนอกหรือคนใน แต่ถ้ามาตามระบอบประชาธิปไตยก็ถือว่ามาอย่างสง่างาม” เป็นต้น
ท่าทีล่าสุดของฝ่าย คสช. นอกเหนือจากนายไพบูลย์ที่เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ยังมีการปล่อยข่าวจาก นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท. อ้างว่า ปัจจุบันมีกลุ่ม 'เพื่อนนายกฯ' เข้ามาสอบถามถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองด้วย โดยหารือว่า ต้องทำอย่างไรให้ไปรอด ไม่ให้เป็นเหมือนพรรคทหารแบบในอดีต และไม่อยากรวบนักการเมืองมาเข้าพรรคแบบพรรคสามัคคีธรรมด้วย
ไม่ว่าท้ายสุดแล้วข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ‘บิ๊กตู่’ จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯเป็นหนที่สองหรือไม่ ?
แต่เมื่อย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ภายหลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏชื่อของ ‘พรรคทหาร’ ที่เข้ามามีบทบาทสูงในแวดวงการเมืองไทย ภายหลังรัฐประหารแต่ละครั้ง อย่างน้อย 3 พรรคด้วยกัน
ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค พรรคสหประชาไทย มีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และสุดท้ายพรรคสามัคคีธรรม มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค (พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค)
โดยแต่ละพรรคล้วนมีส่วนสำคัญในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น !
ดังนั้น เผื่อใครลืมไปแล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกปูมความเป็นมาให้สาธารณชนทราบอีกครั้ง ดังนี้
@พรรคเสรีมนังคศิลา
จดทะเบียนจัดตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2498 โดยมี ‘จอมพล ป.’ เป็นหัวหน้าฯ มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ต.ประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าฯ และมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการฯ เป็นต้น
พรรคนี้ก่อตั้งขึ้นท่ามกลางบริบททางการเมืองขณะนั้น มีความเป็น ‘ชาตินิยม’ ค่อนข้างสูง ขณะที่จอมพล ป. กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ภายหลังต้องหลบฉากไปเมื่อนำพาประเทศไทย (เกือบ) แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จนอำนาจเปลี่ยนผ่านไปสู่มือของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ แต่ต่อมาจอมพลผิณ ชุณหะวัณ เป็นแกนนำรัฐประหารยึดอำนาจในช่วงปี 2490 กระทั่งไม่นานพลพรรคของจอมพล ป. นำโดย จอมพลผิณ จอมพลสฤษดิ์ และ พล.ต.อ.เผ่า ได้หนุนหลังทำให้ จอมพล ป. กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง
ทั้งนี้พรรคเสรีมนังคศิลา ได้เข้าร่วมการเลือกตั้งในปี 2500 และได้รับการชนะการเลือกตั้งในที่สุด ท่ามกลางการกล่าวหาว่า เป็นการเลือกตั้งที่ ‘สกปรก’ ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวคือ ก่อนการเลือกตั้งมีนักเลงอันธพาลเข้าไปข่มขู่กับชาวบ้านให้เลือกผู้สมัครจากพรรคเสรีมนังคศิลา มีการใช้ใบปลิวประณามพรรคฝ่ายค้าน เมื่อมาถึงวันเลือกตั้ง มีคนของฝ่ายพรรคเสรีมนังคศิลาเข้าไปเวียนเทียนลงคะแนน เมื่อเปิดหีบเลือกตั้งมีการเอาบัตรลงคะแนนเถื่อนยัดเข้าไป เกิดการข่มขู่คุกคามทั่วหัวระแหง บางพื้นที่รุนแรงถึงขั้นเกิดเหตุฆาตกรรมผู้สมัครพรรคอื่นบางรายด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถูกตีแผ่อยู่ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในสมัยนั้น
อย่างไรก็ดีแม้ว่าพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. จะได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาลอีกสมัยก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นสมัยสุดท้ายที่ จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากขณะนั้นเกิดการชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ที่ไม่ค่อยถูกชะตากับ พล.ต.อ.เผ่า อยู่แล้ว เป็นผู้นำนักศึกษาเดินไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งด้วย ความขัดแย้งยืดเยื้อบานปลายกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ในที่สุด และจอมพล ป. ต้องระหกระเหินหนีตายไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น
ส่วนบทบาทของพรรคเสรีมนังคศิลา ได้สิ้นสุดลง และถูกยกเลิกไปภายหลังจอมพลสฤษดิ์รัฐประหารซ้ำรัฐบาลตัวเองเมื่อปี 2501 เนื่องจากได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ส.ว. ส.ส. และพรรคการเมืองทั้งหมด
@พรรคสหประชาไทย
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2511 ตามรัฐธรรมนูญปี 2511 ซึ่งใช้ระยะเวลาร่างมานานนับสิบปีในสมัยจอมพลถนอมเป็นนายกฯ และเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว จอมพลถนอม จึงจัดตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้น มีจอมพลประภาส จารุเสถียร พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ (ขณะนั้น) และนายพจน์ สารสิน เป็นรองหัวหน้าฯ มี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการฯ
ต่อมามีการจัดการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 พรรคสหประชาไทย ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 75 เสียง ซึ่งถือว่ามากที่สุด จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จอมพลถนอมเป็นนายกฯ (สมัยที่ 3) อย่างไรก็ดีคะแนนเสียงดังกล่าวยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จึงมีการต่อรองกับพรรคการเมืองต่าง ๆ กระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาลในที่สุด
อย่างไรก็ดีในการ ‘ดีล’ กับพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น ปรากฏว่า นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2512-2514 เกิดการต่อรองขอผลประโยชน์จากพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงปัญหาของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2515 ที่ยังจัดสรรกันไม่ลงตัว รวมถึงการโจมตีจากฝ่ายค้านพรรคสำคัญคือ ‘ประชาธิปัตย์’ ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าฯ และด้วยปัญหาหลายประการ ทำให้จอมพลถนอมตัดสินใจรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง และยกเลิกรัฐธรรมนูญ รวมถึง ส.ส. ส.ว. พรรคการเมืองอีกครั้ง
ซึ่งการกระทำครั้งนี้ถือเป็นมูลเหตุสำคัญของการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. 2516 ที่ส่งผลให้จอมพลถนอม จอมพลประภาส ต้องหลบหนีออกไปอยู่ต่างประเทศ
@พรรคสามัคคีธรรม
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ตามรัฐธรรมนูญปี 2534 โดยก่อตั้งขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2535 เพียง 2 เดือน ภายหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีแกนนำคือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีต ผบ.ทบ. ล้มล้างรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯขณะนั้น
ทั้งนี้พรรคสามัคคีธรรม ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ได้รวบรวมนักการเมืองพรรคจากหลายพรรค มีบางรายมาจากพรรคเสรีมนังคศิลา และพรรคสหประชาไทย ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนรัฐทหาร เข้ามาร่วมด้วย และส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองที่ใกล้ชิดกับ รสช. มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าฯ มีนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการฯ (บิดานาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยพรรคเพื่อไทย)
สำหรับการเลือกตั้งดังกล่าว พรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 79 ที่นั่ง แต่ยังได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคปวงชนชาวไทย และพรรคมวลชน เป็นฝ่ายค้าน
ปัญหาในกรณีนี้คือในช่วงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายณรงค์ ซึ่งมีท่าทีจะเข้าชิงเก้าอี้ ทว่ามีกระแสข่าวว่า อยู่ในบัญชีดำของสหรัฐอเมริกาที่ห้ามเข้าประเทศเพราะปัญหายาเสพติด แม้ว่านายณรงค์จะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง และมีการฟ้องร้องแก่หนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวดังกล่าว แต่ก็ไม่อาจจะทำให้เข้ามาชิงเก้าอี้ได้อีกครั้ง
ส่งผลให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา เป็นนายกฯแทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่า จะไม่เป็นนายกฯ กระทั่งเกิดเป็นวาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง และเกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’
บทบาทสุดท้ายของพรรค ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเทิดไท และคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ท้ายสุดก็ต้องยุติการทำงานทางการเมืองช่วง ส.ค. 2535 โดยการลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ
ทั้งหมดคือ ‘ตำนาน’ ของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงภายหลังการรัฐประหารแต่ละครั้ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นอมินี’ ของทหาร เพื่อลงสนามเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย
ส่วน ‘บิ๊กตู่’ และพลพรรค คสช. จะเดินตามรอยเท้า ‘รุ่นพี่’ หรือว่า จะ ‘ถางทาง’ เลือกเส้นทางของตัวเองเพื่อลงจากหลังเสือ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก thairath