กรมควบคุมโรค ชี้ EU จัดประเภทผู้ติดเชื้อซิก้าไทยอยู่ระดับสีแดง ไม่ใช่มาตรฐานWHO
กรมควบคุมโรค ขอประชาชนร่วมควบคุมยุงลายในบ้าน หากพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาให้จัดตั้งศูนย์ EOC ทุกระดับ เพื่อใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคทันที ยืนยัน ได้เน้นการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
จากกรณีนายกฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีโทรสารถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันบุรี เพชรบูรณ์ บึงกาฬ และเชียงใหม่ สั่งการ ให้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หลังด้วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) ระบุในเว็บไซต์ สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทยอยู่ในระดับสีแดง คือ มีการเผยแพร่กระจายของโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (อ่านประกอบ:มหาดไทย ส่งหนังสือถึง 4 จังหวัดเฝ้าระวังเชื้อไวรัสซิกา )
วันที่ 29 สิงหาคม 2559 นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป มีการจัดแบ่งประเภทของประเทศที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากการจัดประเภทตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั่วโลก อีกทั้งข้อมูลในเว็ปไซด์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงมาตรการป้องกันควบคุมโรคของแต่ละประเทศ
"กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป(ECDC) และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสอบถามในเรื่องดังกล่าว โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลและได้ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความตระหนัก มาตรการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรค และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งระบบของประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ"
นพ.อำนวย กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที
สำหรับมาตรการระหว่างประเทศ นั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้เน้นการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้ 4 ด้านได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่มีหนังสือสั่งการถึงจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาให้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน โดยให้จังหวัดดำเนินการให้ความรู้กับประชาชน เน้นย้ำการใช้มาตรการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย และควบคุมยุงตัวแก่ ซึ่งเป็นพาหะของโรคนี้ และหากพบผู้ป่วยในพื้นที่ให้จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน(EOC) ทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยเน้นดำเนินมาตรการเข้มข้นทั้งจังหวัด ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยจำนวนหนึ่งในบางอำเภอก็ตาม และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รวมถึงให้มีการบูรณาการความร่วมมือในพื้นที่กับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
“ขอประชาชนร่วมควบคุมยุงลายในบ้านของท่านเอง สำหรับอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อต่างๆ เช่น หัดเยอรมัน และไข้ขี้แมว เป็นต้น ก็อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้เช่นกัน เช่น มารดาหากติดเชื้อหัดเยอรมัน ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการ ตาบอด หัวใจพิการ และมารดาที่ติดเชื้อไข้ขี้แมวทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการทางสมองได้ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังมากกว่าคนปกติ ในด้านสุขอนามัย ไม่คลุกคลีคนป่วย ไม่คลุกคลีสุนัขและแมวจรจัด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และฝากครรภ์ตามกำหนด ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นพ.อำนวย กล่าวปิดท้าย