กรมฯสหกรณ์ปล่อยสินเชื่อพันล้านรับมือปุ๋ยแพง เกษตรทางเลือกชี้ยิ่งผลักชาวนาเป็นหนี้
กรมส่งเสริมสหกรณ์ผุดโครงการสินเชื่อสถาบันเกษตร 1 พันล้าน คิดดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรมีเงินซื้อปุ๋ยราคาแพง เครือข่ายเกษตรทางเลือกอีสานฉะราชการคิดแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผลักภาระระยะยาวให้ชาวนาเป็นหนี้ปุ๋ยเต็มประเทศ เสนอทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง
วันที่ 11 พ.ย. นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรมได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นทุนในการจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการสมาชิก โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการขยายฐานผลิต โครงการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการรวมตัววางแผนการผลิตและสร้างประโยชน์ร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบปี 2550 และปี 2551 ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ขายปลีกประมาณ 9,800 บาท/ตัน เพิ่มเป็น 16,400 บาท/ตัน หรือเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 67.35 และสูตร 15-15-15 เพิ่มจาก 11,800 บาท/ตัน เป็น 19,200 บาท/ตัน หรือเพิ่มเฉลี่ย ร้อยละ 62.71 ยาปราบศัตรูพืช, ปุ๋ยอินทรีย์ และพันธุ์พืช ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นตามลำดับ
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่าโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีตั้งแต่ พ.ค.2551-2556 รวม โดยสนับสนุนเงินทุนสถาบันเกษตรกรในวงเงิน 1,012 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 1,000 ล้านบาท เงินจ่ายขาดจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 12 ล้านบาท จากผลการดำเนินงาน พ.ค. 2551-ก.ย. 2553 สนับสนุนเงินทุนสถาบันเกษตรกรไปแล้ว 4,806 แห่ง แบ่งเป็น 1,442 สหกรณ์ และ 3,364 กลุ่มเกษตรกร
ทั้งนี้สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรใดที่มีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุน ต้องจัดทำแผนความต้องการปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของสมาชิก โดยกรมจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะให้กู้ยืมระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี หากชำระคืนภายในระยะเวลา 12 เดือนจะไม่คิดดอกเบี้ย แต่ถ้าเกิน 12 เดือนจะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี
“เกษตรกรจะมีเงินทุนใช้ในการซื้อปัจจัยการผลิต ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และมีโอกาสใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนลดลง ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรก็จะมีระบบการบริหารเงินในเชิงธุรกิจ” นายสมชาย กล่าว
ด้าน นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าหลักการของโครงการฯ ถือว่าดีในแง่ของการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ปุ๋ยไม่ใช่คำตอบของเกษตรกรรม และสถานการณ์ของเกษตรกรที่เป็นหนี้ค่าปุ๋ยก็มีเต็มประเทศ ดังนั้นทิศทางหลักที่ราชการควรสนับสนุนคือสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรายย่อยสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ให้บริษัทธุรกิจการเกษตรมาครอบครอง แล้วปล่อยให้เกษตรกรเป็นทาสตลอดชีวิต
“อย่างตอนนี้มีการพยายามทำปุ๋ยสั่งตัดหรือผสมปุ๋ยตามธาตุอาหารที่ดินขาด โดยตรวจวัดดินก่อน แล้วซื้อปุ๋ยเดี่ยวมาผสมตามความเหมาะสมกับดิน นั่นไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหา อาจสำคัญสำหรับภาคเกษตรธุรกิจที่ทำมะม่วงหรือกล้วยไม้ส่งออก ไม่ใช่ชาวนารายย่อยที่ต้องพึ่งปุ๋ยขนาดนั้น ทิศทางจริงๆ คือจะทำให้ลดปัจจัยการผลิตได้อย่างไร”
นายอุบล กล่าวด้วยว่า วิธีการสนับสนุนอาจให้เกษตรกรผลิตน้ำหมักจุลินทรีย์แทนที่ต้องเสียเงินค่าปุ๋ยค่ายาฉีดพ่นในนาข้าว โดยออกมาตรการให้เว้นการทำนามากกว่า 7 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลาย เท่ากับเป็นการลดปุ๋ย ดินก็ดีขึ้นด้วย เป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์และยั่งยืนมากกว่าจะมาปล่อยให้การค้ามาทำมาหากินกับเกษตรกร การมองว่าองค์กรเกษตรกรไม่เข้มแข็งและพยายามผลักดันการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สร้างภาระอนาคต นโยบายของรัฐควรทำให้เกษตรกรมีอำนาจครอบครองปัจจัยการผลิตด้วยตนเองมากกว่าการพึ่งพิง.