อดีตเลขาฯสมช.-คลังสมอง วปอ.ร่วมต้านกฎหมายฮัจย์
อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จี้ให้ทบทวนการผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและอาจส่งผลเสียตามมา
พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์เดิม บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2524 กำหนดให้กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ซึ่งทางคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม โดย “กลุ่มป้องกันประเทศ” ที่มี พล.อ.ชูชาติ หิรัญรักษ์ เป็นประธาน มองว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ส่วนการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมกิจการฮัจย์ฉบับใหม่ที่ให้โอนอำนาจจากกรมการศาสนาไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ผิดฝาผิดตัว ขัดต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะกรมการปกครองต้องทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนทุกกลุ่มทุกศาสนา
หนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 10 ส.ค.59 ลงนามโดย พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ประธานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อ้างถึงผลการศึกษาเรื่อง “ลัทธิศาสนากับความมั่นคงของชาติ” พบว่ามีการรุกคืบของบางลัทธิศาสนาที่เข้ามาครอบงำทางการเมืองและทางการปกครองของไทยในรูปแบบต่างๆ และในทุกโอกาสที่ทำได้ และประสบผลสำเร็จมาตามลำดับ โดยเน้นหนักที่กระทรวงมหาดไทย
หนังสือที่ส่งถึงนายกฯ ยังระบุด้วยว่า กิจการด้านการศาสนาต้องให้หน่วยงานหลักที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อการนี้ ดูแลรับผิดชอบ ไม่ใช่หน่วยงานอื่น
จุดยืนสอดรับ "ชาวพุทธพลังแผ่นดิน"
ก่อนหน้านี้ กลุ่มคนพุทธในนาม “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน” ก็ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ชะลอหรือระงับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านวาระ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยเหตุผลการคัดค้านกฎหมายของกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน มี 3 ข้อ คือ 1.ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดูแลกิจการฮัจย์แทนกรมการศาสนา ซึ่งกรมการปกครองมีหน่วยงานกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เกรงว่าจะเป็นการขยายฐานของศาสนาอิสลาม และเป็นการเพิ่มงานให้กรมการปกครอง ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญเรื่องกิจการฮัจย์
2.ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้มีการตั้งสำนักงานส่งเสริมกิจการฮัจย์ เป็นนิติบุคคล มีบุคลากรและงบประมาณของตนเอง ซึ่งในมุมมองของกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินเห็นว่าไม่มีความจำเป็น
3.กิจการฮัจย์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ชาวมุสลิมไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งศาสนาอื่นก็มีเหมือนกัน เช่น ศาสนาพุทธ มีการส่งคนไปสังเวชนียสถานที่อินเดียและเนปาล แต่กลับไม่มีการตั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพดูแล จึงถือเป็นความเหลื่อมล้ำ
ปมขัดแย้งศาสนาส่อเค้าบานปลาย
ความขัดแย้งระหว่างศาสนาในสังคมไทย โดยเฉพาะพุทธกับอิสลาม สะท้อนชัดผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม พากันโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้น้ำหนักแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐให้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธเถรวาทมากกว่าศาสนาอื่น
ขณะที่มี 5 อำเภอจากทั้งหมด 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาแล้วปรากฏว่าเป็นอำเภอที่มีสัดส่วนประชากรพุทธอยู่อย่างหนาแน่นทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน ทั้งช่วงก่อนหน้าและภายหลังการทำประชามติ ก็มีประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งสืบเนื่องจากความแตกต่างทางศาสนาอยู่เนืองๆ เช่น การคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดในหลายจังหวัด, การเรียกร้องให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ เป็นต้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้เองทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย พร้อมกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาการนำความแตกต่างทางศาสนาไปบิดเบือนเพื่อสร้างความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน
ทบ.จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์เยาวชน 2 ศาสนา
กองทัพบกจัดโครงการ “รู้รักสามัคคี เพราะเราคือพี่น้องกัน” นำนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งพุทธ มุสลิม เข้าร่วมอบรมทำกิจกรรมร่วมกันที่จังหวัดนครนายก เพื่อบรรเทาปัญหาขัดแย้งแตกแยกระหว่างศาสนา
จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนสองศาสนาครั้งนี้ คัดเลือกจากนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นนักศึกษาที่นับถือศาสนาพุทธ 10 คน และอิสลาม 40 คน ไปทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนนายร้อย ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และวังรี รีสอร์ท จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค.
วัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของนักศึกษาต่างศาสนิกและวามเป็นพี่น้องกัน, เรียนรู้และถอดบทเรียนสังคมพหุวัฒนธรรมนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมระดมความคิดและร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดจนการแสดงความจงรักภักดีและเทอดทูนสถาบัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 หนังสือของประธานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี
2 กิจกรรม "รู้รักสามัคคี เราคือพี่น้องกัน" ที่จัดโดยกองทัพบก