พลิกทรัพย์สิน 162 ล.‘หมอเลี๊ยบ’ ก่อนถูกศาลฎีกาฯสั่งคุก 1 ปีเอื้อชินคอร์ป
พลิกทรัพย์สิน 162 ล้าน ‘หมอเลี๊ยบ’ ก่อนถูกศาลฎีกาฯสั่งคุก 2 คดี แทรกแซงบอร์ด ธปท.-เอื้อชิน คอร์ปฯ ไม่รอลงอาญา พบมีที่ดินหลายสิบแปลง 79 ล้าน ส่วนใหญ่อยู่ปทุมธานี บ้าน 4 หลัง เฉียด 10 ล้าน ถือหุ้นธุรกิจเสริมความงามเครือ ‘บอดี้เชพ’ 3 แห่ง
‘หมอเลี๊ยบ’ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กุนซือมือทองของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุกใน 2 คดี ได้แก่ คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา และคดีแทรกแซงแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา
(อ่านประกอบ : ชัด ๆ พฤติการณ์‘หมอเลี๊ยบ’แทรกแซงบอร์ด ธปท.ก่อนถูกคุก 1 ปีรอลงอาญา, พิรุธเพียบ-‘บวรศักดิ์’โทรเตือนแล้ว! เบื้องหลังคดี‘หมอเลี๊ยบ’แก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ‘หมอเลี๊ยบ’ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อครั้งพ้นตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ครบ 1 ปี (ปี 2552) พบรายละเอียด ดังนี้
นพ.สุรพงษ์ แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 27,599,862 บาท
ได้แก่ เงินฝาก 9 บัญชี 194,524 บาท เงินลงทุน 7 แห่ง 1,955,338 บาท ที่ดิน 19 ล้านบาท บ้าน 4 หลัง (ทรัพย์สินสมรส) 4,250,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 2.2 ล้านบาท
ส่วนนางปราณี สืบวงศ์ลี คู่สมรส มีทรัพย์สิน 127,831,708 บาท
ได้แก่ เงินฝาก 16 บัญชี 4,463,746 บาท เงินลงทุน 15 แห่ง 37,767,962 บาท ที่ดิน (ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ปทุมธานี) 60.5 ล้านบาท บ้าน 4 หลัง (ทรัพย์สินสมรส) 5,750,000 บาท รถยนต์ 4.5 ล้านบาท สิทธิและสัมปทาน 5 ล้านบาท เครื่องประดับ 9,850,000 บาท มีหนี้สิน 8,446,078 บาท
ขณะที่บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ขณะนั้น) มีทรัพย์สิน 6,950,000 บาท ได้แก่ เงินฝาก 1 บัญชี 35,110 บาท เงินลงทุน 3 แห่ง 6,950,000 บาท
รวมมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 162,381,571 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 8,446,078 บาท
สำหรับเงินลงทุนส่วนใหญ่ของ ‘หมอเลี๊ยบ’ และภรรยา นอกเหนือจากกองทุนต่าง ๆ แล้ว คือธุรกิจเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น บริษัท บอดี้เชพคอร์ปอเรชั่นกรุ๊ป จำกัด บริษัท บอดี้เชพอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท บอดี้เชพคาเฟ่ จำกัด
สำหรับบริษัท บอดี้เชพคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2537 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 600/508-513 ม.14 ถ.พหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ประกอบธุรกิจบริการลดน้ำหนัก ดูแลผิวพรรณ เสริมความงาม ขายเครื่องสำอาง เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
แจ้งรายได้เมื่อปี 2556 มีรายได้รวม 231,159,182 บาท แจ้งค่าใช้จ่าย 82,182,026 บาท ต้นทุนการบริการ 178,169,168 บาท ขาดทุนสุทธิ 53,835,718 บาท
ส่วนในปี 2555 ขาดทุนสุทธิ 47,483,472 บาท ปี 2554 ขาดทุนสุทธิ 4,817,000 บาท
บริษัท บอดี้เชพอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2545 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 600/510-512 ม.14 ถ.พหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม-ค้าปลีก ค้าส่ง
แจ้งรายได้เมื่อปี 2557 มีรายได้รวม 25.54 บาท แจ้งค่าใช้จ่าย 18,327 บาท ขาดทุนสุทธิ 30,644 บาท
ส่วนในปี 2556 ขาดทุนสุทธิ 85,704 บาท ปี 2555 มีกำไรสุทธิ 2,910 บาท
บริษัท บอดี้เชพค่าเฟ่ จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บอดี้เชพ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2552 ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท บอดี้เชพอินเตอร์เนชั่นแนลฯ ประกอบธุรกิจ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม บริการให้คำปรึกษาระบบแฟรนไชส์และประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
แจ้งรายได้เมื่อปี 2555 มีรายได้ 6,926,899 บาท แจ้งค่าใช้จ่าย 7,358,473 บาท ต้นทุนการบริการ 4,448,864 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,210,643 บาท
ส่วนปี 2554 ขาดทุนสุทธิ 5,422,332 บาท ปี 2553 ขาดทุนสุทธิ 4,028,816 บาท
ทั้งนี้ ‘หมอเลี๊ยบ’ ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐบาลนายทักษิณ ที่ใช้อำนาจรัฐมนตรีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมลดสัดส่วนการถือหุ้นคนไทยของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) จาก 51% เหลือ 40% ซึ่งศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นพ.สุรพงษ์ ไม่มีอำนาจในการอนุมัติแก้ไข แต่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีก่อน นอกจากนี้การแก้ไขสัญญาดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกับประเทศได้
ส่วนอีกคดีหนึ่ง ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก 1 ปี รอลงอาญา 1 ปี กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง รัฐบาลนายสมัคร ที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ธปท. โดยคัดเลือกผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย 3 ราย ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้าม เข้าไปเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นพ.สุรพงษ์ จาก sanook