เจาะลึก!เบื้องหลังอาคารศูนย์สธ.คันนายาว 54 ล.-ผู้รับเหมาทิ้งงาน อ้างถูกกลั่นแกล้ง?
เปิดละเอียดข้อมูลเบื้องหลัง งานก่อสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข สนง.เขตคันนายาว 54 ล. ก่อน-หลังทิ้งงานร้างนานนับปี-ผู้รับเหมาอ้างได้รับผลกระทบน้ำท่วมปี 54 ถูกกลั่นแกล้งตรวจรับงานขาดสภาพคล่อง ถูกยกเลิกสัญญาจ้าง ปัจจุบันเป็นคดีฟ้องร้องศาลปกครอง
ปัญหาการดำเนินงานโครงการก่อสร้างศูนย์สาธารณสุข 70 (คันนายาว) ของสำนักงานเขตคันนายาว ที่ใช้วงเงินงบประมาณกว่า 54 ล้านบาท อันมีสาเหตุมาจากการที่ผู้รับเหมาทำงานไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และสุดท้ายต้องทิ้งงานไป ทำให้อาคารที่สร้างเสร็จไปแล้วบางส่วนถูกปล่อยทิ้งร้างมานานนับปี กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน
(อ่านประกอบ : อาคารศูนย์สาธารณสุข สนง.เขตคันนายาว 54 ล.ปล่อยร้าง-จนท.แจงผู้รับเหมาทิ้งงาน, บุกพิสูจน์ศูนย์สาธารณสุข สนง.เขตคันนายาว 54 ล. ผู้รับเหมาทิ้งงาน-ร้างนานนับปี)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบโครงการนี้ ที่มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ จุดเริ่มต้นโครงการ
การดำเนินงานโครงการนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักงานเขตคันนายาว ได้จ้างเหมาให้บริษัท เอ็น.เจ สหมิตร ก่อสร้าง จำกัด เข้ามาดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 70 คันนายาว ตามสัญญาเลขที่ ยธ.6/2554 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 วงเงิน 54,988,800 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 450 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 2 พฤษภาคม 2555และได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาทำการตามมติคณะรัฐมนตรี ออกไป 180 วัน ตามบันทึกต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 1) ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ครบกำหนดสัญญาวันที่ 29 ตุลาคม 2555
@ ผู้รับเหมาทำงานล่าช้า -เสนอยกเลิกสัญญาจ้าง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานโครงการก่อสร้างมีปัญหาความล่าช้าเกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา สำนักงานเขตคันนายาว จึงมีหนังสือที่ กท 8003/768 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 เสนอขออนุมัติผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครบอกเลิกสัญญา งานก่อสร้างอาคารดังกล่าวกับบริษัทฯ เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างอาคาร ให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนมีค่าปรับเกินอัตราร้อยละ 10 ของค่าจ้าง และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติให้บอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 ตามหนังสือสำนักงานกฎหมายและคดีที่ กท 0405/1852 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2556
@ อ้างผลกระทบน้ำท่วม-ถูกกลั่นแกล้งตรวจรับงาน
ต่อมาสำนักงานเขตคันนายาว ได้มีหนังสือ ที่ กท 8003/1934 ลงวันที่ 1 เมษายน 2556 แจ้ง บริษัทฯ ขอให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น ในการก่อสร้างอาคารฯ ไม่แล้วเสร็จ โดย บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 เมษายน 2556 ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศเมื่อปลายปี 2554 ขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน ทำให้ราคาก่อสร้างมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการแบ่งจ่ายค่าจ้างตามงวดงานไม่เหมาะสม มีการกลั่นแกล้งตรวจรับงานล่าช้า ทำให้บริษัทฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน จึงทำให้ไม่สามารถดาเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ ซึ่งสำนักงานเขตฯ พิจารณาคำชี้แจง ของบริษัทฯ แล้วเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างถึงการทำงาน ไม่แล้วเสร็จได้
ต่อมาสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือ ที่ กท 8003/3232 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2556 เรียน ปลัดกรุงเทพมหานคร เสนอว่าควรลงโทษบริษัท เอ็น.เจ. สหมิตรก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ทิ้งงาน
ซึ่งปลัดกรุงเทพมหานครได้สั่งการ ให้สำนักงานเขตฯ ดำเนินการตามข้อ 139/5 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 และถือปฏิบัติ ตามหนังสือกรุงเทพมหานคร ที่ กท 7000/1690 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เรื่อง ขั้นตอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานให้ครบถ้วน ก่อนนำเสนอ ปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
จากนั้น สำนักงานเขตคันนายาว ได้มีหนังสือแจ้งกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทฯ ทั้ง 3 ราย โดยแจ้งให้กรรมการบริษัทฯ แต่ละรายชี้แจงเหตุผลในกรณีที่จะพิจารณา ให้เป็นผู้ทิ้งงานภายใน 15 วัน โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน รวม 3 ฉบับ ปรากฏว่ามีผู้รับหนังสือ แต่กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทฯ ทุกรายไม่มาชี้แจงเหตุผลแต่อย่างใด
ต่อมา สำนักงานเขตคันนายาวได้มีหนังสือ ที่ กท 8003/5756 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ขออนุมัติให้บริษัท เอ็น.เจ. สหมิตรก่อสร้าง จำกัด และนายธนัท ไทยทองสุข นายธรัช ไทยทองสุข กรรมการบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ซึ่งสำนักการคลังได้มีหนังสือ ที่ กท 1305/1299 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ให้สำนักงานเขตคันนายาวชี้แจงเพิ่มเติมว่า นายธรัช ไทยทองสุข กรรมการ บริษัทฯ มีส่วนร่วมในการทิ้งงานอย่างไร
ทางสำนักงานเขตคันนายาว ได้มีหนังสือ ที่ กท 8003/6517 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ชี้แจงว่า นายธรัชฯ มีส่วนร่วม ในการดำเนินการบริหารการก่อสร้างโครงการ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการโครงการ ตามหนังสือบริษัทฯ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งขณะนั้น ใช้ชื่อ นายธัชพลฯ ซึ่งจากการตรวจสอบทะเบียนราษฎร นายธัชพลฯ กับ นายธรัชฯ เป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นผู้เข้าร่วมหารือรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างและเร่งรัดงาน ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จ
ซึ่งสำนักงานเขต คันนายาวพิจารณาแล้วเห็นว่า นายธรัช (หรือนายธัชพล) เป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการบริหารการก่อสร้างโครงการนี้โดยตลอด จึงมีส่วนร่วม ในการทิ้งงานในครั้งนี้ด้วย
@ สำนักการคลัง กทม.ไฟเขียว ลงโทษผู้ทิ้งงาน
สำนักการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานเขตคันนายาวได้ถือปฏิบัติ เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงาน ตามนัยของ หนังสือกรุงเทพมหานคร ที่ กท 7000/1690 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 แล้ว เนื่องจากกรณีนี้บริษัท เอ็น.เจ.สหมิตรก่อสร้าง จำกัด ทำงานงานไม่แล้วเสร็จ ตามสัญญา
ดังนั้น จึงพิจารณาได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เห็นควรนำเรียนปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาเสนอชื่อ บริษัท เอ็น.เจ. สหมิตร ก่อสร้าง จำกัด และนายธนัท ไทยทองสุข และนายธรัช ไทยทองสุข กรรมการผู้มีอำนาจฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ตามข้อ 139/1 (2) และข้อ 139/5 วรรคหนึ่งแห่งข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 และให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุพิจารณาต่อไป โดยปลัดกรุงเทพมหานคร (นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร) ได้สั่งการให้ดำเนินการตามที่สำนักการคลัง ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นเบื้องต้นว่า เมื่อสำนักงานเขตคันนายาว ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงาน ตามหนังสือกรุงเทพมหานคร ที่ กท 7000/1690 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัท เอ็น.เจ. สหมิตรก่อสร้าง จำกัด ทำงานไม่แล้วเสร็จ ตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เห็นควรพิจารณาให้บริษัท เอ็น.เจ. สหมิตร ก่อสร้าง จำกัด และนายธนัท ไทยทองสุข นายธรัช ไทยทองสุข กรรมการผู้มี อำนาจฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ตามข้อ 139/1 (1) และข้อ 139/5 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ตามที่ สำนักงานเขตคันนายาวเสนอ
@ ฟ้องศาลรับผิดตามสัญญาจ้าง
โดยปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี กับ บริษัท เอ็น.เจ.สหมิตรก่อสร้าง จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง รับผิดตามสัญญาจ้าง คดีหมายเลขดำที่ 390/2559 ของ ศาลปกครองกลาง
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพิ่มเติมพบว่า ปัจจุบัน บริษัท เอ็น.เจ.สหมิตรก่อสร้าง จำกัด ยังไม่ได้จดทะเบียนแจ้งเลิกบริษัทแต่อย่างใด (ดูข้อมูลบริษัทเพิ่มเติมในเรื่อง: บุกพิสูจน์ศูนย์สาธารณสุข สนง.เขตคันนายาว 54 ล. ผู้รับเหมาทิ้งงาน-ร้างนานนับปี)
ส่วนผลประกอบการธุรกิจ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุดเมื่อปี 2552 ระบุว่า มีรายได้จากการก่อสร่าง เป็นจำนวนเงิน 123,005,821.87 บาท มีรายจ่ายรวม 118,995,479.26 บาท กำไรสุทธิ 2,675,962.54 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2559 ได้พยายามติดต่อ ผู้บริหาร บริษัท เอ็น.เจ.สหมิตรก่อสร้าง จำกัด ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
อ่านประกอบ :
อาคารศูนย์สาธารณสุข สนง.เขตคันนายาว 54 ล.ปล่อยร้าง-จนท.แจงผู้รับเหมาทิ้งงาน
บุกพิสูจน์ศูนย์สาธารณสุข สนง.เขตคันนายาว 54 ล. ผู้รับเหมาทิ้งงาน-ร้างนานนับปี
อ้างถูกกลั่นแกล้งตรวจรับงาน! เปิดคำชี้แจง'ผู้รับเหมา'ทิ้งสร้างศูนย์สธ.คันนายาว 54 ล.