คลี่ปมบอร์ด ธพว.ต้องพ้นตำแหน่งหรือไม่? กรณีพิจารณาเรื่อง‘มีส่วนได้เสีย’ 125 ล.
พลิกข้อ กม. คลี่ปมบอร์ด ธพว.ตั้ง กก.สอบปล่อยหนี้เน่า ตามคำสั่งแบงก์ชาติ แต่เป็นลูกหนี้ที่อนุมัติเองเสียหาย 125 ล. เมื่อ 8 เดือนก่อน เข้าข่ายพิจารณาเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย เป็นเหตุต้องพ้นสภาพ ตาม พ.ร.บ.ธนาคาร มาตรา 20 หรือไม่?
กรณีผู้บริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ จำนวนหนึ่งได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานะของบอร์ด ธพว.ทั้งคณะ (บอร์ดชุดก่อนหน้านี้) ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจากได้ประชุมพิจารณาในเรื่องที่บอร์ดทุกคนมีส่วนได้เสีย ซึ่งฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธพว.มาตรา 20 อันจะเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 17 (5) (อ่านประกอบ:‘คนใน’ยื่นนายกฯสอบ‘สถานะ’บอร์ด ธพว. อาจมีส่วนได้เสีย ปมปล่อยกู้โรงสีข้าว 125 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาดังนี้
มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 บัญญัติไว้ว่า “กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในเรื่องซึ่งที่ประชุมพิจารณา ให้แจ้งการมีส่วนได้เสียของตนให้คณะกรรมการทราบ และห้ามมิให้ผู้นั้นร่วมประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กฎหมายได้ห้ามกรรมการที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุมพิจารณา ดังนั้นเพียงเข้าร่วมประชุมพิจารณาก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 20 แล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงผลของการประชุมว่าเป็นเช่นใด
ในกรณีนี้ แม้ว่าผลการประชุมพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จะแต่งตั้งบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลภายนอก หรือกรรมการ ธพว.ให้เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ก็ตาม เพียงแต่มีการประชุมพิจารณาเท่านั้น ก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 20 แล้ว
กรณีนี้คณะกรรมการได้อนุมัติสินเชื่อ เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 และหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ ธปท.สั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อเดือนเมษายน 2558 (ถัดมาเพียง 8 เดือน หลังอนุมัติสินเชื่อ) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่อยู่ในกระบวนการอำนวยสินเชื่อย่อมจะต้องถูกสอบสวน และเมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จ อาจจะต้องรับผิดทางวินัย หรือรับผิดตามกฎหมาย ทั้งในส่วนแพ่ง และอาญา
กรรมการในคณะกรรมการ ธพว.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะตัดสินว่าลูกหนี้ควรได้รับสินเชื่อหรือไม่ และเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุดในธนาคาร ที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถแขนงต่าง ๆ ดังนั้น คณะกรรมการ ธพว.ในฐานะผู้อนุมัติสินเชื่อ จึงจะต้องถูกสอบสวนและอาจจะต้องรับผิดตามกฎหมายเช่นกัน ทำให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เมื่อจะต้องประชุมพิจารณาเพื่อเลือกบุคคลมาเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ เมื่อกรรมการแต่ละคนมีส่วนได้เสียโดยตรง จึงไม่อาจประชุมพิจารณาได้ (มาตรา 20 บัญญัติไว้ว่า แม้เป็นการมีส่วนได้เสียโดยอ้อม ก็ยังไม่อาจประชุมพิจารณาได้)
เมื่อคณะกรรมการ ธพว.ได้ประชุมพิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลที่เป็นกรรมการสอบสวนในเรื่องที่ตนมีส่วนร่วม ก็ย่อมจะพิจารณาเลือกบุคคลเป็นกรรมการสอบสวน ดังนั้น จึงความเป็นไปได้ที่กรรมการสอบสวนที่คณะกรรมการ ธพว.คัดเลือก อาจจะมีความเห็นเบี่ยงเบนไปในทางใดทางหนึ่ง?
นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการ ธพว.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จ ตามข้อบังคับ ธพว.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลฯ ข้อ 39 ที่บังคับใช้อยู่ในเวลานั้นกำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ต้องรายงานผลการสอบสวนกลับไปยังผู้แต่งตั้ง ในกรณีนี้คือคณะกรรมการ ธพว. ซึ่งทำให้คณะกรรมการ ธพว.สามารถพิจารณาเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบกับผลการสอบสวนหากเป็นโทษกับตนเองได้
การประชุมพิจารณาในเรื่องที่คณะกรรมการ มีส่วนได้เสีย คือการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อ ที่คณะกรรมการ เป็นผู้อนุมัติเอง ซึ่งคณะกรรมการ อาจจะต้องรับผิดในการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ด้วยทำให้เกิดการกระทำที่ขาดธรรมาภิบาลต่อเนื่องไปอีก?
กรณีการสอบสวนกรณี การปล่อยกู้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล้าน มีข้อมูลดังนี้
1) คณะกรรมการ ธพว.รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 11/2558 วันที่ 27 เมษายน 2558 ในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณี การอนุมัติสินเชื่อให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีข้าวจงเจริญ โดยเปลี่ยนเหตุผลที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จากเดิมที่ระบุว่าเป็นไปตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย เปลี่ยนเป็น ตามที่ฝ่ายบริหารได้ตรวจพบ
2) มติคณะกรรมการ ธพว.ครั้งที่ 11/2558 นำไปออกเป็นคำสั่งฯ ที่ 16/2558 วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย
นายจักรกฤษณ์ ยางนอก ที่ปรึกษา ธพว.ด้านคดีความ ประธานคณะกรรมการ
นายคงเดชา ชัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ กรรมการ
นางธนารักษ์ รามัญวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมากร
นายธนพล โฆมานะสิน ผู้จัดการฝ่ายคดี เลขานุการ
3) ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่ออีกกรณีหนึ่ง คือ กรณี บริษัท ไรซิง(ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งนายคงเดชา ชัยรัตน์ กรรมการสอบสวนในเรื่องนี้ เป็นกรรมการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวด้วย ได้มีมติที่ประชุมว่า คณะกรรมการที่อนุมัติสินเชื่อรายบริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด (คณะกรรมการบริหาร เมื่อปี 2552) เป็นผู้ร่วมกระทำผิดในการอนุมัติสินเชื่อด้วย และได้มีหนังสือแจ้งฐานความผิด,แจ้งข้อกล่าวหา และแจ้งให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ไปยังผู้เกี่ยวข้องจำนวน 21 คน ผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังประธานกรรมการ ธพว.
4) คณะกรรมการ ธพว. มีมติปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้ง 2 คณะ และมีมติที่ประชุมให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการสอบสวน
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีข้าวจงเจริญ ปรับปรุงคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 ครั้ง
คือ
ครั้งที่ 1 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว. ครั้งที่ 21/2558 วันที่ 14 กันยายน 2558 โดยเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการสอบสวนเป็นคนใหม่ และเพิ่มกรรมการสอบสวนจากเดิม 3 คน เป็น 5 คน โดยบุคคลที่แต่งตั้งเข้าไปใหม่ ได้แก่ นายสมัคร เชาวภานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน แทนนายจักรกฤษณ์ ยางนอก นายเวทย์ นุชเจริญผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ นายเสรี นนทสูติ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
ครั้งที่ 2 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว. ครั้งที่ 26/2558 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 หลังจากเปลี่ยนแปลงในครั้งที่ 1 ไม่ถึง 2 เดือนโดยปลดนายคงเดชา ชัยรัตน์ (ที่มีความเห็นในการสอบสวนกรณีบริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด ว่า คณะกรรมการที่ทำหน้าที่อนุมัติสินเชื่อต้องรับผิด) ออกไปจากกรรมการสอบสวนชุดนี้ (รวมทั้งปลดออกจากกรรมการสอบสวน กรณีบริษัท ไรซิง(ไทยแลนด์) จำกัด ด้วย) โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปแทนคือ นายชาญชัย โยธาวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง เคยเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการ ธพว.มีมติที่ประชุมไม่ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกคณะแจ้งข้อกล่าว โดยจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ธพว.ก่อน
ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นอำนาจของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลฯ ข้อ 42 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น โดยคณะกรรมการ ธพว.ได้มีมติที่ประชุมครั้งที่20/2558 (ต่อเนื่อง) วันที่ 28 สิงหาคม 2558 ให้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าว โดยให้หน้าที่ในการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดอื่นที่ไม่ใช่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง และสรุปประเด็นข้อกล่าวหาเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้งก่อนการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งกรณีนี้คือคณะกรรมการ ธพว.
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง วินิจฉัยความผิดในการอนุมัติสินเชื่อให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีข้าวจงเจริญ โดยไม่มีความผิดไปถึงคณะกรรมการ ธพว.ที่เป็นผู้อนุมัติ
ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (ชุดที่เปลี่ยนแปลงตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว.ครั้งที่ 26/2558) พบผู้กระทำความผิดวินัยร้ายแรง เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับต้น และผู้บริหารระดับกลาง จำนวน 8 คน โดยผู้บริหารตำแหน่งสูงสุดที่ต้องรับผิดต่อการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ เป็นเพียงผู้นำเสนอที่มีตำแหน่ง รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ เท่านั้น
ขณะที่ ผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมลงนามในรายงานการขออนุมัติสินเชื่อ, คณะกรรมการสินเชื่อที่มีหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบ และคณะกรรมการ ธพว. ที่มีมติที่ประชุมอนุมัติสินเชื่อรายนี้ ไม่ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดจากการอนุมัติสินเชื่อรายนี้
ทั้งที่ผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตรวจพบว่าการอนุมัติสินเชื่อมีความหละหลวมอย่างชัดเจน หลังจากนั้น คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้นำเสนอผลการสอบสวนต่อคณะกรรมการ ธพว. ก็ได้รับความเห็นชอบ
การที่กรรมการในคณะกรรมการ ธพว.ร่วมกันประชุมพิจารณาในเรื่องนี้ (ที่ตนเองมีส่วนได้เสีย ?) ทำให้เกิดเหตุการณ์ ต่อเนื่องไปอีกหลายเรื่องดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้น พ.ร.บ. ธพว. จึงได้กำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 20 มีผลถึงขั้นต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ตามมาตรา 17
กระนั้น กรณีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา กฎหมายบางฉบับของบางองค์กร กำหนดให้มีโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุก หรือปรับ เช่น พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาตรา 66 กำหนดโทษในกรณีนี้คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท เมื่อเทียบกับ กฎหมายของ ธพว.ยังถือว่าเป็นโทษสถานเบา เพียงแต่ให้กรรมการต้องพ้นจากตำแหน่ง เท่านั้น แต่หากจะมีการหยิบยกไปดำเนินคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็ถึงจะมีโทษทางอาญา
ในกรณีนี้ ต้องติดตามผลสรุปจากผู้มีอำนาจหน้าที่กันต่อไป
อ่านประกอบ:
เผยโฉมหนังสือลับ ก.คลัง ไฟเขียว ‘สมชาย’ปธ.บอร์ด ธพว. หลัง‘สาลินี’ ไขก๊อก
ด่วน!‘สาลินี’ไขก๊อก ปธ.บอร์ด ธพว. ส่ง จม.ลา 2 ปีนำองค์กรดีขึ้นทุกด้าน-‘สมชาย’ นั่งแทน
จดหมายจากพี่สาลินี : ขออภัยหากทำให้ขุ่นข้องหมองใจ
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
ผ่าเบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ‘กก.สอบ’ ปล่อยกู้195 ล. เจ้าหน้าที่ผิด-บิ๊กบอสรอด?
ธพว.เปลี่ยนตัว ‘กก.สอบ’ปมปล่อยกู้ บ.ไรซิงฯ 195 ล. -ชุดแรกฟันเรียบ 21 คน
ชงฟันบิ๊ก ธพว.-พวก 21 คนพันปล่อยกู้ บ.ส่งออกเสียหาย 300 ล.-‘ที่ดินตาบอด’ค้ำประกัน
เบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ ‘กก.สอบ’ ปมปล่อยกู้โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล.
หลักฐาน 3 ชิ้น!ใบเสร็จ‘ค่าไฟ’-คำสั่ง รมว.คลัง มัดปมเงินกู้โรงสี-ธพว.125 ล.
เจ้าของโรงสีข้าว‘ลูกหนี้’ NPL 125 ล. ธพว. อยู่คอนโดฯ 5 ล. กลางกรุงเทพฯ
ไขปริศนา!‘เงินปล่อยกู้’17 ล. โรงสีข้าวจงเจริญ ลูกหนี้ NPL 125 ล้าน ธพว.
เปิด‘โรงสีข้าวศรีสะเกษ’กู้ ธพว. 125 ล. หยุดกิจการก่อนรับเงิน ชนวนร้องสอบบิ๊ก