ปฏิรูปการศึกษา 16 ปี ไม่สำเร็จ :เด็กเสียโอกาส... ประเทศเสียอะไร
“การลงทุนด้านการศึกษาในรัฐบาลผม ใช้งบถึง 22 % ซึ่งเป็นรัฐบาลแรกที่ให้งบการศึกษามากกว่างบป้องกันประเทศ แต่ถามว่า คุ้มไหมไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป เพราะเงินที่ลงไป รั่วไหลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น เอาไปสร้างโรงเรียน ซื้อที่ดิน แต่ไม่ได้นำไปใช้ในเรื่องของหลักสูตรการสอน หรือคุณภาพของครู”
"ผมคิดว่า ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่สูงมาก รุนแรงกว่าการเหลื่อมล้ำทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น การวิ่งแข่ง ถ้าผมแพ้เพราะวิ่งช้ากว่า เข้าเส้นชัยช้ากว่า ก็เป็นอะไรที่ยอมรับได้ แต่การที่ไม่ให้โอกาสคนๆ นั้นวิ่งแข่งเลย นี่แย่มากเลยนะ เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษา ถ้าไม่สามารถลดช่องว่างการเหลื่อมล้ำทางโอกาสได้สำเร็จ ผมถือว่าการปฏิรูปนั้นยังไม่สำเร็จ"
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังนำเสนองานวิจัยหัวข้อ “โอกาสที่หายไป: 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย” บนเวทีงาน “Thailand Strategic Giving” ณ ห้องบอลรูม II โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ ฯ
การที่คนส่วนใหญ่คิดว่า การศึกษาเป็นเรื่องของรัฐนั้น ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ความจริงแล้ว การศึกษา เป็นเรื่องของทุกคน ภาคเอกชน พ่อแม่ โดนผลกระทบจากการปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จหมดทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนช่วยด้วยในด้านการศึกษา เพราะเอกชนต้องใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษา ต้องใช้เวลานานอาจกินเวลาถึง 30 ปี กว่าจะมีแรงงานที่เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จเข้าไปอยู่ในตลาดแรงงาน
ที่ผ่านมา เรามักพูดถึงปัญหาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูง หลายคนมองว่า ปัญหาตรงนี้มาจากการศึกษา แต่การที่เราปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ การเสียโอกาสทางการศึกษาส่งผลอย่างไร การเสียโอกาสนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ต่อชีวิตเด็กเท่านั้น แต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย
ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า การเสียโอกาสทางการศึกษาส่งผลกระทบต่อทั้งช่วงชีวิตของเด็ก โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนวัยเรียน มีการดูแลที่ไม่ดีพอ การจัดทรัพยากรไม่เหมาะสม ทำให้เด็กไม่พัฒนาไปอย่างทีควร
- 1 ใน 5 ของเด็กไทยมีพัฒนาการต่ำกว่าวัย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการศึกษาระดับประถม
- จะเห็นได้ว่า มีนักเรียนประถม 140,000 คนอ่านไม่ออก และอีก 270,000 คนเขียนไม่ได้ ตรงนี้มีผลไปถึงระดับมัธยมที่ 1 ใน 3 อ่านจับใจความไม่ได้ ภายใต้การสอบวัดของ PISA (ประเมิณผลนักเรียนนานาชาติ)
“ถึงแม้บ้านเราเด็กจะจบในระดับมัธยมจำนวนไม่น้อย แต่การที่จะเข้าไปเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่ดีๆ มีจำกัด พูดง่ายๆ ว่า ถ้าใครอยากเรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ ต้องย้ายเข้ามาที่กรุงเทพฯ โรงเรียนที่ได้คะแนน O-NET เยอะที่สุด 34 ใน 50 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพ"
ปัญหาต่อมาในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ให้เห็นถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียน 2 ใน 3 ของครอบครัวไม่มีเงินออมพอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ต้องกู้ยืมกยศ. ติดหนี้สิน
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ มีข่าวดีอยู่อย่างหนึ่ง คือประเทศไทยเวลานักศึกษาจบใหม่ มามักหางานได้ โดยมีสถิติระบุว่า มีนักศึกษาจบใหม่แค่ 1% ที่ไม่สามารถหางานได้ใน 6 เดือน
ขณะที่ข่าวร้าย คือ งานที่หาได้คืองานที่ไม่ดี 40% จะไปทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ
งานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้เน้นหนักไปที่เรื่องของการเสียโอกาสต่าง ๆ ที่ไม่ได้ส่งผลแค่กับชีวิตเด็ก แต่ส่งผลต่อหลายๆ อย่างมาก เช่น พ่อแม่เด็กที่ต้องกู้เงินมาให้เรียน, ส่งผลต่อภาคเอกชนในการหาคนที่มีคุณภาพมาทำงาน, ใช้เวลาหาคนมาทำงานนานกว่าเดิม และส่งผลต่อภาครัฐเองในเรื่องของการใช้เงินลงไปกับการศึกษาจำนวนมหาศาลปีละ 5 แสนกว่าล้าน แต่ไม่เกิดการพัฒนา
สรุปได้ว่า การเสียโอกาสทางด้านการศึกษาส่งผลระดับประเทศอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในงานวิจัยยังได้พยายามคำนวณค่าเสียโอกาสออกมาเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นชัดๆ เป็นรูปธรรม การที่ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จส่งผลอย่างไรต่อประเทศ
“จะเห็นว่า ตัวเลขที่ประเทศเราเริ่มปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 จนถึงปัจจุบันเรามีราคาค่าเสียโอกาสสะสมสูงถึง 1.55 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 11% ของค่า GDP ตัวเลขเหล่านี้เอามาจากการไปดูว่า ประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จนั้นได้ผลมาอย่างไร เช่น ประเทศโปแลนด์เป็นกรณีศึกษา โดยประเทศโปแลนด์ใช้เวลา 10 ปีในการปฏิรูป ทำให้คะแนน PISA สูงขึ้น 48 คะแนน ถ้าเทียบกับไทยใน 10 ปีเราเพิ่มขึ้นมาแค่ 3 คะแนนเอง”
หากสมมติว่า ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาที่ทำมา 16 ปีสำเร็จ เราจะมีค่า GDP เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 0.14% แม้ฟังดูน้อยมาก แต่คือเป็นยอดในแต่ละปีที่จะสมทบมาเรื่อย ๆ 16 ปี ซึ่งคิดเป็นรายได้ประเทศก็คือ 1.55 ล้านล้านบาทที่เราสูญเสียโอกาสไปจากการปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ
และจะทวีคูณกว่านี้ในอนาคต
เรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ ดร.เศรษฐพุฒิ เน้นย้ำ คือ ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณจากภาครัฐ เพราะรัฐทุ่มงบทางด้านการศึกษาไม่ใช่น้อย แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการ เรื่องการปรับหลักสูตร และเรื่องคุณภาพของครูที่อยู่หน้าห้องเรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่อยู่หน้าห้อง การเพิ่มโรงเรียน ลดห้องเรียนอะไรที่ทำอยู่ก็ไม่เป็นผล อย่างที่รู้ว่าระบบราชการของไทยมักเน้นตัวชี้วัดที่เป็นระบบการทำงาน เช่น เปอร์เซ็นต์การที่นักเรียนเข้ารับการอบรมอะไรต่าง ๆ ที่กระทรวงชอบทำ ซึ่งผลลัพธ์ของการทำอะไรแบบนั้น ไม่ได้ช่วยเรื่องการศึกษาเลย ดูได้จากคะแนนPISA เป็นหลักได้”
ขณะที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มองเห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษา ที่ทุกคนเห็นอยู่แล้ว รัฐบาลไทย 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเท่าที่ควรจะเป็น
“การลงทุนด้านการศึกษาในรัฐบาลผม ใช้งบถึง 22 % ซึ่งเป็นรัฐบาลแรกที่ให้งบการศึกษามากว่างบป้องกันประเทศ แต่ถามว่า คุ้มไหมไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป เพราะเงินที่ลงไปรั่วไหล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น เอาไปสร้างโรงเรียน ซื้อที่ดิน แต่ไม่ได้นำไปใช้ในเรื่องของหลักสูตรการสอน หรือคุณภาพของครู”
อดีตนายกฯ ได้ยกตัวอย่างประเทศสิงค์โปรเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วก็มีปัญหาเรื่องการศึกษา สิ่งแรกที่ทำคือแก้ไขที่หลักสูตรและคุณภาพครู แต่สิ่งที่ประเทศไทยควรทำอย่างแรกในการปฏิรูปการศึกษาคือยุบกระทรวงศึกษาธิการ อย่างที่สองคือให้ครูสอนให้น้อยลง อย่างที่สามคือตั้งปัญหาให้นักเรียนหาคำตอบมากขึ้น อย่ามองหาคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้ต้องการกดดันเด็กให้ตอบถูก แต่ต้องการกระตุ้นให้เด็กคิด
“สังคมจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นมาได้ต้องมาจากพื้นฐานการศึกษาที่มีคุณภาพ จะเห็นว่าภาพรวมของบริจาคเพื่อสังคมได้ให้น้ำหนักไปที่ภาคการศึกษาเป็นสำคัญ แต่สังคมไทยยังไม่มีระบบและรูปแบบที่ชัดเจนในการใช้เงินหรือทรัพย์สินจากการบริจาคนั้นไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับผู้รับ ภาพรวมของการศึกษาไทยจึงเหมือนย่ำอยู่กับที่และดูถดถอยลง ในขณะที่ผู้ให้ก็สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้รับนั้นกลับยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาการศึกษาตามเจตนารมณ์ของผู้ให้ได้ จึงเป็นเรื่องที่ดีหากสังคมไทยจะหันมามองในมุมใหม่ว่า การให้ควรมียุทธศาสตร์ มีระบบ มีวิธีการ มีการประเมินและติดตามผลได้"
สุดท้าย นายอานันท์ มองถึงปัญหาที่แท้จริงคือความยากจนที่ยังมีอยู่มากในประเทศไทยด้วยว่า ความยากจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำตามธรรมชาติ ตั้งแต่เกิด เช่น ความพิการอะไรเหล่านี้เราแก้ไขไม่ได้ แต่สังคมจะต้องไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอื่น ๆ เข้าไปอีก เด็กวัย 1-7 ขวบจะเรียนรู้จากพ่อแม่พี่น้องคนรอบข้าง เด็กฐานะดีก็ได้เข้าโรงเรียนดี ๆ มีคนดูแล นี่คือจุดแรกของความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่นเดียวกัน จะต่อเนื่องทวีคูณเรื่อย ๆ ไล่ไปชั้นประถม มัธยม ใครบ้านฐานะดีก็ได้เรียนที่ดี ๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คำตอบของการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ การแก้ปัญหาด้านการศึกษา
โอกาสที่เสียไป: 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย
สำหรับ สาระสำคัญผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง “โอกาสที่เสียไป: 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย” พบว่า
การศึกษามีปัญหา... เด็กเสียโอกาส
1.มีงานวิจัยบอกว่า การลงทุนในการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียนจะได้ผลดีกว่าในวัยอื่น ๆ แต่ทรัพยากรที่ป้อนให้เด็กวัยนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เด็กจำนวนมากมีพัฒนาช้ากว่าวัย ซึ่งโอกาสจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบ้านอยู่ที่ไหน เพราะส่วนใหญ่เด็กมักได้เรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ใกล้บ้าน ซึ่งจะเจอคุณภาพสังคมไม่เหมือนกัน
2.ปัญหาจากการศึกษาระดับเด็กเล็กส่งผลมายังการศึกษาระดับประถมที่เด็กอาจได้ร่วมชั้นเรียนกับเพื่อนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนในชนบททักษะการอ่านของเด็กนักเรียนใช้ไม่ได้มีโอกาสูงถึง 1 ใน 2
3.แม้เด็กจะอ่านออก แต่ก็อาจมีอีกปัญหาเรื่องการอ่านจับใจความไม่ได้ คืออ่านออกแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอ่านอะไร ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 1ใน3 ของเด็กที่กำลังศึกษาชั้นมัธยม
และยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนในชนบทสัดส่วนการอ่านจับใจความไม่ได้จะเพิ่มจาก 32% เป็น 47% ตรงนี้อ้างอิงจากผลการสอบนานาชาติ(PISA)ซึ่งถือว่าเด็กไทยสอบตก และคะแนนด้านการอ่านยังเป็นต่ำกว่าเวียดนาม เทียบเท่าคอสตาริกาและชิลี
4.เด็กไทยมีโอกาสเรียนจบม.ปลาย หรือ ปวช. 6 ใน 10 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงพอสมควร ส่วนที่เหลือที่ไม่จบ คือ มีปัญหาความยากจนหรืออยู่ไกลจากสถานศึกษา และปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ
5.สถิติบ่งชี้อย่างเห็นได้ชัดว่า การย้ายเข้าโรงเรียนที่ดี ๆ สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยได้ 34 ใน 50 โรงเรียนที่คะแนนสอบโอเน็ตสูงสุดอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เด็กส่วนใหญ่เลือกย้ายไปยังโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ โดยการจะเข้าได้นั้นจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก
6. การเรียนในโรงเรียนดี ๆ อาจจะไม่เพียงพอ สมัยนี้จำเป็นต้องมีการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมด้วยโดยกว่า 60% ของนักเรียนมัธยมเลือกเรียนกวดวิชาเพิ่ม โดยค่าใช้จ่ายคิดเป็น 1.3เท่าของค่าใข้จ่ายในโรงเรียนปกติ หรือคิดเป็น 22,592 ต่อปี
7. 2 ใน 3 ของครอบครัวไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมพอจะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉลี่ยการเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 502,000บาท ต่อให้กู้กยศ.แล้วก็ยังต้องจ่ายถึง 326,400 บาท
8.ปัจจุบันการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องยาก แต่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ในปี 2558 มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาจากการแอดมิดชั่น 1.51 แสนคน มีคนสมัครสอบ 1.24 แสนคน และผ่านการคัดเลือก 9.2 หมื่นคน สะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาเกินความต้องการ
9.ใน 1 รุ่นจะมีบัณฑิตจบใหม่ออกมาสู่ตลาดแรงงาน 260,000 คน ซึ่งมีเด็กเพียง 1% เท่านั้นที่หางานไม่ได้ภายใน 6 เดือน โดยส่วนใหญ่ที่หางานได้จะเป็นงานที่ไม่ตรงกับวุฒิหรือต่ำกว่าวุฒิ ซึ่งมักได้เงินเดือนน้อย
10. เด็กจบใหม่กว่า 40% ทำอาชีพเป็นพนักงานขาย และเสมียน มีเพียง 24% เท่านั้นที่จบมาได้ทำงานตรงสาย ซึ่งคนที่ได้ทำงานตรงสายอาชีพจะได้เงินเดือนสูงกว่าเสมียนถึง 2,500-4,500 บาท ซึ่งเป็นส่วนต่างที่มากถึง 30%
เด็กเสียโอกาส... ประเทศเสียอะไร
11. ประเทศไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสะสมสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นค่าGPD 11% จากการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 16 ปีที่แล้วไม่สำเร็จ โดยผลการศึกษาครั้งนี้มาจากการเทียบเคียงประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จอย่างโปแลนด์
12. หากเราเริ่มปฏิรูปการศึกษาวันนี้ต้องใช้เวลาอีก 30 ปี ถึงจะมีแรงงานที่มาจากการปฏิรูปการณ์ศึกษาที่สำเร็จเป็นแรงงานที่มีทักษะดีขึ้นเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่า 50% ซึ่งถ้าเริ่มวันนี้เราจะเห็นผลในปีค.ศ. 2049
จากข้อเท็จจริงทั้ง 12 ข้อจะทำให้เห็นได้ว่า ปัญหาการศึกษาของไทยเริ่มตั้งแต่เด็กได้รับการศึกษาในช่วงแรก ซึ่งไม่เพียงต่อการพัฒนาของวัย และการศึกษาของประเทศไทยนั้นเป็นการศึกษาที่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ทำให้เด็กต่างจังหวัดมีโอกาสในการได้รับการศึกษาที่ดีนั้นน้อยมาก หรือหากต้องการได้รับโอกาสนั้นก็ต้องใช้เงินที่ค่อนข้างมากและเข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ
แต่ผลกระทบจากการปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ไม่ได้จบแค่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงระดับประเทศในเรื่องของเศรษฐกิจด้วย หากการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จในตลาดแรงงานจะมีแรงงานที่มีทักษะมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีกับภาคเอกชนในการนำบุคคลที่มีทักษะดีเข้ามาทำงาน
อ่านประกอบ : รายงานเรื่อง “โอกาสที่เสียไป: 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย”