วิจารณ์แซ่ด คสช.ใช้ ม.44 แก้ขัดแย้งศาสนา คลายปม รธน.
วันจันทร์ที่ 22 ส.ค.59 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับใหม่ เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย โดยให้เหตุผลในคำสั่งว่าเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่บางฝ่ายนำความแตกต่างทางศาสนาไปบิดเบือนเพื่อสร้างความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 49/2559 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีสาระสำคัญระบุว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ รวมทั้งฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 ได้บัญญัติรับรองให้บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน จึงได้กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีความขัดแย้งแตกแยก
แต่ปัจจุบันมีบางฝ่ายนำความแตกต่างของศาสนามาขยายความหรือบิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน คสช.จึงมีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนา นอกเหนือจากพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาตามแบบมหายาน, ศาสนาอิสลาม , ศาสนาคริสต์, ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และศาสนาซิกข์ โดยหน่วยงานของรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องตามแนวทางในแต่ละศาสนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา สอดคล้องกับความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนานั้นๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
พร้อมกันนั้นก็ให้สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต., สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , สถาบันการศึกษาด้านศาสนา, องค์กรปกครองคณะสงฆ์ และองค์กรทางศาสนาต่างๆ ร่วมกันกำหนดมาตรการและกลไกในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ของศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งกำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นทุกศาสนา โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน
ขณะเดียวกันก็ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนแนวทางแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีทราบทุก 3 เดือนด้วย
คาดหวังคลายปม รธน.มาตรา 67
ทั้งนี้ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว คาดว่าเพื่อแก้ไขปัญหาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่เขียนให้น้ำหนักการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท จนมีการสร้างกระแสจากบางฝ่ายว่ารัฐไม่ดูแลศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม กระทั่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
วิจารณ์แซ่ดไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
หลังคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้เผยแพร่ ปรากฏว่ามีกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มองว่าคำสั่งที่ออกมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 อีกทั้งระดับของกฎหมายก็แตกต่างกัน
“ม.44 แก้รัฐธรรมนูญได้ด้วย ตั้งใจจะแก้ปมที่คน 3 จังหวัดไม่พอใจ? โถๆๆ พวกครูสอนศาสนาเขาอ่านกฎหมายแตกฉาน เขารู้หรอก ว่า ม.44 กับ รธน.เป็นกฎหมายคนละระดับกัน...”
“เขียนไปเขียนมาก็ใช่ว่าแก้ได้...พอพูดถึงศาสนาอื่น ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการเผยแผ่หลักธรรมคําสอนที่ถูกต้องตามแนวทางในแต่ละศาสนาดังกล่าว...เฮ้ยใครเป็นคนกำหนดว่าอันไหนคือหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง รัฐจะไปกำหนดให้เขาอีกหรือ...แค่เริ่มต้นก็หาว่ามีคนขยายความบิดเบือนให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ยอมรับว่ามันเกิดจากร่างรัฐธรรมนูญ พูดแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่”