ควันหลง"ใต้ล่าง"โหวตโน "บัตรเสีย"สูงสุดในประเทศ ปมขัดแย้งศาสนาลาม
ยังคงเป็นประเด็นควันหลงที่ถูกพูดถึงกันไม่จบ สำหรับผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะทราบกันไปหมดแล้วว่า ทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมใจกัน “โหวตโน” แต่เรื่องนี้ยังไม่จบเพียงแค่นั้น
เพราะในการแถลงผลการออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการของ กกต.ในวันที่ 10 ส.ค.59 มีการตั้งข้อสังเกตถึงตัวเลขบัตรเสียที่พุ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานมากของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสามจังหวัดมีอัตราบัตรเสียสูงที่สุดในประเทศ
จังหวัดที่มีบัตรเสียมากที่สุดในประเทศ คือ ปัตตานี ร้อยละ 7.43 นราธิวาส ร้อยละ 7.11 และยะลา ร้อยละ 6.54 ทั้งๆ ที่ค่าเฉลี่ยบัตรเสียในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านๆ มาอยู่ที่ร้อยละ 3 กว่าๆ เท่านั้น และการลงประชามติหนนี้ อัตราบัตรเสียต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว
นี่จึงเป็นประเด็นที่ กกต.ตั้งข้อสังเกต และจะศึกษาเพื่อหาคำตอบต่อไป
“คงต้องไปศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร มาจากความเข้าใจในภาษา หรือเรื่องการศึกษา หรือเรื่องอะไรกันแน่” นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวระหว่างการแถลงข่าว
"บัตรเสีย"เชื่อมโยงปมศาสนา?
นั่นคือคำชี้แจงจาก กกต.ที่บอกว่าจะต้องไปศึกษาหาสาเหตุกันต่อ แต่จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าการออกเสียง “โหวตโน” ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นเกี่ยวโยงกับเรื่องศาสนา เพราะบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 31 และ 67 ถูกนำไปสร้างกระแสว่า รัฐจะดูแลศาสนาอิสลามน้อยกว่าศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนับถือ ฉะนั้นประเด็น “บัตรเสีย” จึงอาจเชื่อมโยงกับเหตุผลนี้ด้วย
กลุ่มพุทธค้าน ก.ม.ส่งเสริมกิจการฮัจย์
สถานการณ์ความขัดแย้งที่เปราะบางเกี่ยวกับศาสนา ดูจะขยายวงมากขึ้นไปอีก เมื่อมีกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ ในนาม “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน” ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ชะลอหรือระงับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านวาระ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยเหตุผลการคัดค้านกฎหมายของกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน มี 3 ข้อ คือ
1.ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดูแลกิจการฮัจย์แทนกรมการศาสนา ซึ่งกรมการปกครองมีหน่วยงานกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เกรงว่าจะเป็นการขยายฐานของศาสนาอิสลาม และเป็นการเพิ่มงานให้กรมการปกครอง ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญเรื่องกิจการฮัจย์
2.ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้มีการตั้งสำนักงานส่งเสริมกิจการฮัจย์ เป็นนิติบุคคล มีบุคลากรและงบประมาณของตนเอง ซึ่งในมุมมองของกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินเห็นว่าไม่มีความจำเป็น
3.กิจการฮัจย์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ชาวมุสลิมไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งศาสนาอื่นก็มีเหมือนกัน เช่น ศาสนาพุทธ มีการส่งคนไปสังเวชนียสถานที่อินเดียและเนปาล แต่กลับไม่มีการตั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพดูแล จึงถือเป็นความเหลื่อมล้ำ
ประเด็นนี้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยัง นายอนุมัติ อาหมัด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผลักดันกฎหมายนี้ แต่ได้รับคำชี้แจงว่า ยังไม่อยากพูดอะไรในตอนนี้ เพราะเกรงจะเป็นการสร้างความขัดแย้งให้มากขึ้น ส่วนร่างกฎหมายส่งเสริมกิจการฮัจย์ฉบับใหม่ ก็เป็นการอนุมัติจาก สนช. ยืนยันว่าไม่ต้องการให้กฎหมายนี้ออกมาเพื่อสร้างความขัดแย้ง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงเปอร์เซ็นต์บัตรเสียในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีอัตราสูงที่สุดในประเทศ
2 กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน รวมตัวค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์