สกร.งด-ลดดอกเบี้ย ช่วยลูกหนี้เกษตรกรหลังน้ำลด
กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรกองทุนหมุนเวียนฯ ประสบภัยธรรมชาติ พัฒนาฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลดและลดดอกเบี้ยเงินกู้
วันที่ 1 พ.ย. สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) เปิดเผยว่า ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาฟื้นฟูอาชีพแก่ลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน หลังจากน้ำลด หรืองดหรือลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือ กรณีประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ได้รับความเสียหาย ต้องเป็นเกษตรกรหรือผู้ยากจนที่เป็นลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ ซึ่งประสบภัยธรรมชาติและพืชผลหรือผลผลิตทางการเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายเนื่องจากภัยธรรมชาติทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่
สำหรับการพิจารณาความเสียหายของเกษตรกรและผู้ยากจน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ เป็นเกษตรกร เมื่อภายหลังประสบภัยธรรมชาติ ปรากฏว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น (รายได้การเกษตรรวมกับรายได้นอกการเกษตรสุทธิ) เท่ากับหรือต่ำกว่าค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายการเกษตรรวมกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน) ถือว่าเกษตรกรรายนั้นได้รับความเสียหายเป็นส่วนใหญ่ สมควรได้รับความช่วยเหลือ หรือที่อยู่อาศัยเสียหายเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีส่วนราชการหรือภาคเอกชนให้ความช่วยเหลือหรือมีแต่ไม่เพียงพอ
2. กรณีลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ เป็นผู้ยากจนซึ่งประกอบอาชีพอื่น เมื่อภายหลังประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติแล้วปรากฏว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้นเท่ากับหรือต่ำกว่าค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพรวมกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน) ถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นส่วนใหญ่สมควรได้รับการช่วยเหลือ หรือที่อยู่อาศัยเสียหายเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีส่วนราชการหรือภาคเอกชนให้การช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว หรือมีแต่ไม่เพียงพอ
ด้านการให้ความช่วยเหลือโดยงด และหรือลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาเดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัยธรรมชาติ ในปีที่ประสบภัยให้งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี และในปีถัดไปให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิมร้อยละ 2 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระในปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปี สำหรับกรณีที่อัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระในปัจจุบันต่ำกว่าร้อยละ 2 ในปีถัดไปให้งดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาอีก 2 ปี
สำหรับวิธีการดำเนินการช่วยเหลือ 1.ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำรวจและรวบรวมรายชื่อลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ ผู้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และอยู่ในข่ายให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหาย ส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.), สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด, สำนักงานเกษตรอำเภอ, จังหวัดหรืออำเภอ แล้วแต่กรณี เพื่อนำเสนอ อชก. ส่วนกลาง, ส่วนจังหวัด หรือส่วนอำเภอ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติคำขอกู้เงินให้แก่ลูกหนี้ผู้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติพิจารณาต่อไป 2. เมื่อ สป.กษ., สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด, สำนักงานเกษตรอำเภอ แล้วแต่กรณีให้นำเสนอที่ประชุม อชก. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้งดและหรือลดดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
3.ให้หน่วยงาน สป.กษ. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด, สำนักงานเกษตรอำเภอ จังหวัดหรืออำเภอ แจ้งผลการพิจารณาอนุมัติของ อชก. พร้อมกับเรื่องเดิมส่งให้ ธ.ก.ส. ทราบเพื่อดำเนินการตามนัยมติ อชก. นั้นๆ ต่อไป 4.เมื่อสำนักงานเกษตรฯจังหวัด,อำเภอ, จังหวัด หรืออำเภอดำเนินการแล้วให้แจ้งผลการดำเนินการให้ สป.กษ. ทราบ เพื่อประมวลเรื่องรายงานให้ กชก. ทราบต่อไป และ 5.กรณีที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการตามมติ อชก. โดยงดหรือลดดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ให้รายงานให้ สป.กษ. ทราบ เพื่อนำเสนอ กชก.ทราบต่อไป.