ความเห็นก.พลังงาน เบรกโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ หวั่นโดมิโน่ 'กระบี่-เทพา' ล่ม
ก.พลังงานสั่งเบรก โรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ หวั่น กระทบโครงการก่อสร้าง รฟฟ.กระบี่ และเทพา พร้อมซื้อไฟฟ้าชีวมวลระบบ FiT-Bidding
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและพลังงาน ได้จัดประชุมหารือการพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ณ บ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า โครงการฯ อาจจะมีความเหมาะสมทางด้านเทคนิค หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP2015) ยังไม่มีความต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ใหม่จนกว่าช่วงเวลา พ.ศ.2569 เป็นต้นไป
ดังนั้น การที่จะมีการดำเนินโครงการฯ ในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วยระบบ FiT-Bidding ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงอาจจะสร้างความสับสนมากกว่าที่จะช่วยการสร้างความชัดเจนต่อการขับเคลื่อนแผน PDP 2015 ดังนั้นจึงเห็นว่า โครงการนี้ควรมีการชะลอออกไปก่อน
ย้อนกลับไปในการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ครม.ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการพลังงาน เรื่องรายงานพิจารณาศึกษาข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ณ บ้านน้ำบ่อ อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์
ซึ่งทางด้าน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช.ได้กล่าวในรายงานฉบับนี้ว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภคและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เสนอขอให้พิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ณ บ้านน้ำบ่อ โดยเห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด นอกจากนี้จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้ให้แก่ราษฎรและที่สำคัญช่วยสร้างความมั่นใจและภาพลักษณ์ที่ดีต่อการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในรายงานรายงานพิจารณาศึกษา “ข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ณ บ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี” ระบุว่า การชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าให้บรรลุได้ตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ หรือ PDP 2015 ศอ.บต.จึงเสนอให้พิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่บ้านน้ำบ่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและในภาคใต้ โดยต้องการให้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดต้นแบบสำหรับการเรียนรู้และการยอมรับในพื้นที่อื่นๆ
รายงานยังระบุด้วยว่า ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีความเหมาะสมทั้งด้านภูมิประเทศ มีแหล่งน้ำทั้งจากน้ำทะเลและจากคลองพลุแตรแต แม่น้ำสายบุรี มีความเหมาะสมในการสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน ที่ดินเป็นของเอกชนขนาดเนื้อที่ 2,600 ไร่ มีนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
ทั้งนี้รายงานยังระบุด้วยว่า โดยทั่วไป ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับกับการก่อสร้างโครงการและคาดหวังว่าจะทำให้ชุมชนมีความเจริญ ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น แต่ก็ยังกังวลต่อมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากโรงไฟฟ้า
ส่วนปัญหาด้านความปลอดภัยจากภัยการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ยังไม่สามารถคาดหวังได้เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาแหล่งเงินทุน
ส่วนการพิจารณาด้านความมั่นคงนั้น ในรายงานระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่รวมทั้งจะเป็นโครงการที่นำความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคมขนส่ง การค้าและอุตสาหกรรมเข้ามาสู่ในพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ปัญหาการก่อความไม่สงบที่มีสาเหตุสำคัญมาจากความยากจน มีน้อยลงหรือหมดไป รัฐบาลจึงควรสนับสนุนโครงการนี้เป็นกรณีพิเศษ
ภายหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นอกจากจะมีการสั่งชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าปานาเระออกไปก่อน ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความเห็นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้ให้ความเห็นไว้ในการประชุมหารือ สรุปได้นี้
(1) โครงการฯ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ จึงเข้าข่ายตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 (รายงาน EHIA)
ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงาน EHIA จะต้องดำเนินการขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยควรพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยควรพิจารราดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ
(2) ควรพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการให้ครอบคลุมทั้งทางด้านทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวลล้อม ด้ารเศรษฐกิจขสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านความมั่นคงและความปลอดภัย รวมทั้งกฎหมายข้อกำหนด และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
(3) ควรพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีและความรู้ด้านเทคนิคที่ดีสุด และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดควบคู่ไปด้วย
(4) การดำเนินการในลักษณะไตรภาคี ควรเป็นคณะทำงานระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ได้มีสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี พ.ศ. 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี พ.ศ. 2564 และปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับการใช้ถ่านหินเป็นเพลิงผลิตไฟฟ้า ลดการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในแผน PDP 2015 อาจเป็นการเพิ่มกระแสการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแผน PDP 2015 เป็นอันดับแรกก่อน
ขอบคุณภาพประกอบ Somporn Chuai-Aree