สตง.แจ้ง ผู้ว่าฯ กกท. ตั้ง กก.สอบ จนท.จ้างรับเหมาถนน-ท่อฯ 4.3ล. ‘ราคาสูง-ผิดแบบ’
‘สตง.’ ส่งเรื่อง ‘ผู้ว่าการ กกท.’ ตั้ง กก.สอบเจ้าหน้าที่ ปมจ้างผู้รับเหมาปรับปรุงถนน-ท่อระบายน้ำ 4.3 ล้านบาท พบเอาราคากลางปี 57 มากำหนด สูงเกินจริง – ก่อสร้างผิดแบบหลายรายการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือถึง นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ระบุ สตง. ได้ตรวจสอบงานจ้างปรับปรุงถนน และระบบระบายน้ำจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ ถึง อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา โดย ผู้ว่า สตง. พิจารณาแล้วเห็นควรให้ผู้ว่าฯ กกท. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการทางวินัยกับคณะกรมการตรวจการจ้าง และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่อไป รวมทั้ง กรณีการปรับลดงานที่อาจทำให้งานก่อสร้างไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมหรือไม่ อย่างไร
หนังสือดังกล่าว ระบุสาระสำคัญว่า สตง. โดย สำนักตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 1 ได้ตรวจสอบงานจ้างดังกล่าว ตามสัญญาเลขที่ 73/2558 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2558 จากการตรวจสอบพบข้อสังเกต ดังนี้
1.คณะกรรมการกำหนดราคากลางใช้ราคากลางของเมื่อ 27 ก.ย. 2557 วงเงิน 5 ล้านบาท มากำหนด โดยไม่มีการพิจารณาทบทวนให้เป็นปัจจุบัน ทำให้ราคาเริ่มต้นในการประมูลสูงกว่าที่ควร เป็นเงิน 670,886.74 บาท จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ แนวทางและวิธีปฏิบัติข้อ 4 และข้อ 18
2.การดำเนินการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 เม.ย. 2558 ปรากฏชื่อ ‘บริษัท แอดวานซ์ ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด’ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 4,338,000 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 662,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 15.26 ทว่า คณะกรรมการฯ ไม่ได้ส่งรายละเอียดการคำนวณราคากลางการก่อสร้าง กรณีผู้เสนอราคาต่ำกว่าเกินร้อยละ 15 ให้กับ สตง. ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ แนวทางและวิธีปฏิบัติ ข้อ 17.2
3.เจ้าหน้าที่พัสดุ กำหนดความรับผิดชอบในเรื่องความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง ตามสัญญา “ข้อ 8. เมื่องานแล้วเสร็จ และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง หากมีเหตุชำรุดบกพร่อง หรือเสียหายเกิดขึ้นจากงานจ้างนี้ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ผู้รับจ้างจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้า..” ทั้งนี้ งานก่อสร้างถนนจะต้องมีการรับประกันความชำรุดบกพร่องเสียหาย 2 ปี แต่การที่เจ้าหน้าที่ฯ กำหนดเพียง 1 ปี จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน หรือลดโอกาสในการสมยอมกันในการเสนอราคา
4.ตามข้อกำหนดในสัญญา รายการที่ 2 งานท่อระบายและบ่อพัก ระบุใช้คอนกรีตหยาบรองท่อ หนา 0.1 ม. กว้าง 1.4 ม. ยาวตลอดแนวท่อระบายน้ำ และมีคอนกรีตล็อคข้างท่อ สูง 0.25 ม. จำนวน 23 ลบ.ม. เทตลอดความยาวท่อทั้งหมด แต่จากการตรวจสอบพบว่า ผู้รับจ้างได้ขออนุมัติลดงานเทคอนกรีตหยาบ โดยใช้แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป หนา 0.05 ม. กว้าง 0.35 ม. ยาวตลอดท่อระบายน้ำแทน โดยไม่มีการเทคอนกรีตล็อคข้างท่อตลอดแนว ดังนั้น การที่ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบตามที่เสนอ และขออนุมัติผู้ว่าฯ กกท. ปรับลดงานในกรณีดังกล่าว นั้น อาจทำให้ กกท. ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ซึ่งอาจทำให้งานที่ก่อสร้างไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และเป็นการลดงานที่ไม่เป็นประโยชน์กับ กกท. อีกทั้ง เป็นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่ไม่เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด
5.ผู้รับจ้างก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการข้อกำหนดสัญญา ดังนี้
5.1) งานทำผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) สัญญากำหนด ทรายบดอัดแน่น หนา 0.05 ม. เหล็ก Dowel Bar 25 มม. ยาว 0.5 ม. ระยะห่าง 0.3 ม. ของ Contraction Joint จากการตรวจสอบพบว่า การเสริมเหล็ก Dowel Bar รอยต่อถนนตามขวางไม่เป็นไปตามระยะที่กำหนด จำนวน 16 รอยต่อ (ประมาณ 160 ม. ของความยาวถนน) โดย จุด station 0+195 ฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ทรายบดอัดแน่น หนา 0.04 ม. และเหล็ก Dowel Bar ยาว 0.5 ม. ระยะห่าง 0.6 ม. ,จุด station 0+340 ฝั่งซ้าย (สนามยิงเป้าบิน) และฝั่งขวา (สนามแข่งขันจักรยาน) ทรายบดอัดแน่น หนา 0.04 ม. และเหล็ก Dowel Bar ยาว 0.25 ม. ระยะห่าง 0.6 ม. และ จุด station 0+370 ฝั่งขวา (สนามแข่งขันจักรยาน) เหล็ก Dowel Bar ยาว 0.25 ม. ระยะห่าง 0.6 ม.
5.2) ระยะห่างรอยต่อเพื่อขยายตัว สัญญากำหนด ยาว 40 ม. กว้างไม่น้อยกว่า 2 ซม. จากการตรวจสอบพบว่า ระยะห่างรอยต่อจุดแรก 70 ม.จุดที่สอง 30 ม. โดยรอยต่อ กว้าง 1.5 ซม.
ดังนั้น การที่ผู้ควบคุมงานไม่ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามหลักวิชาช่าง เพื่อให้เป็นไปตามแบบและข้อกำหนดในสัญญา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ กกท. ฉบับที่ 22 ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2542 ข้อ 78 คณะกรรมการฯ เมื่อเห็นว่า งานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างส่งมอบไม่เป็นไปตามแบบและข้อกำหนดในสัญญาก็ไม่ได้รายงานให้ผู้ว่าฯ กกท. ทราบ แต่กลับดำเนินการตรวจรับมอบงาน ว่า ถูกต้อง และเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ กกท. ฉบับที่ 22 ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2542 ข้อ 77 และการที่จำนวนเหล็ก Dowel Bar ลดลงจากแบบ อาจทำให้มาตรฐานความมั่นคงแข็งแรงลดลง ก่อให้เกิดความเสียหายจากใช้งานเร็วขึ้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ และแจ้งผลให้ สตง. ทราบภายใน 60 วัน ตามนัยมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่น พ.ศ. 2542
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท แอดวานซ์ ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 30 มี.ค. 2544 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ อาคารที่พกอาศัย งานโยธาทุกชนิด มีที่ตั้งสำนักงานเลขที่ 147 ถ.สุขุมวิท ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้า วันที่ 19 ส.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวพยายามโทร.ติดต่อ นายสกุล วรรณพงษ์ ผู้ว่าฯ กกท. จำนวนหลายครั้ง เพื่อสอบถามถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว รวมถึง ได้รายงานผลให้ สตง. รับทราบแล้วหรือยัง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากอยู่ที่บราซิล ซึ่งมีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ริโอ 2016