ชะตากรรมคนชายแดนใต้...หนีระเบิด-ยางถูกเข้ากรุงหางานทำ
ราคายางพาราที่ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศต้องเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวสวนจากชายแดนใต้ที่ทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก และทำแบบพอเพียง ไม่ได้ทำแบบนายทุน
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายครอบครัวต้องหาอาชีพเสริม หลายครอบครัวต้องให้ลูกคนโตหยุดเรียนหนังสือ เพื่อออกมาทำงานส่งน้องเรียน และอีกจำนวนมากที่ต้องเปลียนอาชีพไปทำอย่างอื่น บางรายถึงขนาดยอมทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อไปหาอาชีพใหม่นอกพื้นที่
โดยกรุงเทพมหานครก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง...
ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นจากชายแดนใต้ที่เคยข้ามไปทำงานร้านต้มยำ และรับจ้างต่างๆ ในประเทศมาเลเซียนั้น เมื่อค่าเงินริงกิตตกต่ำ และฝ่ายความมั่นคงเริ่มคุมเข้มจากปัญหาภัยคุกคามจากกลุ่มไอเอส ทำให้การเดินทางไปทำงานฝั่งมาเลย์ยากเย็นขึ้นกว่าแต่ก่อน
วันนี้ในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลจึงมีชุมชนของพี่น้องมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาปักหลักอาศัยอยู่ไม่น้อย ไม่ได้มีเพียงแค่หน้ารามฯ หรือหนองจอกตามที่บางฝ่ายเข้าใจ
เช่น ชุมชนย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่มีคนจากชายแดนใต้มาตั้งรกรากอยู่นับร้อยครอบครัว...
อยู่บ้านไม่พอกิน
อุสมาน (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 30 ปีจากยะลา ตัดสินใจพาภรรยาและลูกอีก 2 คนเข้ากรุงเทพฯ เพราะทนไม่ไหวกับปัญหาราคายางตกต่ำสุดๆ
“ยางราคาถูกมาก ขนาดเรามีลูก 2 คนยังเล็ก และยังไม่ได้เข้าเรียน ยังไม่พอกิน กรีดยางได้วันละไม่ถึง 200 บาทแล้วจะอยู่อย่างไร ค่าน้ำค่าไฟ ค่านมลูก ข้าวสาร ค่าใช้จ่ายรวมๆ แล้วเกิน 200 ต่อวัน ขนาดเรามีส่วนยางเป็นของตัวเองยังแย่ขนาดนี้ แล้วคนอื่นที่รับจ้างเขากรีดล่ะคงแย่ยิ่งกว่า หนำซ้ำยังมีลูกหลายคน และลูกเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเรา”
“ตอนนั้นก็มานั่งคิดและปรึกษากับแฟนว่าเราต้องยอมลำบากกว่านี้ โดยขึ้นไปหางานในกรุงเทพฯ ตอนแรกมาคนเดียวก่อน พอได้งานทำที่โรงงานผลิตเครื่องแทบเล็ต ได้ที่อยู่ที่พัก ก็กลับไปรับแฟนกับลูกมาอยู่ที่กรุงเทพฯด้วยกัน สาเหตุที่เลือกมากรุงเทพฯ เพราะที่นี่มีงานให้ทำมากกว่าที่บ้าน ดีกว่าไปมาเลเซีย เพราะตอนนี้เงินมาเลย์ถูกมาก”
ผู้ชายเป็นยาม-ผู้หญิงรับจ้าง
ตำแหน่งงานที่ว่างรองรับหนุ่มฉกรรจ์จากปลายด้ามขวาน คือยามรักษาความปลอดภัย
“แรกๆ ขึ้นมาก็มาสมัครเป็นยาม (พนักงานรักษาความปลอดภัย) ได้วันละ 450 บาท ส่วนแฟนรับจ้างแปะสติ๊กเกอร์ข้างขวด เขาจ้างเป็นถุงๆ ถุงละ 30 บาท ทำมากได้มากแล้วแต่ความขยัน ก็พออยู่ได้ ดีกว่าอยู่ที่บ้าน ตอนนี้มีรายได้รวมทั้ง 2 คนกว่า 500 บาท ใช้จ่ายประจำวัน 300 กว่าบาท ที่เหลือเก็บเป็นค่าหมอเผื่อเจ็บป่วย ก็ถือว่าดีกว่าอยู่ที่บ้านมากเลย ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ทุกข์ แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับชีวิต”
“มาอยู่ที่นี่ได้ปีกว่าแล้ว เป้าหมายแรกแค่ต้องการมีเงินเลี้ยงลูก เลี้ยงแฟน ราคายางแพงเมื่อไหร่ก็ตั้งใจจะกลับไปกรีดยางเหมือนเดิม ถึงตอนนั้นก็คงมีเงินเก็บกว่านี้ แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่ว่ายางจะมีราคาดีกว่านี้ แต่ก็ยังมีความหวังว่ามันจะดีขึ้น”
ต่างภาษาคืออุปสรรค
ปัญหาของพี่น้องจากชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่เป็นคนมลายูมุสลิม คือ พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้
“แรกๆ ตอนที่มาใหม่ๆ ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ลูกพูดภาษาไทยไม่ได้เลย เขาเลยไม่ไปโรงเรียน เราก็สงสารลูก ก็เลยสอนให้เขาพูดที่บ้านก่อน ปีหน้าคิดว่าเขาคงสามารถเข้าเรียนได้เหมือนเพื่อน เพราะวันนี้เขาสามารถพูดได้บ้างแล้ว เช่น จะกินข้าว จะเข้าห้องน้ำ หรือจะไปไหน ต้องการอะไร”
ในความเห็นของ อุสมาน ชีวิตวันนี้ของทั้งตัวเขาและคนจากชายแดนใต้ เป็นเสมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจริงๆ
“เราเหมือนเจอศึกหนักมาหลายปีแล้ว จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวัน ชาวบ้านไม่กล้าออกไปกรีดยางเวลากลางคืน ก็ต้องเปลี่ยนเวลามากรีดตอนเช้า การกรีดตอนเช้าต้องใช้เวลาให้สั้นลง จึงไม่สามารถทำยางแผนได้ ทำได้แค่เศษยางหรือขี้ยาง เมื่อก่อนขี้ยางราคาดี ทำให้คนในภาคใต้พออยู่ได้ แต่ทุกวันนี้ยางราคาตกต่ำมาก ทำให้ขี้ยางยิ่งถูก ไม่มีบ้านไหนที่ไม่บ่นเรื่องราคายาง บนเรื่องรายได้ไม่พอกับรายจ่าย”
อุสมาน บอกทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราให้เร็วที่สุด เนื่องจากตอนนี้ชาวบ้านอยู่กันไม่ได้แล้ว ปัญหาปล้นจี้ก็มีมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
หอบลูกเข้ากรุง
อามีนะห์ ภรรยาอุสมาน เล่าว่า เมื่อก่อนอยู่ที่บ้านเครียดมาก เพราะยางถูก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย
“ลองคิดดู ทำงานได้วันละไม่ถึง 200 บาท 4 ชีวิตจะอยู่อย่างไร สามีชวนขึ้นมาหางานที่กรุงเทพฯ เลยตัดสินใจทันทีแบบไม่คิดมากเลย พาลูกๆ ทั้ง 2 คนมาด้วย เพราะที่บ้านไม่มีใครช่วยเลี้ยง เราต้องพามา โชคดีทีได้งานที่สามารถนำมาทำที่บ้านได้ คืองานติดสติ๊กเกอร์ข้างขวด”
“เฉพาะย่านนี้มีคนจากพื้นที่ชายแดนใต้ขึ้นมาทำงานร้อยกว่าครอบครัว บางคนมาคนเดียว บางคนพาครอบครัวมา ส่วนใหญ่งานที่ได้รับความนิยมและมีคนรับเข้าทำงานก็จะเป็นงาน รปภ.หรือยาม และงานโรงงาน”
ต้องอยู่หลบๆ ซ่อนๆ
อับดุลเลาะ สามะ เด็กหนุ่มวัย 25 ปีจากปัตตานี บอกว่า มาทำงานที่กรุงเทพฯเป็น รปภ.ของโรงงานแถวบางบัวทอง ขณะนี้อยู่มาได้ 4 เดือนแล้ว เมื่อก่อนทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายข้าวที่มาเลเซียอยู่หลายปี
“แต่พอราคายางถูก ลูกค้าที่ร้านน้อยลง ทำให้รายได้ของเด็กเสิร์ฟอย่างเราก็ลดลงด้วย เพราะร้านที่เราอยู่ เขาต้องจ้างเราน้อยลง พอรายได้เราน้อยลง ก็กระทบ มากเพราะทุกเดือนต้องเดินทางข้ามมาที่ชายแดนเพื่อมาจ๊อบพาสปอร์ต เนื่องจากเราไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกกฎหมาย ทำให้ต้องหมดเงินกับการเดินทางในส่วนนี้ สุดท้ายเลยชวนเพื่อนกลับมาหางานที่กรุงเทพฯ"
“มาอยู่กรุงเทพฯ ได้เป็น รปภ. เขาให้วันละ 450 บาท ทำวันละ12ชั่วโมง งานเป็นยามหนักกว่างานเสิร์ฟ แต่ก็สบายใจกว่า สามารถไปได้ทุกที่ที่อยากไป (ทำงานมาเลย์แบบผิดกฎหมาย เดินทางไปไหนไม่ได้) เงินที่ได้มาก็สามารถเอามาใช้จ่ายและส่งให้ครอบครัวได้มากกว่าอยู่มาเลเซีย งานสบายแต่ต้องอยู่แบบหลบๆ เพราะไม่ได้เข้าไปทำงานอย่างถูกกฏหมาย”
คนภาคอื่นเห็นใจคนภาคใต้
สมพงษ์ จันทร์เจ้า คนขับแท็กซี่ซึ่งไม่ใช่คนสามจังหวัดใต้ บอกว่า 2 ปีที่ราคายางพาราตกต่ำ เห็นคนจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาทำงานในโรงงาน และเป็น รปภ.จำนวนมาก ต่างจากเมื่อก่อนที่งานเหล่านี้เป็นของคนที่มาจากภาคอื่น ไม่ใช่ภาคใต้
“รู้สึกเห็นใจคนภาคใต้นะ ต้องเจอกับเหตุการณ์ความไม่สงบแล้วยังต้องมาเจอราคายางถูกอย่างหนักอีก จริงๆ ทุกคนทุกพื้นที่กระทบหมดตอนนี้ เพราะเศษรฐกิจบ้านเราแย่ไปทุกด้าน แต่คิดว่าคนแถวภาคใต้กระทบหนักกว่าคนภาคอื่น” โชเฟอร์แท็กซี่รายนี้บอก
นี่คือชะตากรรมของพี่น้องมลายูมุสลิมจากชายแดนใต้ที่วันนี้กลายเป็นฝ่ายต้องทิ้งถิ่นฐานเข้ากรุงหางานทำ...
แรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ทำให้ทัศนคติของคนทั่วไปมองคนจากชายแดนใต้อย่างไม่ไว้วางใจนัก
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการนำเสนอข่าวแบบเหมารวม และการวิเคราะห์วิจารณ์แบบเหวี่ยงแห
อย่าให้เรื่องร้ายๆ แบบนี้ซ้ำเติมคนชายแดนใต้อีกเลย...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หญิงสาวมลายูมุสลิมจากชายแดนใต้ นั่งติดสติ๊กเกอร์ข้างขวดสินค้า โดยมีลูกชายนอนหนุนตัก ซึ่งเป็นงานรับจ้างที่เธอทำได้เองที่บ้าน หลังอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ