แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย
วันที่ 17 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ
2. มอบหมายให้ สธ.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 -2564 เป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกของไทยที่เน้นการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ และเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในระดับโลก และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High Level Meeting on Antimicrobial Resistance) ภายใต้การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly : UNGA) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 กันยายน 2559 นี้ โดยแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยา และความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน
และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน