ต้องชดใช้ 139 ล.! ชำแหละพฤติการณ์ ‘คนรับงาน’ ส.จ.ซื้อปุ๋ยแจกบุรีรัมย์ปี’58
เปิดครบพฤติการณ์ ‘อิทธิกร ญาณธร’ คนรับงาน ‘ส.อบจ.’ ซื้อปุ๋ยแจกเกษตรกรปี’58 หลังโครงการถูกระงับแล้ว พบดีลกับเกษตรอำเภอก่อนแจก เอกชนไม่เคยทำสัญญาโดยตรง-ไม่เคยทำหนังสือมอบอำนาจให้ทวงหนี้ เผยก่อนซื้อปุ๋ยตกลงจะผ่อนจ่ายเป็นงวด ดังนั้นต้องรับผิดชอบทั้งหมด รวมวงเงิน 139.4 ล้าน
"ผมเป็นตัวแทนขายปุ๋ยของบริษัททรัพย์รุ่งเรืองธุรกิจเกษตร จำกัด ในพื้นที่บุรีรัมย์อยู่แล้ว อยู่มาวันหนึ่ง ก็ได้รับการต่อติดจากบุคคลคนหนึ่ง ให้เข้าไปช่วยดูแลรับปุ๋ยจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ และนำไปส่งมอบให้กลุ่มเกษตรกร ตามรายชื่อที่แจ้งมาให้ โดยได้รับค่าคอมมิสชั่นตอบแทนจำนวนหนึ่ง"
เป็นคำยืนยันจากปากของนายอิทธิกร ญาณธร เจ้าของร้านจำหน่ายปุ๋ย เอ็น เอส เจ กรุ๊ป จำกัด ต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ภายหลังรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริง ที่ถูกตั้งโดยนายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าฯ จ.บุรีรัมย์ กรณีโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ (แจกปุ๋ยอินทรีย์) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ในงบประมาณปี 2558 ที่ถูกตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ
ขณะที่นายอิทธิกร ถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวแทนผู้รับปุ๋ยจาก หจก.พี ภูตะวัน 2006 และบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองธุรกิจการเกษตร จำกัด โดยคณะกรรมการฯ เชื่อได้ว่า นายอิทธิกร ได้รับการประสานงานจากนายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ส.อบจ.บุรีรัมย์ ในการเข้าไปรับปุ๋ยจากบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายเกษตรกรดังกล่าว
ทั้งนี้ในการชี้แจงดังกล่าว นายอิทธิกร ไม่สามารถบอกชื่อคนที่ติดต่อให้เข้าไปช่วยรับปุ๋ยไปแจกจ่ายเกษตรกรได้ ?
(อ่านประกอบ : แค่ช่วยส่งสินค้าแลกค่าคอมฯ! เปิดคำให้การ'คน'รับงาน สจ.ขนส่งปุ๋ยบุรีรัมย์ฉาว!)
หลายคนอาจสงสัยว่านายอิทธิกรมีวิธีการดำเนินงานอย่างไร ถึงไปรับปุ๋ยจาก 2 เอกชนดังกล่าว ไปแจกเกษตรกรทั้ง 17 อำเภอทั่ว จ.บุรีรัมย์
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปพฤติการณ์ของนายอิทธิกร ในรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการฯดังกล่าว ดังนี้
สำหรับนายอิทธิกร ถูกระบุว่า เป็นตัวแทนไปรับปุ๋ยจาก หจก.พี ภูตะวันฯ และบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ ในพื้นที่ทั้งหมด 17 อำเภอ ได้แก่ อ.กระสัง อ.คูเมือง อ.แคนดง อ.สตึก อ.พุทไธสง อ.นาโพธิ์ อ.เมืองบุรีรัมย์ อ.บ้านด่าน อ.ห้วยราช อ.ลำปลายมาศ อ.ประโคนชัย อ.โนนดินแดง อ.ละหานทราย อ.บ้านกรวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ และ อ.ชำนิ
ขณะที่คณะกรรมการฯ สรุปตรงกันหมดว่า ในพื้นที่ทั้ง 17 อำเภอ ที่นายอิทธิกร เข้าไปรับปุ๋ยจากเอกชนทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ทางกลุ่มเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญากับเอกชนทั้ง 2 แห่งโดยตรง มีเพียงใบส่งสินค้า และใบรับสินค้าเท่านั้น และไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินในการจัดซื้อปุ๋ยดังกล่าว มีเพียงนายอิทธิกรที่มีลักษณะเป็น ‘คนกลาง’ เข้าไปประสานจากเอกชน 2 แห่งดังกล่าวในการไปรับปุ๋ย และไปมอบแก่กลุ่มเกษตรกร
โดยในขั้นตอนการรับปุ๋ยนั้น บริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ และ หจก.พี ภูตะวันฯ ให้การทำนองว่า ไม่เคยติดต่อซื้อขายปุ๋ยอินทรีย์กับกลุ่มเกษตรกรใน จ.บุรีรัมย์ มาก่อน ไม่เคยเป็นคู่สัญญาโดยตรงแต่อย่างใด มีเพียงใบสั่งซื้อสินค้าและใบส่งสินค้าที่ได้ให้ตัวแทนเกษตรกรลงชื่อเพื่อรับสินค้าเท่านั้น
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ให้การตรงกันทำนองว่า ไม่เคยได้ทำสัญญาซื้อขายกับเอกชนทั้งหมด 4 แห่ง (รวม หจก.ดีสิงห์ทวีโชค และบริษัท สยามออแกนิคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เอกชนอีก 2 รายที่มีชื่อการขายปุ๋ยให้กับเกษตรกร) แต่อย่างใด
โดยเอกชนทั้ง 2 แห่ง ได้รับการติดต่อจากนายอิทธิกร ในการประสานงานซื้อขายปุ๋ยอินทรีย์ และไปรับปุ๋ยไปส่งมอบให้กลุ่มเกษตรกร โดยตัวแทนกลุ่มเกษตรกรได้ลงชื่อรับมอบปุ๋ยอินทรีย์ในใบส่งสินค้า ซึ่งได้มีการรับมอบปุ๋ยอินทรีย์ตามโครงการไว้
โดยเฉพาะบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ ระบุว่า นายอิทธิกรเป็นผู้มาติดต่อและทำสัญญาโดยตรง และไม่ทราบว่านำไปขายต่อให้กับผู้ใดหรือไม่ อย่างไร ส่วนที่มีชื่อบริษัทในการทวงถามค่าปุ๋ยจากเกษตรกร เพราะได้รับการร้องขอจากนายอิทธิกรว่า เก็บค่าปุ๋ยไม่ได้ จึงขอใช้ชื่อบริษัทในการทวงถาม โดยที่บริษัทไม่ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้แต่อย่างใด และบริษัทไม่เคยได้ติดต่อกับ อบจ.บุรีรัมย์ นายก อบจ.บุรีรัมย์ และรองนายก อบจ.บุรีรัมย์ แต่อย่างใด
นอกจากนี้การดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ได้แจ้งให้ อบจ.บุรีรัมย์ ทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ก่อน ตามหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ อบจ.บุรีรัมย์ ไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายโครงการในปีงบประมาณปี 2558 และเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ต่อมาช่วงเดือน มิ.ย. 2558 (ภายหลังโครงการดังกล่าวถูกระงับแล้ว) นายอิทธิกร ซึ่งเป็นผู้ค้าปุ๋ยอินทรีย์ตามโครงการดังกล่าวของ อบจ.บุรีรัมย์ ได้ไปรับปุ๋ยอินทรีย์จากโรงงานของบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ และประสานงานกับเกษตรอำเภอ ในการนำปุ๋ยอินทรีย์มาส่งให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โดยได้นำใบสั่งซื้อและใบส่งสินค้ามาให้ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรลงชื่อเพื่อรับสินค้า
ต่อมาปรากฏว่า มีหนังสือร้องเรียนของบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ มาทวงถามเงินค่าปุ๋ยอินทรีย์จาก นายอดุลย์ กองชนะ ผอ.กองการพัฒนาคุณภาพชีวิต อบจ.บุรีรัมย์ (ปัจจุบันลาออกแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้) และนายโกวิทย์ (สตง. ระบุว่า เป็นคนมีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการดังกล่าว เป็นเงินค่าปุ๋ยกระสอบละ 240 บาท/กระสอบ รวมความเสียหายกว่า 157 ล้านบาท) แต่ปรากฏว่าทั้ง 2 ราย ปฏิเสธในการจ่ายเงินสินค้า โดยอ้างว่า ผู้ว่าฯ จ.บุรีรัมย์ ไม่อนุมัติโครงการ ให้บริษัทไปเก็บเงินค่าปุ๋ยจากเกษตรกรเอง อบจ.บุรีรัมย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
หลังจากนั้นนายอิทธิกร จึงทำใบแจ้งหนี้/ทวงหนี้ในนามของบริษัทไปยังกลุ่มเกษตรกร โดยกรณีนี้บริษัทไม่ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้แต่อย่างใด
ดังนั้นสรุปได้ว่า นายอิทธิกร ซึ่งเป็นผู้ไปติดต่อสั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์จากบริษัทตามโครงการดังกล่าว ทั้งที่ทราบว่า สตง. ได้มีการทักท้วงโครงการ และผู้ว่าฯ จ.บุรีรัมย์ ได้มีการชะลอโครงการไว้ก่อน แต่นายอิทธิกรยังไปรับปุ๋ยอินทรีย์จากบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ มาดำเนินการจัดส่งให้กับกลุ่มเกษตรกรด้วยตัวเอง ประกอบกับก่อนที่จะไปรับสินค้านั้น ได้มีการตกลงกันว่าให้มีการจ่ายเงินกันเป็นงวด ๆ ดังนั้น นายอิทธิกร จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าปุ๋ยอินทรีย์ให้กับบริษัท
ส่วนการดำเนินการกับ หจก.พี ภูตะวันฯ มีลักษณะเดียวกัน โดยเอกชนทั้ง 2 แห่งได้ทำหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
อย่างไรก็ดีในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ หจก.พี ภูตะวันฯ นายชินวัตร ศรรักษา หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ดังกล่าว ได้ขอถอนเรื่องร้องเรียน โดยอ้างว่า เป็นการสำคัญผิดในบางข้อเท็จจริง แต่ไม่ปรากฏลายมือชื่อของ น.ส.สุนันท์ สิงห์สา หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ดังกล่าว ที่ร้องเรียนในประเด็นเดียวกันแต่อย่างใด
ส่วนบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ นายโกสินทร์ ผู้รับมอบอำนาจบริษัทดังกล่าว มีหนังสือขอถอนเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเช่นกัน โดยอ้างว่า นายสิทธิกร ได้ติดต่อขอเจรจาตกลงที่จะชำระหนี้และมีการทำสัญญายอมรับสภาพหนี้ไว้แล้ว
สำหรับเอกชนทั้ง 2 แห่ง ถูกนายอิทธิกรซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไปทั้งหมด แบ่งเป็น หจก.พี ภูตะวันฯ 31,500 กระสอบ บริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ 317,000 กระสอบ โดยราคาที่ถูกระบุในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า 400 บาท/กระสอบ
ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่นายอิทธิกรจะต้องชดใช้คือ 139,400,000 บาท
ส่วนเหตุผลสำคัญ และ ‘บุคคล’ ที่มาติดต่อให้นายอิทธิกรเข้าไปช่วยดูแลรับปุ๋ยอินทรีย์ไปส่งเกษตรกรดังกล่าวคือใคร คงต้องรอผลการตรวจสอบต่อไป !
อ่านประกอบ :
แจกหลังเลิกโครงการ-เกษตรกรไม่ต้องจ่าย! ผลสอบฉบับเต็มปมปุ๋ยฉาว อบจ.บุรีรัมย์
ก.เกษตร ขยับสอบปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! พลิกจว.ตามหา'ผอ.'พัวพันคดีหายตัวปริศนา
ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.
ขมวดปม!คดีปุ๋ยบุรีรัมย์ 328 ล. ฟันส่วนต่าง 240 บ.-เอกชนฟ้องชาวบ้านนัวเนีย ใครรับผิดชอบ?
ซัดคนชั่วร้าย ทำผู้อื่นเดือนร้อน!ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ยันอนุมัติงบปุ๋ย328 ล.โดยสุจริต
แจกหลังเลิกโครงการ-เกษตรกรไม่ต้องจ่าย! ผลสอบฉบับเต็มปมปุ๋ยฉาว อบจ.บุรีรัมย์