ย้อนรอยระเบิดนอกชายแดนใต้ ระวังโจทย์ใหม่ส่งออกมือป่วน
แม้ในทางการสืบสวนของตำรวจและฝ่ายความมั่นคงจะตั้งประเด็นที่น่าจะเป็นชนวนเหตุของการลอบวางระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้เอาไว้ถึง 4 ประเด็น ได้แก่
1.กลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาล 2.กลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนใต้ 3.กลุ่มเสียประโยชน์จากนโยบายรัฐ และ 4.กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ
แต่ก็เป็นที่รู้กันวงในว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลตัดเหลือเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น คือ ฝีมือของกลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล กับการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบจากชายแดนใต้
หากฟังสุ้มเสียงของผู้รับผิดชอบเบอร์ 2 ของรัฐบาลและคสช. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะพบว่าผู้มีอำนาจให้น้ำหนักประเด็นไฟใต้ขยายวงน้อยกว่าประเด็นการเมือง
“ผมมั่นใจว่าไม่ใช่การขยายพื้นที่ของผู้ก่อเหตุจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาจจะมีคนจากทางสามจังหวัดฯเป็นคนเอามาทำ แต่ทำเรื่องอะไรผมไม่รู้” รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าว
เมื่อนักข่าวถามต่อว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่จะว่าจ้างคนจากสามจังหวัดใต้ขึ้นมาก่อเหตุ พล.อ.ประวิตร บอกว่า “อาจจะเป็นไปได้ แต่อย่าเพิ่งไปเจาะจงอะไรมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัย”
ข้อสันนิษฐานเรื่องกลุ่มก่อความไม่สงบจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการ กลายเป็นปมร้อนขึ้นมาเมื่อมีนักวิเคราะห์จากต่างประเทศระบุว่า “บีอาร์เอ็น” คือกลุ่มติดอาวุธกลุ่มเดียวในเมืองไทยที่มีศักยภาพก่อเหตุระดับนี้ได้
เมื่อพิจารณาประกอบกับลักษณะของระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก และรูปแบบการก่อเหตุที่ใช้วิธีการสร้างสถานการณ์หลายๆ จุดในเวลาใกล้เคียงกัน จึงยิ่งคล้ายคลึงกับเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
ข้อสังเกตนี้ตรงใจกลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่า เหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้เป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งมีทั้งไม่เชื่อโดยสุจริตใจ และไม่เชื่อแบบตั้งธงล่วงหน้า จึงมีการขยายประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง
ยิ่งเมื่อมีการตรวจพบว่าโทรศัพท์มือถือที่คนร้ายใช้ในการจุดระเบิดแทบทุกจุด คือมือถือยี่ห้อ "ซัมซุง ฮีโร่" ที่สั่งซื้อจากมาเลเซีย ยิ่งทำให้หลายคนฟันธงว่า เหตุระเบิดเที่ยวนี้เป็นฝีมือบีอาร์เอ็นแน่นอน
ร้อนถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องออกมาช่วยสยบข่าวนี้อีกแรง โดยย้ำว่าแม้อุปกรณ์ประกอบระเบิดจะคล้ายคลึงกับที่มีใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น
“อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบระเบิด อย่างสายไฟ แผงวงจร จะไปหาซื้อที่ไหนก็ได้ เหมือนซื้อรองเท้าฟองน้ำ สามารถไปหาซื้อที่ไหนก็ได้” ผบ.ตร.กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.59
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ระเบิดแสวงเครื่องหลายๆ จุดไม่เกิดระเบิด เพราะการต่อวงจรไม่สมบูรณ์ เป็นความผิดพลาดจริงๆ หรือจงใจทิ้งหลักฐานไว้เพื่อให้เป็นเบาะแสลวง...
จะว่าไปการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุระเบิดป่วนภาคใต้ 7 จังหวัดเป็นการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น นับว่าอ่อนไหวอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐไทยกำลังมีปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากกลุ่มขบวนการที่อ้างว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน
เพราะหากไม่เป็นความจริง ก็เท่ากับเป็นการช่วยโฆษณาให้บีอาร์เอ็นโดยไม่ต้องลงแรง กลายเป็นการสร้างภาพให้บีอาร์เอ็นดูเข้มแข็งกว่าความเป็นจริง และหากมองในมิติการพูดคุยเจรจา ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้บีอาร์เอ็นไปในตัว
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันจากปัญหายาพาราราคาตกต่ำ ทำให้คนจากสามจังหวัดซึ่งมีอาชีพหลักในการทำสวนยางพารา และส่วนใหญ่ทำแบบพอเพียง พื้นที่ไม่กี่ไร่ ต้องขาดรายได้ในการดำรงชีพ จึงต้องอพยพไปทำงานนอกพื้นที่จำนวนมาก
ทั้งเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต กระบี่ หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือแม้แต่ขับแท็กซี่
การวิจารณ์หรือการเสนอข่าวแบบเหมารวมโดยไม่แยกแยะว่าใคร กลุ่มไหนกันแน่ที่ก่อความรุนแรง อาจส่งผลให้ประชาชนในภูมิภาคอื่นมองคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่ลบมากขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบทั้งเรื่องการหางานทำ และการอพยพย้ายถิ่นฐาน
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีคนจากภาคใต้ตอนล่างเข้าร้องทุกข์กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีถูกบังคับเลิกจ้างจากบริษัทซับคอนแทรคที่รับงานในท่าอากาศยาน
นี่คือกรรมของคนสามจังหวัดใต้จากปัญหาที่เกิดขึ้น!
สิ่งที่พึงพิจารณาก็คือ คนมุสลิมจากสามจังหวัดใต้ ไม่ได้เป็นแนวร่วมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทั้งหมด แต่มีเพียงบางส่วน และเป็นส่วนน้อยเท่านั้น คนทั่วๆ ไปล้วนเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต
ในทางกลับกัน กลุ่มติดอาวุธหรือกลุ่มนิยมความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ไม่ได้มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรือต้องสังกัดขบวนการก่อความไม่สงบเท่านั้น เพราะจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อ ทำให้อาวุธหาง่าย หลายคนก็ตั้งตนขึ้นมาเป็นกลุ่มติดอาวุธรับจ้าง ขณะที่นักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดนจำนวนหนึ่งก็เริ่ม “แตกแถว” เพราะต่อสู้มานานยังไม่ชนะเสียที
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเหตุระเบิดที่เคยเกิดขึ้นนอกพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าแม้หลายครั้งจะพบระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใช้มีความคล้ายคลึงกับที่เคยเกิดในภาคใต้ตอนล่าง แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น (ดูกราฟฟิกประกอบ)
หนำซ้ำหลายกรณียังสรุปได้ว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ใช่ไฟใต้ขยายวง หรือขยายพื้นที่ปฏิบัติการ
เช่น ระเบิด 9 จุดช่วงปลายปี 2549 หลังรัฐประหารเพียง 3 เดือน, ระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น ย่านบางบัวทอง เมื่อปี 2553 แม้จะมีการตรวจสอบได้ว่ารถกระบะที่ลำเลียงระเบิดมาส่ง เป็นรถจากจังหวัดนราธิวาส แต่คดีนี้ก็สรุปว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลมากกว่าประเด็นไฟใต้
เช่นเดียวกับระเบิดไปป์บอมบ์ทั้งที่มีนบุรี เมื่อปี 2557 และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามในปีถัดมา ก็สรุปว่าเป็นเรื่องการเมือง
ขณะที่คาร์บอมบ์ในลานจอดรถห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือน เม.ย.58 แม้กลุ่มผู้ก่อการจะเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมด แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็มีกลิ่นของการเมืองเจือปนอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะปฏิบัติการบนเกาะสมุย พื้นที่อิทธิพลของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งต้องขับรถลงเรือเฟอร์รี่ไปวางระเบิด วิธีการแบบนี้ไม่มีทางหลุดรอดจากการตรวจสอบย้อนกลับหลังเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย
การก่อเหตุรูปแบบนี้ จึงแตกต่างจากปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เน้นความรัดกุม และต้องมีความเสี่ยงน้อยที่สุดอย่างชัดเจน
แม้โอกาสของการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะมีไม่มากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ ครั้งมีคนจากภาคใต้ตอนล่างไปเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงนอกพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสอยู่จริง รวมทั้งหลักฐานล่าสุดที่ตำรวจค่อยๆ รวบรวมได้หลังเหตุระเบิดป่วน 7 จังหวัดภาคใต้เที่ยวนี้ด้วย
ฉะนั้นประเด็นที่น่ากังวลไม่น้อยหลังเหตุบึ้มป่วน 7 จังหวัดก็คือ พื้นที่ชายแดนใต้กำลังเป็นฐานการผลิตมือระเบิดหรือกลุ่มใช้ความรุนแรงที่ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง หรือแก๊งมาเฟียผิดกฎหมายสามารถเรียกใช้งานเพื่อสร้างความปั่นป่วนไปแล้วหรือไม่
โจทย์ข้อนี้ดูจะใหญ่กว่าไฟใต้ขยายวงเสียอีก!