“20ทุ่งรับน้ำท่วม กยน.” ในทัศนะชาวบ้าน-เอ็นจีโอ-นักวิชาการ
วันนี้สิ่งที่คนไทยต้องการเห็นคือ มาตรการชัดเจนรับมือมหาอุทกภัยในอนาคต ซึ่ง กยน.เพิ่งคลอด 8 แผนแม่บทจัดการน้ำ หนึ่งในนั้นคือ 20 ทุ่งรับน้ำท่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
........................
จากกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) คลอด 8 แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วนและระยะยาว หนึ่งในนั้นคือ “กำหนดพื้นที่รองรับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง รวมถึงมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ” โดยมีรายงานว่าได้กำหนดพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเบื้องต้นกำหนดพื้นที่ 20 ทุ่งรับน้ำ 1.15 ล้านไร่ ครอบคลุม 6 จังหวัด
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา จึงขอสัมภาษณ์เอ็นจีโอ นักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่เพื่อสำรวจตรวจสอบว่าคิดเห็นเป็นประการใดในเบื้องต้น
เอ็นจีโอชี้รัฐตั้งงบก่อนแผนชัด-ต้องประชาพิจารณ์
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เปิดเผยว่านโยบายผันน้ำลงพื้นที่ 2 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยา ควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยให้ข้อมูลและตอบโจทย์แต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อนำมาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่กำหนดจาก กยน.เพียงฝ่ายเดียว แต่ขณะนี้เป็นการตั้งงบประมาณก่อนมีแผนที่ชัดเจน เพียงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ยังกล่าวว่าสิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงคือการบริหารจัดการน้ำลงพื้นที่รับน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระยะ 6 เดือนนี้ควรสำรวจฐานข้อมูลเพื่อทำแผนการผันน้ำอย่างชัดเจน เช่น ข้อมูลระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต สภาพพื้นที่ พร้อมค่าชดเชยเยียวยาแก่ชาวบ้านที่รับผลกระทบ โดยคาดว่าแต่ละปีจะมีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รับน้ำประมาณ 1 ล้านไร่ เสนอว่าค่าชดเชยควรอยู่ระหว่าง 6-8 พันบาท/ไร่ เมื่อประเมินความเสียหายจากพื้นที่
“การผันน้ำลงทุ่งนาเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจหลังฤดูเก็บเกี่ยว ไม่สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรมาก แต่หากผันน้ำก่อนฤดูเก็บเกี่ยวจะสร้างความเดือดร้อนมาก เช่นเดียวกันการผันลงพื้นที่ลุ่มน้ำฝั่งตะวันตกอาจเกิดความเสียหายมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพืชสวนยืนต้นและกล้วยไม้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรศึกษาและหาวิธีการบริหารการผันน้ำบนพื้นฐานความรู้ที่สอดคล้องกับพื้นที่”
หาญณรงค์ ยังเสนอว่าสิ่งที่ กยน.ต้องทำเร่งด่วนคือ ควรทำแผนปรับปรุงถนนที่ก่อสร้างขวางทางเดินน้ำ ซึ่งดีกว่านโยบายรื้อฟื้นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล มีผลกระทบมากมาย และประชาชนต่อต้าน
นักวิชาการฟันธง 2 ล้านไร่แก้ปัญหาไม่ได้ ค้านถลุงงบฟื้นเขื่อนใหญ่
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่าการกำหนดพื้นที่รับน้ำนั้นคล้ายคลึงกับกรณี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่สร้างคันสูงเพื่อระบายน้ำเข้าไปเท่านั้น วิธีดังกล่าวนอกจากส่งผลกระทบประชาชน ยังระบายน้ำจำนวนมากในเวลารวดเร็วไม่ได้ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังเสนอว่ารัฐไม่ควรใช้งบ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ
“ไทยมีแหล่งกักเก็บน้ำเพียงพอแล้ว ปัญหาน้ำท่วมปี 54 เกิดจากการบริหารน้ำล้มเหลว ไม่ใช่ภัยธรรมชาติอย่างเดียว กยน.จึงควรสนับสนุนงบประมาณขุดลอกแหล่งน้ำ โดยเฉพาะสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา คลองมหาสวัสดิ์ หรือคลองรังสิต จะประสิทธิผลมากกว่า”
ชาวบ้านท่าวุ้ง ลพบุรี เสียงแข็งไม่ยอมเป็นแก้มลิงรับน้ำท่วม
ขณะที่เสียงสะท้อนจากพื้นที่ นายโสภณ สุขสะอาด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นทุ่งรับน้ำ กล่าวว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วมที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งตนจะคัดค้านถึงที่สุดกรณีที่ กยน.จะนำพื้นที่ท่าวุ้งไปเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ เพราะชาวบ้านจะเดือดร้อนไปหมดทั้งที่ทำมาหากิน และที่อยู่อาศัยซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม และกว่า 80% เป็นเกษตรกรทำนา แม้จะมีค่าชดเชยให้แต่ก็คงไม่คุ้ม เพราะช่วงน้ำหลากชาวบ้านจะทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งในระยะยาวลูกหลานจะทำมาหากินกันลำบาก
“รัฐบาลน่าจะขุดลอกคูคลอง ทำร่องน้ำเดิมที่ตื้นเขินให้สามารถระบายน้ำได้ น้ำเหนือที่ผ่านเข้ามาให้มันไหลไปตามคลอง ไม่ใช่ให้เอ่อท่วมขังนานๆเหมือนปีที่ผ่านมา สมัยก่อนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หน้าน้ำก็เอ่อท่วมมาทุกปี แต่มาอยู่ไม่เกิน 1 เดือนก็ไหลไปตามคลองไม่สร้างความเสียหายมาก แต่ถ้าทำเป็นแก้มลิงจะทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมากขึ้นแน่นอน” นายโสภณ กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานว่าพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็น 20 ทุ่งรับน้ำ 1.15 ล้านไร่ เพื่อรับน้ำหลาก 3.6 พันล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ประกอบด้วย 1.นครสวรรค์ 7 ทุ่ง โดยผันน้ำเข้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน บึงบอระเพ็ด ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ลุ่มโกรกพระฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 559,289 ไร่ ความจุน้ำ 2,124 ล้าน ลบ.ม 2.ชัยนาท ได้แก่ทุ่งเชียงราก 138,711 ไร่ ความจุน้ำ 416 ล้าน ลบ.ม.
3.สิงห์บุรี 2 ทุ่ง คือ ทุ่งดอนกระต่ายและทุ่งบางระจัน 164,374 ไร่ ความจุน้ำ 394 ล้าน ลบ.ม. 4.ลพบุรี 2 ทุ่ง คือ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 101971 ไร่ ความจุน้ำ 176 ล้านลบ.ม. 5.อ่างทอง 2 ทุ่ง คือ ทุ่งลาดกระเทียม/ห้วยจระเข้ และทุ่งวิเศษชัยชาญ 66,900 ไร่ ความจุน้ำ 107 ล้าน ลบ.ม. และ 6.พระนครศรีอยุธยา 6 ทุ่ง คือ ทุ่งกุฎี-ผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งเสนาเหนือ-ใต้ ทุ่งเชียงราก ทุ่งลาดบัวหลวง-ทุ่งไผ่พระ ทุ่งมหาราช 118,636 ไร่ ความจุน้ำ 447 ล้าน ลบ.ม.
……………………
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนต่อแผนแม่บทจัดการน้ำ กยน.ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่สามารถกางออกมาให้เห็นรายละเอียดชัดเจน ขณะที่ก้อนงบประมาณมหาศาลนั้นกลับชัดเจนกว่า คนไทยคงต้องช่วยกันติดตาม.