แจกหลังเลิกโครงการ-เกษตรกรไม่ต้องจ่าย! ผลสอบฉบับเต็มปมปุ๋ยฉาว อบจ.บุรีรัมย์
เปิดผลสอบฉบับเต็ม! โครงการแจกปุ๋ยอินทรีย์ฉาวของ อบจ.บุรีรัมย์ ประจำงบปี’58 ‘โกวิทย์’ ส.จ.-ผอ.กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ติดโผ เป็นคนเชิญเอกชนเข้ามาทำสัญญา พบ ‘คนกลาง’ ซื้อปุ๋ยเอกชนไปแจกเกษตรกรหลังโครงการถูกยกเลิกแล้ว กก.สอบฯ ยืนยันเกษตรกรไม่ต้องจ่าย เหตุเป็นโครงการได้เปล่า-ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
กำลังเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราวทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ !
กรณีปัญหาในการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปี 2555-2557 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ในการแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร วงเงินรวมกว่า 328 ล้านบาท ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารระดับสูงใน อบจ. เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับประโยชน์จากกรณีนี้กว่า 157 ล้านบาท
ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทั้งจังหวัด มีการแจ้งความเอาผิดกับนางกรุณา ชิดชอบ นายก อบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) และผู้บริหารระดับสูงใน อบจ.บุรีรัมย์ ขณะที่กลุ่มเอกชนขายปุ๋ยได้ฟ้องร้องกับเกษตรกร เนื่องจากไม่มีเงินมาจ่ายค่าปุ๋ย ทั้งที่ทำสัญญากันไว้แล้ว ทว่าโครงการในงบประมาณปี 2558 ถูกยกเลิกเสียก่อน
ขณะเดียวกัน นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ได้ยกเลิกโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2558 และตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริงขึ้นมาตรวจสอบทันที (ตรวจสอบเฉพาะโครงการงบประมาณปี 2558 อย่างเดียว)
ล่าสุด คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริง ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบ นำเสนอต่อผู้ว่าฯบุรีรัมย์ เพื่อพิจารณาต่อ โดยพบประเด็นปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าบำรุงกับเกษตรกร ภายหลังนำปุ๋ยไปส่ง 10-100 บาท/กระสอบ หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้บริหารใน อบจ.บุรีรัมย์ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ด้วย
(อ่านประกอบ : ส.จ.คนประสานเอกชน-หักเงินค่าบำรุง! กก.สอบฯสรุปปมแจกปุ๋ยบุรีรัมย์ฉาวปี’58)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำผลสอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริง มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
กรณีนี้ปรากฏรายชื่อเอกชนที่จำหน่ายปุ๋ยทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท สยามออแกนิคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดสรรปุ๋ยจำนวน 70,000 กระสอบ ในพื้นที่ อ.พลับพลาชัย
2.หจก.ดีสิงห์ทวีโชค จัดสรรปุ๋ยจำนวน 105,000 กระสอบ ในพื้นที่ อ.นางรอง อ.ปะคำ อ.โนนสุวรรณ อ.หนองหงส์ และ อ.หนองกี่
3.หจก.พีภูตะวัน 2006 จัดสรรปุ๋ยจำนวน 31,500 กระสอบ ในพื้นที่ อ.กระสัง และ อ.แคนดง
4.บริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองธุรกิจเกษตร จำกัด (โรงงานปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดแม่โจ้การเกษตร) จัดสรรปุ๋ยจำนวน 317,000 กระสอบ ในพื้นที่ อ.สตึก อ.พุทไธสง อ.นาโพธิ์ อ.เมืองบุรีรัมย์ อ.บ้านด่าน อ.ห้วยราช อ.ลำปลายมาศ อ.คูเมือง อ.ประโคนชัย อ.โนนดินแดง อ.ละหานทราย อ.บ้านกรวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ และ อ.ชำนิ
ปรากฏรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปพัวพันอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ นายอดุลย์ กองชนะ ผอ.การกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต อบจ.บุรีรัมย์ ผู้รับผิดชอบโดยตรงโครงการดังกล่าว และนายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ (ถูก สตง. ระบุว่า เป็นคนติดต่อซื้อปุ๋ยกับเอกชนและหักเงินส่วนต่าง 240 บาท/กระสอบ รวมความเสียหายกว่า 157 ล้านบาท ในช่วงโครงการงบประมาณปี 2555-2557)
โดยตัวละครสำคัญในกรณีนี้นอกเหนือจากนายอดุลย์ และนายโกวิทย์แล้ว ปรากฏชื่อของ นายอิทธิกร ญาณธร หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เอ็น เอส เจ กรุ๊ป ซึ่งถูกระบุว่า เป็นตัวแทนผู้ค้าปุ๋ยอินทรีย์ โดยรับปุ๋ยจากบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ และ หจก.พี ภูตะวันฯ นำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร
ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริง เชื่อได้ว่า นายอิทธิกร ได้รับการประสานงานจากนายโกวิทย์ ในการประสานงานรับปุ๋ยมาจากบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ
โดยผลการตรวจสอบทั้ง 28 อำเภอ ทั้ง จ.บุรีรัมย์ สรุปข้อเท็จจริงได้ 4 ประเด็นคือ
หนึ่ง ก่อนที่จะมีการจัดทำโครงการแจกปุ๋ยอินทรีย์ในงบประมาณปี 2558 อบจ.บุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้นายอดุลย์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เป็นผู้ไปบรรยาย และประชาสัมพันธ์ให้กับบรรดากลุ่มเกษตรกรรับทราบข้อมูล รวมถึงปริมาณการจัดสรรปุ๋ยให้กับกลุ่มเกษตรกร โดย อบจ.บุรีรัมย์ได้ประสานผ่านเกษตรอำเภอในการดำเนินโครงการดังกล่าว
สอง ในการซื้อปุ๋ยนั้น มีนายอิทธิกร เป็นตัวกลางในการประสานกับเอกชน 2 แห่งคือ หจก.พี ภูตะวันฯ และบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ เพื่อนำปุ๋ยไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นการนำไปแจกก่อนที่จะมีการอนุมัติโครงการงบประมาณปี 2558 ส่วนเอกชนที่เหลืออีก 2 ราย คือ หจก.ดีสิงห์ฯ และบริษัท สยามออแกนิคฯ ได้รับการประสานจากเกษตรอำเภอ และนายอดุลย์ ให้ร่วมลงนามในสัญญาการขายปุ๋ยให้กับเกษตรกร ทว่าไม่ได้มีการทำสัญญากับเกษตรกรโดยตรง
ทั้งนี้ตามรายงานผลการตรวจสอบ ระบุตรงกันว่า เอกชนทั้งหมดไม่เคยติดต่อซื้อขายกับกลุ่มเกษตรกรมาก่อน แต่มีนายอิทธิกรเป็นผู้มาติดต่อและทำสัญญาซื้อขายโดยตรง นอกจากนี้เอกชนทั้งหมดยังไม่เคยได้รับการติดต่อจาก อบจ.บุรีรัมย์ นายก อบจ. และรอง นายก อบจ. แต่อย่างใด ขณะที่กลุ่มเกษตรกรมีแค่เพียงใบสั่งซื้อสินค้าและใบส่งสินค้าเท่านั้น ไม่เคยมีใบสัญญาซื้อขายกับเอกชน
สาม ในบางอำเภอ เช่น อ.แคนดง ถูกตรวจสอบพบว่า หจก.พี ภูตะวันฯ โดยนายอิทธิกร ได้ติดต่อมายังเกษตรจังหวัดเพื่อทำการแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งการแจกจ่ายปุ๋ยในลักษณะเช่นนี้ ชาวบ้านเคยได้รับมาแล้ว 3 ครั้ง ดังนั้นปีงบประมาณ 2558 ชาวบ้านคิดว่าเป็นการแจกปุ๋ยฟรีตามนโยบายของราชการอีกจึงรับไว้ โดยเข้าใจว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ทางราชการจะออกค่าใช้จ่ายให้ และกลุ่มเกษตรกรก็ไม่ทราบข้อมูลการติดต่อขายปุ๋ยแต่อย่างใด จึงไม่ทราบว่าปุ๋ยดังกล่าวมีที่มาจากผู้ใด อย่างไร ทราบเพียงว่าเป็นปุ๋ยของ หจก.พี ภูตะวันฯ มาส่งและเซ็นรับปุ๋ยดังกล่าว
สี่ ในบางอำเภอ เช่น อ.ชำนิ อ.บ้านกรวด ถูกตรวจสอบพบว่า นายอดุลย์ ได้ประสานงานผ่านเกษตรอำเภอเพื่อชี้แจงการทำโครงการดังกล่าว โดยเกษตรอำเภอได้แจ้งให้เกษตรกรเปิดบัญชีธนาคารไว้กับธนาคารกรุงไทย สาขาบุรีรัมย์ เท่านั้น เพื่อรองรับการโอนเงินค่าปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการ และสำนักงานเกษตรอำเภอมีหน้าที่เก็บรวบรวมเอกสารต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อทำหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขออนุมัติงบประมาณ ผู้ว่าฯมีหนังสือตอบกลับมาว่า ได้รับข้อท้วงติงจาก สตง. จึงขอให้ชะลอโครงการออกไปก่อน
อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นนายอิทธิกร ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อ โดยไปรับปุ๋ยมาจากบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ และ หจก.พี ภูตะวันฯ และประสานกับเกษตรอำเภอเพื่อนำปุ๋ยมาแจกจ่ายเกษตรกร แต่ต่อมาบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองฯ และ หจก.พี ภูตะวันฯ ได้ติดต่อไปยังนายอดุลย์ และนายโกวิทย์ เพื่อขอรับเงินค่าปุ๋ย แต่ทั้งสองรายตอบกลับมาว่า ผู้ว่าฯยกเลิกโครงการดังกล่าว ให้ไปจัดเก็บกับเกษตรกรเอาเอง อบจ.บุรีรัมย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลให้เอกชนทั้ง 2 ราย ต้องทำหนังสือทวงถามหนี้จากเกษตรกร
ประเด็นนี้คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การซื้อขายปุ๋ยดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นสิทธิของเกษตรกรตามโครงการของรัฐที่จัดสรรเงินงบประมาณมาแบบให้เปล่า รวมทั้งโครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เอกชนได้นำปุ๋ยไปแจกจ่ายให้เกษตรกรโดยไม่รอให้โครงการได้รับการอนุมัติก่อน ถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยของเอกชนเอง และเป็นการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฏหมาย ดังนั้นจึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่กลุ่มเกษตรกรจะต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้เอกชนทั้ง 4 แห่งดังกล่าว ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เนื่องจากได้รับการประสานซื้อปุ๋ยจากนายอิทธิกร และได้รับการเชิญจากนายอดุลย์ และเกษตรอำเภอให้ไปร่วมลงนามสัญญาซื้อขายดังกล่าว ซึ่งไม่เคยทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกรแต่อย่างใด
พิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว สรุปได้ว่า อบจ.บุรีรัมย์ไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ไว้ในงบประมาณปี 2558 หรือเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ว่าฯบุรีรัมย์ได้แจ้งให้ อบจ.บุรีรัมย์ ชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของ สตง.
ส่วนกรณีมีการกล่าวอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ นายอดุลย์ และนายโกวิทย์ โดยเป็นผู้ติดต่อประสานกับผู้ค้าปุ๋ยอินทรีย์ และเกษตรอำเภอ ก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติและบรรจุไว้ในงบประมาณปี 2558 รวมถึงเป็นผู้ติดต่อสั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์จากเอกชน แต่ไม่ชำระค่าปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ จ.บุรีรัมย์ ในฐานะได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2555-2558 แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงานโดยดำเนินการไปทั้งที่โครงการดังกล่าวในงบประมาณปี 2558 ยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน ซึ่งระเบียบปฏิบัติของราชการทั่วไป หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ต้องได้รับแจ้งเป็นหนังสือก่อนจึงจะไปดำเนินการได้ กรณีนี้เห็นควรแจ้งให้ต้นสังกัดพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งหมดคือผลสรุปรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริง ตามที่ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ตั้งขึ้นภายหลังได้ยกเลิกโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2558 แล้ว
ส่วนโครงการในปีงบประมาณ 2555-2557 ที่ถูก สตง. ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงใน อบจ.บุรีรัมย์ หลายรายเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งผลให้เกิดความเสียหายกว่า 157 ล้านบาทนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบฯ และดำเนินการทางอาญา และทางวินัย หรือจะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปไต่สวนหรือไม่
คงต้องจับตาดูต่อจากนี้ !
อ่านประกอบ :
ก.เกษตร ขยับสอบปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! พลิกจว.ตามหา'ผอ.'พัวพันคดีหายตัวปริศนา
ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.