ความตกลง TPP VS เกมการค้ารูปแบบใหม่ของขั้วมหาอำนาจ
ประเทศไทยอย่ารีบร้อนหรือข้ามขั้นไปเข้าร่วม TPP เพราะจะเป็นเหมือนกับการเรียนประถมและข้ามชั้นไปเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ สุดท้ายความเสียหายก็จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ โดยครึ่งหนึ่งเป็นความตกลงของอาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ อีกครึ่งหนึ่งเป็นความตกลงทวิภาคี นอกจากนี้ยังมีความตกลงอีก 5 ฉบับที่อยู่ระหว่างการเจรจา และอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเจรจากับประเทศคู่ค้าอีก 1 ประเทศ การเจรจาการค้าเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งดําเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่อขยายการส่งออกและการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และ/หรือการรักษาสถานะความสามารถทางการค้าของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน
แต่มีการเจรจาการค้าข้ามภูมิภาคหนึ่ง ที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 นั่นคือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership Agreement, TPP) กระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยยังมิได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงฯดังกล่าวแต่อย่างใด
ความตกลง TPP มีจุดเริ่มต้นจาก 9 ประเทศของสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เปรูชิลี สิงคโปร์ บรูไน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม การเจรจาเริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 และเจรจาแล้วเสร็จสรุปผลเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ซึ่งประเทศสมาชิกจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีดําเนินการตามกระบวนการด้านกฎหมายภายในประเทศสมาชิกเพื่อให้สัตยาบัน (ratification) ต่อความตกลงระหว่างประเทศฉบับนี้
ความตกลงฯ เป็นที่สนใจของหลายฝ่าย เนื่องจาก
(1) ขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกรวมกันมีขนาดใหญ่ที่สุดครอบคลุมการค้าประมาณร้อยละ 50 ของการค้าโลก มูลค่าเฉลี่ย 295,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีมูลค่า GDP รวม 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รวมประชากร 800 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรโลก
(2) เป็นความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมการค้าอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการปฏิรูป และการสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบด้านการค้า ความตกลงฯ มีเนื้อหารวมทั้งสิ้น 30 ข้อบท ได้แก่ บทนําและคําจํากัดความทั่วไป; การค้าสินค้า;กฎถิ่นกําเนิดสินค้าสําหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม; กฎถิ่นกําเนิดสินค้า; การบริหารจัดการทางศุลกากรและการอํานวยความสะดวกทางการค้า; มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช; อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า; มาตรการเยียวยาการค้า;การลงทุน; การบริการข้ามพรมแดน; บริการด้านการเงิน; การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ; โทรคมนาคม; พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์;การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ; นโยบายการแข่งขัน; รัฐวิสาหกิจ; ทรัพย์สินทางปัญญา; แรงงาน; สิ่งแวดล้อม; ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ; ความสามารถในการแข่งขันและการอํานวยความสะดวกทางธุรกิจ; การพัฒนา; วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม; ความสอดคล้องของกฎระเบียบ; ความโปร่งใสและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น; การบริหารจัดการและสถาบัน; การระงับข้อพิพาท; ข้อยกเว้น; และ บทสรุป
นอกจากนี้ ยังมีภาคผนวก (annexes) ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิก (bilateral agreements) และหนังสือแนบท้ายความตกลง (side letter) ของแต่ละประเทศ
(3) สามารถเปิดรับสมาชิกเพิ่มเติมได้ แต่จะต้องได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ แต่ไม่สามารถเจรจาเนื้อหาหลักของความตกลงฯได้อีก ยกเว้นที่กําหนดไว้ให้เสนอได้
ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกที่แสดงความสนใจเข้าร่วมความตกลงฯ ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
ขณะที่ไทยประเทศไทยมีมูลค่าการค้าในปี 2559 ที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศสมาชิก TPP มีดังนี้
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับสมาชิก TPP แล้ว 9 ประเทศ และยังไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม ความตกลงฯของไทยกับ 9 ประเทศนั้นมีรายละเอียดและเงื่อนไขไม่เทียบเท่า TPP
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 มีมติให้กระทรวพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทําช้อมูลเปรียบเทียบผลดีผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้ประโยชน์ เพื่อประกอบการพิจารณากําหนดท่าทีของไทยต่อไป รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนรับทราบ
นอกจากนี้ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (องค์การเภสัชกรรม) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทยและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของการคุ้มครองข้อมูลยา การนําเข้ายาจากต่างประเทศ และการลงทุนจากบริษัทยาภายนอก ซึ่งทําให้ประเทศไทยต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วยโดยให้มีผลการดําเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมภายในปี 2559
มีการวิเคราะห์ในเบื้องต้น พบว่า TPP ย่อมมีผลกระทบต่อการสาธารณสุขและระบบสุขภาพ ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลกระทบทั้งที่เป็นประโยชน์ เช่น การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของกระบวนการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทํามาตรฐานของภาคีสมาชิกและภาคเอกชน หรือผลลบจากการผูกขาดตลาดผ่านการคุ้มครองข้อมูลยาประกอบการขึ้นทะเบียนยา เป็นต้น
นอกจากด้านการค้าจาก TPP แล้ว การวิเคราะห์เบื้องต้นของ TPP และสุขภาพแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างน้อย 8 ประเด็น ได้แก่ (1) การแพทย์แผนไทย สมุนไพร และทรัพยากรพันธุกรรม (2) ยา วัคซีน และชีววัตถุ (3) เครื่องมือแพทย์ (4) อาหาร (5) เครื่องสําอาง (6) ยาสูบ (7) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ(8) บริการสุขภาพ ซึ่งในการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP): ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การสาธารณสุขและระบบสุขภาพ” ที่จัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สีลม โดยคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจคส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ร่วมเป็นเจ้าภาพ พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข, สปสช. และ สสส. มีผู้เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับ TPP กันอย่างกว้างขวาง
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก: ความท้าทายหรือโอกาสสําหรับประเทศไทย ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการองค์การการค้าโลก (WTO) และและอดีตเลขาธิการ UNCTAD มองว่า ระบบการค้าโลกที่ดี ต้องมีทิศทางให้ทุกประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เป็นสากล เปิดโอกาสให้กับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย รวมทั้งควรยึดหลักการ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ การขจัดความยากจน สร้างความอยู่ดีกินดี และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับมวลมนุษยชาติ
สำหรับความตกลง TPP ดร.ศุภชัย ชี้ว่า เป็นเกมการค้ารูปแบบใหม่ของขั้วมหาอำนาจ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีอำนาจการต่อรองในเวทีโลก จนประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถเจรจาความตกลงการค้าในกรอบ WTO ให้ได้ตามที่ประเทศมหาอำนาจต้องการอีกต่อไป จึงต้องจัดตั้งข้อตกลงการค้ารูปแบบใหม่ เช่น TPP และ T-TIP (Transatlantic Trade and Investment Partnership) ขึ้นมาเพื่อลดความสำคัญของ WTO ลง
ปัจจุบัน ข้อตกลง TPP มีการลงนามของประเทศสมาชิกแล้วแล้วเมื่อต้นปี 2559 มีประเทศภาคีสมาชิกเข้าร่วม 12 ประเทศ ในจำนวนนี้ ประเทศไทยได้มี ข้อตกลง FTA ร่วมกับ 9 ประเทศสมาชิก TPP อยู่แล้ว ยกเว้นเพียง 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งมูลค่าการค้าของไทยกับ 3 ประเทศนี้รวมกันประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมเท่านั้น
“ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการทำ FTA กับ 9 ประเทศสมาชิก TPP อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ทำข้อตกลงกับอีก 3 ประเทศ ก็ไม่เชื่อว่า TPP จะทำให้มูลค่าการค้าของไทยกับทั้ง 3 ประเทศหายไปทั้งหมด และไม่ควรกังวลถึงผลกระทบเรื่องการลงทุนหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลกจากราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวข้องกับ TPP”
ดร. ศุภชัย ได้ให้คำแนะนำประเทศไทยในการพิจารณาที่จะเข้าร่วมข้อตกลง TPP ไว้ว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนลงนามเข้าร่วม TPP เพราะกลัวตกขบวนเท่านั้น พร้อมกับให้ข้อสังเกตสำคัญที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง 5 ประการคือ
1) ขณะนี้การศึกษาผลได้ผลเสียจาก TPP ยังไม่ชัดเจน
2) ต้องศึกษาเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีอย่างรอบคอบเพราะมีการใช้มากในTPP
3) มีเพียง 3 ประเทศใน TPP ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อตกลง FTA ด้วย
4) ต้องศึกษาว่าเหตุใดภาคเอกชนไทยจึงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ที่มีอยู่แล้วให้ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควร
และ 5) เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศสมาชิก TPP ยังไม่สามารถลงนามให้สัตยาบันได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน
“รัฐบาลไทยต้องฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน และศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ควบคู่กับผลเสียที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งพยายามผลักข้อตกลงที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ในปัจจุบันให้แข็งแกร่งเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หรือ ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์"
ดร.ศุภชัย กล่าวย้ำด้วยว่า ประเทศไทยอย่ารีบร้อนหรือข้ามขั้นไปเข้าร่วม TPP เพราะจะเป็นเหมือนกับการเรียนประถมและข้ามชั้นไปเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ สุดท้ายความเสียหายก็จะเกิดขึ้น
|
ด้าน นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา คจ.คส. ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี 2559 กล่าวสรุปถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความคิดเห็นในเวทีประชุมวิชาการฯ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ถือว่าได้แนวทางที่เป็นประโยชน์ สรุปได้ว่า ความตกลง TPP มีความซับซ้อนมาก เพราะมีถึง 30 ข้อบทที่ประเทศภาคีสมาชิกต้องดำเนินการตามนั้น และยังมีจดหมายแนบท้าย ภาคผนวก รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาผลได้ผลเสียจึงไม่สามารถพิจารณาเฉพาะข้อตกลง TPP อย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาโดยรวมทั้งหมด
นพ. สุวิทย์ กล่าวว่า มูลค่าการค้า TPP ปัจจุบัน มีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดใหญ่ๆ เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญว่า การเข้าร่วม TPP จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นได้จริงหรือไม่ และสินค้าประเภทใดบ้าง เนื่องจากบางกลุ่มสินค้า เช่น ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน ก็เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ใช่ธุรกิจของไทย จึงต้องมีการวิเคราะห์ให้ชัดเจนและถ้าประเทศไทยไม่เข้าร่วม TPP จะต้องสูญเสียอะไรบ้าง เช่น การผูกขาดยาจากประเทศผู้ผลิต ที่อาจทำให้ราคายาแพงขึ้นและการเข้าถึงยาของคนไทยยากขึ้น จึงต้องมีการเตรียมการให้พร้อมก่อนตัดสินใจ
“เราไม่ควรต่อรองบนพื้นฐานของความกลัวว่าจะสูญเสียศักยภาพการลงทุนหรือเศรษฐกิจตกต่ำ ถ้าไม่เข้าร่วม TPP เพราะการได้รับประโยชน์ยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่สูญเสียแน่นอนก็คือเรื่องการผูกขาดสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเจรจาได้ เพราะทั้ง 12 ประเทศ ได้ตกลงไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่สมาชิกใหม่จะเปลี่ยนแปลงต้องให้สมาชิก TPP ยอมรับเท่านั้น และเมื่อลงนามเป็นภาคีแล้วจะยกเลิกระหว่างทาง ก็มีเงื่อนไขว่าประเทศสมาชิกสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ตรงนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ของไทย หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง”