ชำแหละสารพัดจุดอ่อน Easy Pass ฉบับ สตง.! ก่อนชง รมว.คมนาคมปรับปรุง
“…จุดอ่อนสำคัญคือ ส่วนลดหรือบริการเสริมไม่น่าสนใจ ช่องทางการสมัคร และเติมเงินมีน้อย บางรายไม่ทราบข้อมูลการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารการตลาดของ กทพ. รวมถึงปัญหาไม้กั้นอัตโนมัติบางแห่งไม่ยกเปิด ป้ายแสดงยอดเงินคงเหลือไม่ถูกต้อง เติมเงินแล้วไม่เข้าบัตร บัตรถูกตัดเงินซ้ำ ทำให้ขาดความมั่นใจในการใช้บริการ…”
ระบบให้บริการเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ หรือ Easy Pass ในทางพิเศษ 6 สายทาง รวมใช้งบกว่า 1.7 พันล้านบาท ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบและพบปัญหาในการให้บริการหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการที่บัตรไม่ถูกใช้ตามอัตราที่กำหนด ทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่ได้ประโยชน์กว่า 192 ล้านบาท หรือช่องทางดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถ 4 ล้อ รวมถึงมีบุคคลกว่า 1.6 แสนราย เก็บบัตรไว้เกิน 2 ใบ ถือเป็นต้นตอหนึ่งที่ทำให้บัตรถูกใช้ได้ไม่เต็มที่
(อ่านประกอบ : Easy Pass ไม่คุ้มค่า! สตง.ชง รมว. คมนาคมปรับปรุง-พบไม่เกิดประโยชน์ 192 ล.)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำผลสอบของ สตง. ในกรณีดังกล่าว มาเผยแพร่ให้รับทราบ ดังนี้
สำหรับปัญหา อุปสรรค หรือจุดอ่อนสำคัญของการให้บริการ Easy Pass ที่พบจากการตรวจสอบ สรุปได้ ดังนี้
1.ปริมาณรถยนต์ที่ใช้บริการในช่องทางเงินสด โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนมีจำนวนมาก และเกินศักยภาพในการให้บริการเก็บค่าผ่านทางในช่องทางเงินสด และทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมเป็นแถวยาวบริเวณช่องเงินสด และมีหางแถวกีดขวางการเข้าใช้บริการของช่อง Easy Pass ส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการช่องทาง Easy Pass อาจไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ และอาจไม่ใช้บริการอีกต่อไป หรือทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบได้ นอกจากนี้ยังออกแบบเพื่อรองรับรถยนต์ประเภท 4 ล้อ โดยรถขนาดใหญ่หรือประเภทอื่นใช้ได้แค่ช่องเงินสด
2.ผู้ใช้บริการ Easy Pass จะต้องเปิดบัตรขั้นต่ำ 1,000 บาท และการเติมเงินครั้งต่อไปครั้งละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ขณะที่ค่าบริการก็คิดเท่ากับช่องทางเงินสดปกติ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้ช่อง Easy Pass
3.ความเห็นของผู้ใช้ช่อง Easy Pass และผู้ไม่ได้ใช้ ระบุว่า จุดอ่อนสำคัญคือ ส่วนลดหรือบริการเสริมไม่น่าสนใจ ช่องทางการสมัคร และเติมเงินมีน้อย บางรายไม่ทราบข้อมูลการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารการตลาดของ กทพ. รวมถึงปัญหาไม้กั้นอัตโนมัติบางแห่งไม่ยกเปิด ป้ายแสดงยอดเงินคงเหลือไม่ถูกต้อง เติมเงินแล้วไม่เข้าบัตร บัตรถูกตัดเงินซ้ำ ทำให้ขาดความมั่นใจในการใช้บริการ
นอกจากนี้บางแห่งการเข้าใช้ช่อง Easy Pass ไม่สะดวก เนื่องจากถูกรถที่ใช้ช่องเงินสดกีดขวาง และป้ายบอกช่อง Easy Pass ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการบางส่วนยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการใช้บัตร หรือไม่มีวินัยทางด้านการจราจร บางรายเงินในบัตรไม่พอ หรือลืมเติม ทำให้ต้องถอยไปใช้ช่องทางเงินสด รวมถึงปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่าน ซึ่ง กทพ. ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม
4.การกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับการสำรวจความพึงพอใจและความเห็นของผู้ใช้บริการบัตร Easy Pass ไม่เน้นให้ความสำคัญกับผู้ได้รับบัตรไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่ากว่า 192 ล้านบาท นอกจากนี้ กทพ. ยังไม่มีการประเมินผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้งานระบบ Easy Pass ที่ชัดเจน
5.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ได้รับสัมปทานทางพิเศษศรีรัช ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขในบันทึกหลักการความเข้าใจร่วมกันในการติดตั้งและบริหารจัดการระบบ Easy Pass ทำให้ กทพ. อาจเกิดความเสียเปรียบได้
เนื่องจาก กทพ. ได้ทำความตกลงกับ BEM เมื่อปี 2551 ในการลงทุนติดตั้งและบริหารจัดการระบบ Easy Pass ในทางพิเศษศรีรัชร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขคือร่วมกันบริหารเงินค่าผ่านทางล่วงหน้า ปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสดที่เรียกเก็บกับ BEM และเมื่อเริ่มใช้งานแล้ว ให้สิทธิ BEM ใช้อาคารศูนย์ควบคุมทางด่วนชั้นที่ 2 (อโศก) บริเวณชั้น 5 และชั้น 7 ในการติดตั้งและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบ Easy Pass โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ BEM สามารถเรียกเก็บค่ามัดจำบัตร Easy Pass (ค่าประกันความเสียหาย) ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนตลอดระยะเวลาสัญญา
แต่ภายหลัง กทพ. ยกเลิกค่าประกันความเสียหายของบัตร Easy Pass ทั้งหมด (จำนวน 1,000 บาท/ใบ) ในปี 2555 BEM จึงขอไม่ร่วมดำเนินการต่อ และไม่ได้มีการลงทุนซื้อบัตร Easy Pass เพื่อจำหน่ายเพิ่มเติม โดยจะใช้วิธีขอรับบัตรจาก กทพ. เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ใช้บริการในทางพิเศษศรีรัชที่ BEM เป็นผู้รับผิดชอบสัมปทาน จึงทำให้ กทพ. อาจเกิดความเสียเปรียบได้ ในขณะที่ กทพ. ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการในกรณีดังกล่าว
6.การเชื่อมต่อระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กับ กทพ. ยังมีความล่าช้า แม้ว่าเมื่อปี 2555 ได้กำหนดแผนการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติระบบตั๋วร่วมระหว่างระบบ M-Pass ของ ทล. กับระบบ Easy Pass ของ กทพ. โดยใช้บัตรเดียว และให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน พ.ย. 2556 แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงทำให้ประชาชนที่ใช้บริการในเส้นทางเชื่อมโยงกันดังกล่าวไม่สะดวกในการใช้บริการ รวมทั้งมีภาระในการสำรองเงินในบัตรในการใช้บริการเส้นทางของทั้ง 2 หน่วยงาน
สตง. เห็นว่า การดำเนินงานให้บริการระบบ Easy Pass ดังสภาพปัญหาข้างต้น จะส่งผลทำให้การดำเนินงานของ กทพ. อาจไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย หรือไม่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพการให้บริการและความต้องการใช้บริการของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายเงินอาจไม่เกิดความคุ้มค่า ทั้งนี้ สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่า กทพ. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานด้วยแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดคือข้อเสนอแนะที่ สตง. เล็งเห็น และนำเสนอเรื่องให้ รมว.คมนาคม กับ ผู้ว่า กทพ. ดำเนินการแก้ไขแล้ว
ส่วนจะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบระบบ Easy Pass จาก inn