งัดหลักฐานแฉ! ทย.เรียก ‘ผู้เช่าเดิม’ เจรจาย้าย‘พื้นที่’ ก่อนยกสนามบินอุดรฯให้ ปตท.
ปม ทย. ยกสนามบินอุดรฯ ให้ ปตท. ผู้ประกอบการเดิม งัดเอกสารแฉ ถูกเรียกเจรจา 5 ส.ค. 59 ก่อนยกพื้นที่ให้ทุนใหญ่ 8 ส.ค. ซัดถูกบีบให้ย้ายอยู่ลำคลองสาธารณะ-ศาลพระภูมิ แทน สวนทางคำชี้แจงทีมโฆษก ก.คมนาคม บอกผู้เช่ารายเดิม ‘ไม่มีข้อโต้แย้ง’ ปูดผล ปย.อื้อ จนท.เอี่ยว
กรณีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หรือเดิมชื่อ กรมการบินพลเรือน มีนโยบายให้บริหารจัดการท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทย. ที่ให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายในท่าอากาศยานที่มีอยู่จำนวน 28 แห่ง โดยเริ่มจาก ท่าอากาศยานอุดรธานี เป็นแห่งแรก และได้ถูกร้องเรียนว่า ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนทั่วไปเสนอราคา
ต่อมา วันที่ 9 ส.ค. 2559 ทีมโฆษกกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงว่า ทย. ได้ลงนามในสัญญาให้ ปตท. เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการพัฒนา และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี จ.อุดรธานี เพียงแห่งเดียว เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2559 และ ปตท. ไม่ได้รับสิทธิในการดำเนินการทั้ง 28 ท่าอากาศยาน สำหรับพื้นที่ที่ให้ ปตท. เช่าเพื่อดำเนินโครงการฯ ทย. ได้บอกเลิกสัญญากับผู้เช่ารายเดิมครบถ้วนถูกต้องตามข้อสัญญา และตามกฎหมาย ซึ่งผู้เช่ารายเดิมได้รับทราบถึงความจำเป็นในการพัฒนา โดยมิได้มีข้อโต้แย้ง แต่อย่างใด (อ่านประกอบ: ทย.แจงยกพื้นที่สนามบินให้ ปตท. แค่ จ.อุดรฯแห่งเดียว-ไม่แจงปม‘ไม่เปิดประมูล’)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ก่อน ทย. ทำสัญญากับ ปตท. ในวันที่ 8 ส.ค. 2559 นั้น เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 กรมท่าอากาศยานโดยอธิบดีได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการเดิมรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ขณะนั้น) เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรม มาเจรจากรณีเช่าพื้นที่ท่าอากาศยานอุดรธานี แต่ทว่า ไม่ได้ข้อยุติ
ผู้ประกอบการรายดังกล่าว เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการเจรจาเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 อธิบดีกรมท่าอากาศยานส่งหนังสือให้มาพบเพื่อเจรจา แต่เมื่อไปถึงกลับไม่ได้พบ แต่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ 2 คน
“ในวันนั้น ผมได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมท่าอากาศยาน 2 ฉบับ ฉบับแรกขอคัดค้านการลงนามของข้อตกลงระหว่าง ทย. กับ ปตท. เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับการได้รับสิทธิเช่าพื้นที่ของผม โดยที่อธิบดีกรมท่าอากาศยานยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในการให้ผมเซ็นสัญญาเข้าบริหารพื้นที่ตามที่ได้รับสิทธิ และปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกินสมควร”
ฉบับที่สอง ยืนยันที่จะเช่าพื้นที่ข้อตกลงที่ทำไว้เดิมกับกรมท่าอากาศยาน/กรมการบินพลเรือน และขอให้อธิบดีกรมท่าอากาศยานปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจาก กรมท่าอากาศยานได้ผิดนัด และประวิงเวลาทำสัญญามาโดยตลอด ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ได้ผิดนัด ไม่ส่งเงื่อนไขการคิดอัตราค่าเช่าใหม่ หลังจาก ตัดพื้นที่ที่ไม่สามารถทำประโยชน์ได้จริง อาทิ คูคลอง เสาวิทยุ ศาลพระภูมิออก” (ดูเอกสาร)
เพระฉะนั้น การที่กรมท่าอากาศยานแถลงข่าว ว่า ก่อนทำสัญญาให้เช่าพื้นที่แก่ ปตท. ทาง ทย. ได้บอกเลิกสัญญากับผู้เช่ารายเดิมครบถ้วน ถูกต้องตามข้อสัญญาและตามกฎหมาย และผู้เช่ารายเดิมได้รับทราบถึงความจำเป็นในการพัฒนาโดยมิได้มีข้อโต้แย้ง นั้น จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง
“ผมเป็นลูกผู้ชาย มีศักดิ์ศรี แต่ถูกรังแก จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ที่ผ่านมา ผมเดินตามช่องทางของระบบราชการทุกอย่าง ไม่ได้ทำนอกกติกา และโครงการพัฒนาพื้นที่สนามบินที่เสนอไปก่อนหน้านี้ แต่ถูกยกให้ ปตท. นั้น ผมได้เสนอก่อน แต่กลับถูกอ้างว่า ซ้ำรูปแบบของ ปตท. แท้ที่จริงมันไม่ใช่ เพราะเขามาทีหลัง ผมเสนอมานานแล้ว และก็ทำในรูปแบบของสวัสดิการ ต่อมา ก็ถูกบีบให้พ้นจากพื้นที่เดิม เพื่อนำไปให้ ปตท. โดยไม่ได้เปิดประมูล” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวจากผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับผลกระทบด้วย
ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า พื้นที่ภายในสนามบินอุดรฯ หรือทุกแห่ง ก็มีกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม บางกลุ่มเกี่ยวพันกับ นักการเมือง เพื่อนของข้าราชการระดับสูง แม้แต่เจ้าหน้าที่ของกรมท่าอากาศยาน โดยใช้เครือญาตดำเนินการแทน
กรณีของสนามบินอุดรฯ นั้น มีร้านบางแห่งเป็นของเจ้าหน้าที่ ทย.บางคน และ เปิดทำธุรกิจบางประเภทร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น
นี่คือความคืบหน้าล่าสุด
ดูเหมือนปมปัญหา กรณีพื้นที่สนามบินอุดรฯ มีแนวโน้มจะยังไม่จบโดยง่าย ตราบใดที่ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทุนเล็กกว่า เห็นว่า กระบวนการบริหารจัดการ ไม่ได้รับความเป็นธรรม
สุดท้ายจะถึงองค์กรตรวจสอบหรือไม่ ?
ต้องคอยดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ส่อง '2 ผู้ประกอบการ-ที่จอดรถ’ สนามบินอุดรฯ ก่อน ปตท.รวบ 28 แห่ง-ไม่เปิดประมูล