ส่อง '2 ผู้ประกอบการ-ที่จอดรถ’ สนามบินอุดรฯ ก่อน ปตท.รวบ 28 แห่ง-ไม่เปิดประมูล
เปิดตัว'2 ผู้ประกอบการ-ที่จอดรถ' สนามบินอุดรฯ นักธุรกิจเจ้าเดิม กับ นายทหารเจ้าใหม่ ก่อนถูกกรมท่าอากาศยาน ยกเลิก ประเดิมนำร่องยกให้ ยักษ์ ปตท.บริหารพร้อม 28 แห่ง ชนวนยื่นหัวหน้า คสช. รมว.คมนาคม ไฉน!ไม่เปิดประมูล
กรณีกรมท่าอากาศยาน (ทย. ) หรือ เดิมชื่อ กรมการบินพลเรือน มีนโยบายให้บริหารจัดการท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทย.โดยให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายในท่าอากาศยานจำนวน 28 แห่ง โดยเริ่มจากท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นแห่งแรก และได้ถูกร้องเรียนว่า ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนทั่วไปเสนอราคา (อ่านประกอบ : ยื่น‘บิ๊กตู่’!กรมท่าอากาศยานยกพื้นที่ 28 สนามบินให้ ปตท.-จ.อุดรฯ โวยไม่เปิดประมูล)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการสถานที่จอดรถ สนามบินอุดรธานีปัจจุบันหลัก 2 ราย รายหนึ่ง หจก.อุดรแก้วทัวร์ ซึ่งมี นายเริงฤทธิ์ วิเชียรศิริ ถือหุ้นใหญ่ และเป็นผู้ประกอบการเดิม อีกรายเป็นผู้ประกอบการที่มีนายทหารนายหนึ่งเป็นเจ้าของซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ และมีปัญหาร้องเรียนต่อหัวหน้า คชส.ว่า ถูกกรมท่าอากาศยานไม่ต่อสัญญา
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559 นายเริงฤทธิ์ วิเชียรศิริ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้รับหนังสือจากกรมท่าอากาศยานแจ้งความประสงค์ขอเลิกสัญญาที่ หจก.อุดรแก้วทัวร์ ทำไว้กับกรมท่าอากาศยานก่อนหน้านี้ 2 สัญญา เนื้อรวมประมาณ 1,000 ตารางเมตร เพื่อให้ บริษัท ปตท. จำกัด เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่แทน จึงเดินทางเข้าพบ นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานที่สำนักงาน ทย. แจ้งว่า ได้ความเดือดร้อนและแสดงความประสงค์ขอพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ประกอบการเลี้ยงลูกน้อง นายจุฬารับปากว่า จะให้ทาง ปตท. ช่วยดูแลให้
นายเริงฤทธิ์ เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตามไม่มั่นใจว่า ‘ช่วยดู’ หมายถึงอะไร และ นายจุฬาจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และหากไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม หรือไม่รับความเป็นธรรมก็จะต่อสู้เรียกร้องในทุกช่องทางที่ถูกต้อง
นายเริงฤทธิ์ เปิดเผยว่า การที่กรมท่าอากาศยานยกพื้นที่ให้ ปตท. เข้ามาบริหารจัดการ นั้น หากเป็นธรรม ควรเปิดให้เอกชนทั่วไปเข้าร่วมประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ดีกว่ายกให้รายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ นายเริงฤทธิ์ เป็นผู้ประกอบการรับจอดรถยนต์ในสนามบินอุดรธานีมาตั้งแต่เปิดสนามบิน กว่า 20 ปี เริ่มจากขอเช่าพื้นที่เพียง 250 ตารางเมตร ปัจจุบันพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร แยกออกเป็น 2 สัญญา สัญญาแรกจะหมดสิ้นปีนี้ อีกสัญญาหมดสิ้น 2560
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า หจก.อุดรแก้วทัวร์ จดทะเบียนวันที่ 30 เม.ย. 2534 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบกิจกรรมนำเที่ยว ที่ตั้งเลขที่ 91/26 ถ.ศรีชมชื่น ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี นายพิไชย วิเชียรศิริ นายเริงฤทธิ์ วิเชียรศิริ ถือคนละ 50% แจ้งผลประกอบการรอบปี 2557 รายได้ 5,997,419 บาท กำไรสุทธิ 940,827 บาท
ขณะที่ ผู้ประกอบการอีกรายซึ่งเป็นนายทหาร เปิดเผยว่า ในการยื่นร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช.นั้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะดำเนินการอยู่ก่อน มีการเจรจามาตลอดแต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงมากว่า 2 ปี และมีหนี้สินจากการลงทุนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้รับการต่อสัญญา แต่อยากให้กระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ของกรมท่าอากาศยานทุกแห่ง โปร่งใส มีการแข่งขัน ไม่ใช่ยกให้รายหนึ่งรายใด อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
"ผมเห็นว่าอิศรา เป็นสื่อที่พึ่งได้ ตรงไปตรงมา กล้าที่่จะนำเสนอหลายเรื่องที่กระทบต่อผู้มีอำนาจ จึงมาร้องเรียน ให้ช่วยตีแผ่ความไม่ถูกต้อง และผมเองทำธุรกิจปกติเล็กๆน้อยๆ ตรงไปตรงมา"ผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งกล่าว
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ภาพข่าว ‘ปตท.-กรมท่าอากาศยาน ร่วมพัฒนาเชิงพาณิชย์สนามบินอุดรฯ ส่วนต่อขยาย’ เนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาโครงการความร่วมมือพัฒนาและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธาน โดย ปตท. จะพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่อาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยาย ของท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ประกอบด้วย บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร สำหรับเป็นร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านเพื่อสุขภาพ ธนาคาร และนิทรรศการส่งเสริมกิจกรรมของท้องถิ่นในจังหวัดฯ , บริหารจัดการพื้นร้านค้าสวัสดิการ โดยจะเป็นร้านที่เป็นธุรกิจของ ปตท. ได้แก่ คาเฟ่ อเมซอน และ Texas Chicken รวมถึง บริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายนอกอาคารฯ คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในต้นปี 2560 โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ระหว่างองค์กรของรัฐ
(http://www.pttplc.com/th/Media-Center/News/Business/Pages/news-2016-08-08.aspx)
ข้างต้น คือ ภาพรวมของ 2 ผู้ประกอบการที่จอดรถสนามบินอุดรฯ โมเดลนำร่องที่กรมท่าอากาศยาน ยกพื้นที่ให้ ปตท. เข้ามาบริหารทั้งระบบ
หากตัดประเด็นร้องเรียนของผู้ประกอบการเดิมออกไป ประเด็นหลักก็คือ กระบวนการบริหารจัดการพื้นที่สนามบินของกรมท่าอากาศยานทั้งระบบ เหตุใด จึงไม่เปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วมประมูล ?
มีปัจจัยอะไรหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป