เจาะ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษล่าสุด! ความผิดไหนเข้าข่าย-ถูกงดเว้น?
“…บุคคลที่เข้าข่ายคดีก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-135/4 และบุคคลที่ถูกคำพิพากษาเรื่องทุจริตนั้น ไม่ได้รับการเข้าข่ายอภัยโทษมานานแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูในประเด็นข้อกฏหมายปลีกย่อยอีกทีหนึ่ง ถึงจะให้คำตอบได้ ส่วนคดีตามมาตรา 112 ยังได้การพระราชทานอภัยโทษอยู่ แต่ต้องดูเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบด้วย…”
กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมจับตา !
ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 หรือฉบับล่าสุด ที่มีสำคัญคือ จะไม่พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังที่ถูกพิพากษาในความผิดเกี่ยวกับการ ‘ข่มขืน’ หรือถูกพิพากษาจำคุกเกิน 8 ปี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ยาเสพติด’
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เจาะ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ ฉบับดังกล่าว ให้สาธารณชนเข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ ฉบับแรก มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2478 (สมัย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี)โดยระบุวัตถุประสงค์ไว้ทำนองว่า พระมหากษัตริย์ทรงคำนึงถึงบุคคลที่ต้องโทษราชทัณฑ์ และเพื่อให้โอกาสผู้ต้องขังกลับตัวกลับใจเป็นคนดีจึงได้ตรา พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไว้
หลังจากนั้นมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ ตามมาอีกหลายสิบฉบับ ส่วนใหญ่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ ‘ในหลวง’ และ ‘พระราชินี’ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์
กระทั่งฉบับล่าสุด ถือเป็นฉบับที่ 44 โดยตราขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2559 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
อย่างไรก็ดีในฉบับนี้ ได้แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ เมื่อปี 2558 ไว้หลายประการด้วยกัน
โดยสำนักประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้เผยแพร่ข่าวระบุถึงการตรา พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ ฉบับนี้ว่า ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ แบ่งได้ 3 ส่วน คือ
หนึ่ง ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตหลังวันที่ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้บังคับใช้ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
สอง ผู้ต้องขังชั้นกลาง ชั้นเลว ชั้นเลวมาก และผู้ต้องขังเด็ดขาด ซึ่งต้องโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรค 3 (กระทำชำเราโดยใช้อาวุธหรือเข้าข่ายโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน) มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ และมาตรา 277 ตรี (เกี่ยวกับการกระทำชำเราเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี) มาตรา 280 (กระทำชำเราจนผู้ถูกกระทำถึงแก่ชีวิต) มาตรา 285 (กระทำชำเราผู้อยู่ภายใต้ปกครอง) หรือมาตรา 343 (เกี่ยวกับการฉ้อโกง ปกปิดข้อความอันเป็นเท็จแก่บุคคลที่สาม หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกแก่ประชาชน)
สาม พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ยังรวมถึงผู้ต้องขังตามตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารด้วย โดยให้ รมว.กลาโหม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ได้รับการให้อภัยนั้น ถูกระบุหลักเกณฑ์ว่า ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือได้รับโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และผู้ต้องขังอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ เช่น ผู้พิการตาบอดสองข้าง มือเท้าด้วน ทุพลภาพชัดเจน ผู้เจ็บป่วยโรคเรื้อน ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เอดส์ หรือโรคจิต ที่แพทย์รับรองว่าไม่สามารถรักษาในเรือนจำให้หายได้ โดยต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2
หรือผู้ต้องขังหญิงที่ต้องโทษครั้งแรกจำคุกมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 หรือผู้ต้องขังอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือผู้ต้องขังที่จำคุกครั้งแรกอายุไม่ครบ20 ปี จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 หรือผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยสำนักข่าอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ประเด็นนี้หากพูดในภาพรวมจะแบ่งประเด็นสำคัญได้สองส่วนคือ การไม่อภัยโทษแก่ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการข่มขืน หรือกระทำชำเราผู้อื่น อีกส่วนคืออภัยโทษให้กับผู้ต้องขังชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม แต่ไม่นับกับพวกต้องโทษคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ถูกพิพากษาให้จำคุกเกิน 8 ปี ส่วนประเด็นปลีกย่อยทางกฎหมายอื่น ๆ กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม อยู่ระหว่างหารือกัน และจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบต่อไป
ขณะที่นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ (น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุสั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า เป็นข้อกฎหมายที่อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงยุติธรรม และเตรียมจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ แต่เบื้องต้นเป็นไปตามที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวออกมา
อย่างไรก็ดี พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ถูกบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า ไม่อภัยโทษแก่ บุคคลที่เข้าข่ายคดีก่อการร้าย หรือคดีเกี่ยวกับการทุจริต หรือแม้แต่มาตรา 112 ?
ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า บุคคลที่เข้าข่ายคดีก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-135/4 และบุคคลที่ถูกคำพิพากษาเรื่องทุจริตนั้น ไม่ได้รับการเข้าข่ายอภัยโทษมานานแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูในประเด็นข้อกฏหมายปลีกย่อยอีกทีหนึ่ง ถึงจะให้คำตอบได้ ส่วนคดีตามมาตรา 112 ยังได้การพระราชทานอภัยโทษอยู่ แต่ต้องดูเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบด้วย
ทั้งนี้จากการตรวจสอบ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ที่ถูกตราขึ้นทั้งหมด 44 ฉบับ พบว่า นับตั้งแต่ฉบับแรกคือ พ.ศ.2478 ถึงฉบับที่ 37 พ.ศ.2549 ยังไม่มีการระบุว่า ผู้ต้องขังคดีก่อการร้าย ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ (ฉบับที่ 38 เป็นการแก้ไขคำผิดเล็กน้อยในฉบับที่ 37)
แต่ในฉบับที่ 39 พ.ศ.2550 มีการระบุเป็นครั้งแรก ในบัญชีแนบท้ายความผิด โดยปรากฏผู้ต้องขังที่ทำความผิดตามมาตรา 135/1 (เกี่ยวกับการก่อการร้าย) ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษรวมอยู่ด้วย และในฉบับต่อ ๆ มา จนถึงฉบับล่าสุดคือฉบับที่ 44 นี้ ก็มีการแนบท้ายฐานความผิดดังกล่าวมาด้วยตลอด เช่นเดียวกับความผิดฐานทุจริตที่มีการบัญญัติไว้ก่อนหน้านี้อีก
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ฉบับใหม่ พ.ศ.2559 นี้
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมด คงต้องรอให้กรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงยุติธรรม แถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง !
(อ่าน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ทั้งหมด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search_result.jsp?SID=7DA0149ADE2D12592E9EE52BC7157A10)
(อ่าน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/068/1.PDF)