เอ็นจีโอฟันธง "รัฐยิ่งแก้-ชนบทยิ่งจน" ท้าดึงเกษตรกรเก่งร่วมแก้ปัญหาชาติ
ศ.สเน่ห์ชี้ชนบทไม่ขาดเงินแต่ขาดคน นโยบายวิจัยเห็นชาวบ้านเป็นแค่ลูกหาบ ดร.เพิ่มศักดิ์มองแผนพัฒนาประเทศเป็นเสือกระดาษช่วยเกษตรกรไม่ได้ บอกแผน 11 ต้องเน้นปากท้อง รองอธิบดีกรมข้าวแจงขับเคลื่อนศูนย์ข้าวชุมชน เอ็นจีโอฟันธงรัฐยิ่งแก้คนยิ่งจน ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด ชาวบ้านเสนอทบทวนแผนพัฒนาประเทศ
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาต้นแบบระดับชุมชนและการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และภาคีเครือข่าย จัดสมัชชาวิชาการ “ความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ” โดย ศ.เสน่ห์ จามริก อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ชนบทต้องเผชิญกับการล่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาจากภายนอกโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นสิทธิของชุมชนที่ทำเงินและสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้ชีวิตได้ ดังนั้นการรักษาต้นทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมหาศาลโดยการสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกันทั้งภายในและระหว่างชุมชนภายนอกจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
ศ.เสน่ห์ กล่าวต่อไปว่า จุดอ่อนของชนบทไม่ใช่ขาดเงินทอง แต่ขาดคนเนื่องจากระบบการศึกษาสอนให้ลูกหลานเกษตรกรไปสร้างความร่ำรวยในเมืองแทนที่จะกลับมาต่อยอดจากฐานภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่น สิ่งที่ต้องผลักดันคือจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการศึกษาที่สอนให้คนกลับบ้านและเป็นการศึกษาของชุมชนอย่างแท้จริง อีกประเด็นหนึ่งคือนโยบายวิจัยของชาติยังปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นพียงลูกหาบแทนที่จะเป็นเจ้าของและผู้ใช้ประโยชน์
“ชาวบ้านต้องเป็นคนควบคุมนโยบายรัฐ ประสานคบหากับโลกภายนอก แต่ต้องทำในฐานะผู้กำหนดความเป็นไปของตนเอง และผู้นำการผลิตของโลก ไม่ใช่ปล่อยให้คนนอกมาล้วงตับ”
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า บทเรียนการต่อสู้ของชุมชนที่ผ่านมาไม่ได้ต่อสู้ด้วยอารมณ์ความรู้สึก แต่เป็นการสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรที่ยังไม่มีหลักประกันภัยคุกคามจากภายนอก ที่ผ่านมาแผนพัฒนาประเทศเหมือนเสือกระดาษ ไม่มีผลในทางปฏิบัติเพื่อดูแลทรัพยากรและเกษตรกรที่แท้จริง หากเป็นเช่นนี้ในอนาคตเกษตรกรจะน้อยลง การผลิตอาหารจะผูกขาดโดยบริษัท และชนบทจะไม่มีหลักประกันความมั่นคงทางอาหารอีกต่อไป
“ความคาดหวังต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 นี้ ควรเน้นให้ปากท้องต้องอิ่ม เอื้อต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม วิธีการ ตลอดจนกระบวนการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับการผลิตอาหารที่หลากหลายและยั่งยืน”
ในประเด็นปัญหาข้าวฐานซึ่งฐานอาหารหลักของไทย นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าขณะนี้เกษตรกรปลูกข้าวต่อเนื่อง ส่งผลต่อการใช้น้ำต้นทุนน้ำที่มากเกินอัตรา และที่ดินเสื่อมโทรมมากถึงร้อยละ 30-40 เพราะการทำนาเคมีที่มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีประเด็นศัตรูพืชและวิกฤติอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสร้างองค์กรข้าวชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
“การแก้ปัญหาข้าวคือต้องมีการจัดระบบปลูกข้าวใหม่ โดยการกำหนดให้ทำนาเพียงปีละ 2 ครั้ง เพื่อลดการใช้น้ำ และปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนระหว่างพักนา และการขับเคลื่อนศูนย์ข้าวชุมชน โดยอาจจะสร้างศูนย์ข้าวชุมชนหลัก 10 ศูนย์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิต พยากรณ์เตือนภัยและให้บริการชาวนา เพื่อให้เกิดการดูแลกันเอง ส่วนศูนย์ที่เหลือจะให้เป็นบริวาร”
สำหรับประเด็นการพัฒนาพันธุ์ข้าว รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า งานวิจัยที่อยู่ในมือกรมการข้าวขณะนี้ มีพันธุ์ข้าวที่เก็บรักษาไว้ทั้งหมด 24,000 ชนิด เป็น 17,000 ชนิด เป็นพันธุ์พื้นบ้าน แต่เห็นว่าหากต่อไปมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรกรหรือปราชญ์ในพื้นที่กับนักวิจัยในกรมการข้าว ผนึกกำลังการทำงานร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์มาก
“การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวจะต่อยอดการทำงานกับหน่วยงานราชการได้ เนื่องจากภาระงานของกรมการข้าวและจำนวนบุคลากรที่มีเพียง 800 คนอาจไม่เพียงพอที่จะดูแลเกษตรกรทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
นายชัยฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า การทำงานกับรัฐที่ผ่านมามักให้ความสำคัญกับการตลาดมากกว่าการผลิต ทั้งที่ข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เป็นพืชเศรษฐกิจและพืชทางที่การเมืองให้ความสำคัญอย่างมีนัยยะ และชาวนาก็สร้างรายได้ให้ประเทศถึงสี่แสนกว่าล้านบาท ที่สำคัญยังเป็นรูปแบบประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของไทย
ด้านนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า จริงๆ ปัญหาของชาวนาสลับซับซ้อนมากเกินกว่าจะใช้แค่การจัดระบบปลูกข้าว หรือสร้างองค์กรชาวนาให้เข้มแข็ง เพราะตราบใดที่เจ้าหน้าที่กรมการข้าวยังรู้สึกว่าการช่วยเหลือชาวนา โดยสร้างโครงการ การนำงบไปสนับสนุน หรือการกำหนดกติกาแบบไม่คำนึงถึงรากเหง้าหรือวิถีของชาวนา เป็นวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ตราบนั้นไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้
“ที่ชาวนาจนเพราะการช่วยเหลือแบบนี้นี่แหล่ะ วิธีแก้ปัญหาจริงๆ คือการนำเกษตรกรที่เก่งๆ ชาวนาที่อยู่ได้แบบครบวงจรซึ่งมีอยู่เยอะมากมาทำงานตรงกลาง ถามว่าตรงนี้กล้าไหมล่ะ ยกตัวอย่างตอนเพลี้ยระบาด ก็มีนโยบายลงมาให้ฉีดยา ซึ่งมันฆ่าตัวห้ำตัวเบียนที่กินเพลี้ย เลยยิ่งระบาดหนัก สุดท้ายก็มาโทษชาวนาว่าทำนาต่อเนื่อง ไม่หยุดเป็นต้นเหตุให้เกิดศัตรูพืช แล้วก็มาจัดการให้ชาวนาทำนาแค่ปีละ 2 ครั้ง”
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวอีกว่า อย่างประเด็นพันธุ์ข้าว ช่วงที่เพลี้ยระบาดหนัก พันธุ์พื้นบ้านที่ชาวบ้านปรับปรุงเองไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่พันธุ์ของรัฐระบาดทุกชนิด ย้ำว่าหากกระบวนการส่งเสริมเกษตรกรไม่ดีพอ มีตัวอย่างแล้วไม่ขยายผล ต่อไปนาไทยก็เป็นของคนอื่น
ทั้งนี้ มีการสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ โดย นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญและหลากหลาย ทั้งสัตว์น้ำ สับปะรด หรือมะพร้าว ฯลฯ การที่รัฐเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาจากฐานอาหาร มาเป็นการใช้อุตสาหกรรมเหล็กนำร่อง โดยอ้างความเติบโตและสนับสนุนการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่การแปรรูปอาหาร ลงทุนน้อยและพื้นที่ก็ตอบรับมากกว่า เสนอว่ารัฐควรกลับไปทบทวนแผนพัฒนาประเทศเสียใหม่
“ต่อไป จ.ประจวบฯจะมีกระดูกสันหลังเป็นเหล็ก แผนพัฒนาที่มีตอนนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเลย ยืนยันว่าที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะแหล่งอาหารและฐานทรัพยากร”
นายพิเชษฐ์ ปานดำ ตัวแทนชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า การขยายการท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์สึนามิคือจุดเปลี่ยนผ่านที่ทำให้ป่าชายเลนกว่า 4,000 ไร่ในชุมชนถูกทำลาย กลไกทางศาสนาที่เข้มแข็งเคยเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวจิตใจใช้ไม่ได้ผล ชาวบ้านแตกเป็นสองฝ่ายเกิดการเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมา ชุมชนหันมาใช้เด็กและผู้หญิงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ชูประเด็นอาหารท้องถิ่นโยงกับฐานทรัพยากรมาเป็นข้อต่อรองกับคนภายนอก จนสามารถรักษาป่าชายเลนผืนสุดท้ายไว้ได้ 1,200 ไร่.