สปสช.เขต 8 อุดรธานี คว้ารางวัล R2R ดีเด่น “แปลงธรรมนูญสุขภาพสู่งานกองทุนสุขภาพตำบล”
สปสช.เขต 8 อุดรธานี คว้ารางวัล R2R ดีเด่น ประจำปี 2559 ด้าน “งานสนับสนุนบริหารและบริการ” จากผลงานวิจัย “การพัฒนารูปแบบและเครือมือการแปลงธรรมนูญสุขภาพสู่การวางแผ่นงานกองทุนสุขภาพตำบล” ในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนบน จัดทำคู่มือปฏิบัติ 4 ขึ้นตอนนำธรรมนูญสุขภาพสู่การบริหารกองทุนสุขภาพตำบล ส่งผลการดำเนินงานตรงความต้องการประชาชน
ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า สปสช.เขต 8 อุดรธานี มีนโยบายสนับสนุน “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กองทุนสุขภาพตำบล) ในการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุนสุขภาพตำบล โดยดำเนินการในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนบน ตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกันนี้ยังได้ทำการวิจัย “การพัฒนารูปแบบและเครื่องมือการแปลงธรรมนูญสุขภาพสู่การวางแผนงานกองทุนสุขภาพตำบลในพื้นที่อีสานตอนบน” และได้รับการคัดเลือกจากโครงการสนับสนุนพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยระดับประเทศ รับรางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ประจำปี 2559 ด้านระดับงานสนับสนุนบริหารและบริการ ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย Routine to Research (R2R) ครั้งที่ 9 “R2R 9 แห่งการเรียนรู้ 9 สู่นโยบาย” เมื่อวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ที่ผ่านมา
ด้าน น.ส.วันรพี สมณช้างเผือก หัวหน้างาน งานคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม สปสช.เขต 8 อุดรธานี ในฐานะผู้ทำวิจัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการพัฒนารูปแบบและเครื่องมือการแปลงธรรมนูญสุขภาพสู่การวางแผนงานกองทุนตำบลในพื้นที่อีสานตอนบน เนื่องจากหลัง สปสช.เขต 8 อุดรธานี สนับสนุนกองทุนตำบลใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพเพิ่มประสิทธิภาพการบริการกองทุนในพื้นที่อีสานตอนบน โดยปี 2557 มีจำนวน 109 แห่ง ปี 2558 มีจำนวน 88 แห่ง และปี 2559 ขยายครอบคลุมกองทุนสุขภาพตำบล 21 แห่งใน จ.สกลนคร ทั้งหมด รวมทั้งหมด 218 แห่ง แต่จากการติดตามขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสู่การปฏิบัติ พบปัญหาดำเนินงานที่เกิดจากการขาดเครื่องมือทำงานที่ชัดเจน ส่งผลให้การแปลงธรรมนูญสุขภาพสู่การวางแผนงานกองทุนตำบลล่าช้าและไม่เป็นระบบ
ทั้งนี้จากข้อมูลไตรมาสแรก ปี 2559 มีการขับเคลื่อนแผนงานกองทุนตำบลเพียงร้อยละ 34.8 หรือ 65 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการร้อยละ 65.2 หรือ 122 แห่ง จึงทำการออกแบบรูปแบบและเครื่องมือการแปลงธรรมนูญ เพื่อทำเป็นคู่มือปฏิบัติ อบรมพัฒนาทีมวิทยากรจังหวัด ทีมวิทยากรจังหวัดดำเนินการแปลงธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนบน จำนวน 11 แห่ง พร้อบกับถอดบทเรียนและปรับปรุงคู่มือ ประเมินผลความพึงใจต่อรูปแบบและเครื่องมือแปลงธรรมนูญสุขภาพสู่การปฏิบัติ ซึ่งนำมาสู่การจัดทำคู่มือฉบับสมบูรณ์และได้รับการขึ้นทะเบียนคู่มือการทำงานในระบบมาตรฐาน ISO
“เครื่องมือการแปลงธรรมนูญสุขภาพที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นการออกแบบคู่มือปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ในการนำธรรมนูญสุขภาพมาใช้ในการบริหารกองทุนสุขภาพตำบล เพิ่มการมีส่วนร่วมประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังจัดทำเครื่องมือแบบฟอร์มการแปลงธรรมนูญสู่การวางแผน 3 แบบฟอร์ม ที่ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงชี้ที่มาแผนงานโครงการอย่างเป็นระบบ ผลดำเนินการไม่เพียงแต่ทำการดำเนินงานกองทุนตรงกับความต้องการประชาชนในพื้นที่ แต่ยังเกิดทีมวิทยากรระดับจังหวัดที่มีความรู้เรื่องการแปลงธรรมนูญเพิ่มขึ้น”
น.ส.วันรพี กล่าวว่า จากผลการวิจัยนี้ยังทำให้เกิดการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ในพื้นที่ 11 แห่ง จัดกระบวนการเรียนรู้ภายในและภายนอก ขณะเดียวกัน อปสข.เขต 8 อุดรธานี ยังมีนโยบายขยายผลการจัดทำธรรมนูญสุขภาพให้ครอบคลุมกองทุนตำบลทุกแห่งในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนบน จำนวน 518 แห่ง พร้อมกันนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะยังใช้เป็นรูปแบบขยายผลระดับประเทศ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังมีนโยบายประสานความร่วมมือ บูรณาการการทำงานร่วมกับ สปสช. โดยใช้ฐานกองทุนตำบล เป็นจุดพัฒนาธรรมนูญสุขภาพตำบลและแผนพัฒนาสุขภาพตำบลสอดคล้องกับปัญหาความต้องการของประชาชนต่อไป.