ร้อง ป.ป.ช.สอบ กกต.ทำประชามติไม่เที่ยงธรรม-ให้ศาล รธน.ตีความ‘โมฆะ’
ร้อง ป.ป.ช. สอบ กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมทำประชามติไม่เที่ยงธรรม แจกร่าง รธน. ไม่ครบทุกครัวเรือน บางคูหาผลคะแนนไม่ตรงกับผู้ใช้สิทธิ เตรียมเสนอศาล รธน. ตีความขอให้เป็น ‘โมฆะ’ ด้วย
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีผู้เห็นชอบกว่า 15 ล้านคน ผู้ไม่เห็นชอบกว่า 9 ล้านคน โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 27 ล้านคน ส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการทำประชามตินั้น
(อ่านประกอบ : ผลไม่เป็นทางการประชามติ รับ รธน. ลิ่ว 15 ล.ไม่รับ 9 ล. อีสาน-3 จว.ใต้ชนะโหวตโน)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ กกต. กรณีการทำประชามติดังกล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากกระบวนการจัดทำประชามติที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่า กกต. ได้กระทำการหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยชัดแจ้ง เป็นเหตุให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมหลายประการ เช่น การไม่แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญและให้ประชาชนทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถแสดงเจตน์จำนงในการใช้สิทธิได้อย่างอิสระ แตกต่างจากการลงประชามติเมื่อปี 2550 นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประชามติฯ โดยไม่เอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดในลักษณะฝ่าฝืน เช่น นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ชี้นำว่าตนเองจะรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้านกลับถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า รวมถึงการรีบเร่งแถลงผลประชามติทั้ง ๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการลงประชามติไปโดยไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม เช่น มีบางหน่วยเลือกตั้ง มีคะแนนการลงประชามติมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ แต่ กกต. กลับนิ่งเฉยที่จะดำเนินการไต่สวนให้ชัดแจ้งเสียก่อน แต่เร่งรีบมาแถลงข่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน ขณะเดียวกันการจัดทำอุปกรณ์ลงประชามติ เช่น หีบบัตร ไม่มั่นคงแข็งแรง ขัดต่อประกาศ กกต. และขัดต่อกฎหมาย แต่ไม่ได้มีการสอบสวนเอาผิดผู้กระทำการฝ่าฝืนรวมถึงการจัดทำบัตรประชามติเพียงใบเดียว แต่มีสองช่อง ทำให้ผู้มีสิทธิสับสนจนนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายประชามติเป็นจำนวนมาก
“ด้วยเหตุต่างๆ ดังกล่าวทำให้การไปลงประชามติไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้ผลของประชามติที่ออกมาผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันมีผลมาจากการกระทำและหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. โดยตรง จึงต้องนำประเด็นดังกล่าวไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนและเอาผิด และเสนอให้ศาลอาญาเอาผิด หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผลการลงประชามติเป็นโมฆะต่อไป โดยจะไปยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 10 ส.ค. 2559 นี้” นายศรีสุวรรณ กล่าว