บึ้มป่วนนราฯ30ลูกดับ1 – ปัตตานีถล่มรถขนหีบบัตร – ทหารปลื้มคนแห่ใช้สิทธิ์
สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดหีบออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 12 ชั่วโมง ต่อเนื่องถึงวันออกเสียงประชามติ มีระเบิดเกิดขึ้นกว่า 10 จุด มากกว่า 30 ลูก แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ยังเดินทางออกมาใช้สิทธิ์
เหตุระเบิดแบ่งออกเป็น 3 ช่วง เริ่มจากช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 6 ส.ค.59 เกิดขึ้นกว่า 10 จุดในหลายอำเภอของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย
พื้นที่อำเภอเมือง 1 จุด ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
อำเภอสุไหงโก-ลก 3 จุด เสาไฟฟ้าหัก 4 ต้น
อำเภอรือเสาะ 1 จุด เสาไฟฟ้าได้รับความเสียหาย 2 ต้น
อำเภอยี่งอ เกิดระเบิด 2 จุด เสาไฟฟ้าได้รับความเสียหาย 3 ต้น
อำเภอแว้ง 1 จุด เสาไฟฟ้าเสียหายเช่นกัน
อำเภอเจาะไอร้อง 1 จุด 3 ลูก เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เสียหาย
อำเภอระแงะ มีระเบิด 3 จุด เสาไฟฟ้าล้ม 3 ต้น
อำเภอจะแนะ ระเบิด 4 ลูกในพื้นที่ตำบลดุซงญอ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายอาซัน เจ๊ะดือราแม ชาวบ้านตำบลผดุงมาตร โดนสะเก็ดระเบิดขณะขี่รถจักรยานยนต์ผ่านจุดเกิดเหตุ
อำเภอบาเจาะ มีระเบิด 1 จุด ยังไม่มีรายงานความเสียหาย
อำเภอตากใบ เกิดระเบิด 2 ลูก เสาไฟฟ้าเสียหาย 2 ต้น
ทั้งนี้ เหตุระเบิดชุดนี้ คนร้ายพุ่งเป้าไปที่เสาไฟฟ้าและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่บางระบบใช้งานไม่ได้
มอเตอร์ไซค์บอมบ์ 2 จุดรับอรุณ
ต่อมาในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.ซึ่งเป็นวันลงประชามติฯ มีระเบิดเกิดขึ้นอีก 3 จุดใน จ.นราธิวาสเช่นกัน เป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์ 2 จุด ในเขตเทศบาลตำบลยี่งอ หน้าร้านรับซื้อเศษยางพารา อำเภอยี่งอ และในพื้นที่ สภ.ตันหยง อำเภอเมือง ทั้งสองจุดไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนั้นที่อำเภอแว้ง จ.นราธิวาส มีระเบิดดักโจมตีรถยนต์ของกองร้อยทหารพรานที่ 1116 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 11 บริเวณเชิงสะพานแห่งหนึ่ง ขณะทหารพรานกำลังออกลาดตระเวน ยังไม่มีรายงานความสูญเสีย
ดักบึ้มขบวนรถขนหีบบัตรที่สายบุรี เจ็บ 3
ต่อมา ในช่วงเย็นหลังปิดหีบออกเสียงประชามติแล้ว ยังมีเหตุลอบวางระเบิดขบวนรถขนหีบบัตรในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี ด้วย แรงระเบิดทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ ส.ต.ท.กฤษฎา หลวงสนาม และ ส.ต.ต.นาวิน แสงทองสุข นอกจากนั้นยังมีครูได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย คือ นายอารีซี มาหามะ ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลสายบุรี
ฝ่ายมั่นคงปลื้มประชาชนแห่ใช้สิทธิ์ไม่สนป่วน
แม้จะมีการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ แต่จำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวมเกินกว่าร้อยละ 50 แยกรายอำเภอทั้ง 33 อำเภออยู่ในช่วงร้อยละ 50-70
พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ภาพรวมของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ สะท้อนว่าประชาชนตอบรับกับกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ แม้จะมีการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบก็ไม่มีผล เพราะยอดผู้ใช้สิทธิ์ไม่ได้ต่ำกว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. หรือแม้แต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 มากนัก ส่วนประชาชนในพื้นที่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สัญญาณที่ดีคือประชาชนไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการในการปกครองของประเทศไทย