ผนึกพลังเยาวชน 'น่าน' สร้างสรรค์ความยั่งยืนเพื่อบ้านเกิด
“พลังสำคัญ” ในการขับเคลื่อนเมืองน่านให้กลับมาเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม คือ พลังเล็ก ๆ ของเยาวชนซึ่งพลังเหล่านี้คือ “อนาคตของเมืองน่าน” ที่จะเข้ามาช่วยกัน “สร้าง” เมืองน่านให้คง “คุณค่าความเป็นน่าน” ตราบนานเท่านาน
ท่ามกลางกระแสข่าวว่าด้วยเรื่องของสถานการณ์เมืองน่านเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ผู้คนจากทุกสารทิศต่างระดมกำลังร่วมพลิกฟื้นคืนผืนป่าให้เมืองน่านนั้น ยังมีเยาวชนเมืองน่านกลุ่มหนึ่งจาก 8 อำเภอ ที่ไม่ได้นิ่งดูดายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินถิ่นเกิดที่พวกเขาอาศัยอยู่ เยาวชนกลุ่มนี้ได้ลุกขึ้นมาพลิกฟื้นเมืองน่าน ด้วยการเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนผ่านการทำโครงการในประเด็นต่างๆ อาทิ การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า การจัดการขยะ และการจัดการศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่าน แม้จะเป็นเพียงแค่เยาวชนจำนวนหนึ่งแต่ก็เป็นเสียงสะท้อนว่า “เยาวชนเมืองน่านไม่ได้นิ่งดูดายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน โรงพยาบาลน่าน ผู้ขับเคลื่อนงานด้านสังคมในจังหวัดน่านมายาวนาน กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานมหกรรมพลังเยาวชน “พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด ปี 2” ว่า งานในวันนี้แสดงให้เห็นว่าเยาวชนจังหวัดน่านไม่ได้นิ่งดูดายต่อปัญหาของเมืองน่าน แต่เยาวชนทั้งหลายนั่งคิด นั่งทำ เพื่อที่จะสืบสานสิ่งดี ๆ ของจังหวัดให้สืบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน น้ำ ป่า หรือวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความหวังที่ผู้เฒ่าทั้งหลายคิดอยู่ และเมื่อมาเห็นเยาวชนน่านทำเรื่องเหล่านี้ เราก็นอนตายตาหลับ คำพูดที่เยาวชนพูดออกมานั้นล้วนมาจากการที่เยาวชนได้ลงมือทำจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจมาก จังหวัดน่านมีปัญหามากมาย ถ้าเราจะหวังให้คนที่อื่นมาช่วยอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องเริ่มที่เราก่อนเหมือนที่ละอ่อนน่านในวันนี้ร่วมกันทำ”
ขณะที่พระครูสุจิณนันทกิจ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน(วัดโป่งคำ) กล่าวว่า เยาวชนเมืองน่าน มีศักยภาพและเป็นพลังสำคัญในการ พัฒนาสังคมชุมชนท้องถิ่น เพียงผู้ใหญ่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพ ของตนเองที่สร้างสรรค์ในการคิด ศึกษาความรู้ วิเคราะห์ ออกแบบ วางแผนและลงมือทำ กิจกรรมเพื่อ ชุมชนท้องถิ่น บนฐานความรู้และการสรุปบทเรียนร่วมกัน
ในส่วนของนายอภิสิทธิ์ ลัมยศ ในฐานะโคชของโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่ดูแลและคอยให้คำปรึกษาน้อง ๆ เยาวชน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดโอกาสได้เยาวชนได้ลงมือทำ เพราะเราเชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนมีศักยภาพและความสามารถ เพียงแต่ว่ายังขาดการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนได้ทำโครงการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนเป็นตัวเชื่อมการทำงานร่วมกัน ระหว่างตัวเยาวชนเองและเพื่อนในชุมชนเอง
ย้อนไปเมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มเยาวชนจาก 8 อำเภอรวมตัวกันเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนน่าน ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดน่าน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) เกิดเป็นโครงการกว่า 13 โครงการแบ่งออกเป็น 3 ด้านประกอบ ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการจัดการทรัพยากร ด้านการจัดการขยะ ทุกโครงการต่างมีฐานคิดภายใต้การทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งกระบวนการสุดท้ายของการทำโครงการนี้คือการคืนข้อมูลสู่สาธารณะ จึงเป็นที่มาของงานมหกรรมพลังเยาวชน "พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด" ครั้งที่ 2 ณ ข่วงเมืองน่าน วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ภายใต้โจทย์คิดที่ว่า ให้เยาวชนเป็นคนคิดเอง ทำเอง วางแผนการดำเนินงานเอง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีในฐานะโคช เป็นผู้หนุนเสริมอยู่เบื้องหลัง
สำหรับรูปแบบของการจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นด้วยการเดินขบวนของกลุ่มเยาวชนที่ต่างแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ และการแสดงของกลุ่มเด็กเยาวชน ทั้งการฟ้อนรำไทลื้อ สาธิตการตีกลองปูจา ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่าน ระหว่างการเดินขบวนได้รับความสนใจจากผู้ที่สัญจรไปมา รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดน่านเป็นอย่างมาก โดยการเดินขบวนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ในวันนี้ได้มีกลุ่มเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ได้รวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านเกิดของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการพูดIgnite show (พูดสร้างแรงบันดาลใจ) จากตัวแทนเยาวชนทั้ง 13 โครงการที่มาบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นทำโครงการ ปัญหาและอุปสรรค วิธีการแก้ไข และสิ่งที่ได้จากการทำโครงการที่เยาวชนได้จากการลงมือปฏิบัติจริง ซุ้มนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นของแต่ละโครงการ รวมถึงการแสดงของกลุ่มเยาวชนที่ต้องการนำเสนอคุณค่าจากการลงมือทำโครงการ อาทิ การแสดงตีกลองปูจา ฟ้อนดาบฟ้อนเจิง, การแสดงฟ้อนปั่นฝ้ายจากเยาวชนบ้านหนองบัว เป็นต้น
ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องยืนยันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเยาวชนได้อย่างชัดเจนในครั้งนี้คงหนีไม่พ้น คำยืนยันจากผู้ปกครองของเยาวชนที่ได้มาเข้าร่วมโครงการ นางทับทิม เผือแก้ว ในฐานะตัวแทนผู้ปกครองเยาวชนในโครงการและยังผันตัวเองเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงของโครงการสะท้อนว่า “ตนเองให้การสนับสนุนผ่านการแนะนำและการสนับสนุนกับน้อง ๆ เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการว่า เขามีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น เขาได้คิดเอง ทำเอง มีความรับผิดอบมากขึ้น ที่สำคัญคือพฤติกรรมการทิ้งขยะแต่ก่อนกินที่ไหนก็ทิ้งที่นั่น แต่ตอนนี้เวลาที่กินอะไรก็จะเก็บขยะไว้ไม่ทิ้งข้างทาง ต้องขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้ลูกของตนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น”
ส่วนน้อง ๆ เยาวชนทั้ง 13 โครงการต่างสะท้อนว่า พวกเขารู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นเยาวชนเมืองน่าน มาร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับเมืองน่าน ได้แสดงศักยภาพให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เด็กน่านอย่างเราก็สามารถทำอะไรดี ๆ เพื่อเมืองน่านได้เหมือนกัน ถึงแม้ระหว่างทางอาจจะมีปัญหาและอุปสรรคบ้างแต่เมื่อเราช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออกเราก็สามารถผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้ จากแต่ก่อนที่ตนเองไม่เคยสนใจชุมชน ไม่เคยสนใจคนรอบข้างแต่เมื่อมาร่วมโครงการในครั้งนี้ทำให้ตัวเองรู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น รักและหวงแหนสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ที่สำคัญคือรู้สึกดีใจที่เห็นผู้ใหญ่เชื่อใจ และเปิดโอกาสได้พวกเขาได้มีโอกาสคิดเอง ทำเอง และเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด งานมหกรรมในครั้งนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือจัดเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ว่างานในครั้งนี้คืองานของพวกเราเยาวชนจังหวัดน่าน
และนี่คือบทพิสูจน์ว่า พลังเล็ก ๆ ที่สร้างสรรค์ของเยาวชนละอ่อนนั้น ก็สามารถกลายเป็น “พลังสำคัญ” ในการขับเคลื่อนเมืองน่านให้กลับมาเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ผ่านตัวเยาวชนที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดขึ้นในชุนชนได้ ซึ่งพลังเหล่านี้คือ “อนาคตของเมืองน่าน” ที่จะเข้ามาช่วยกัน “สร้าง” เมืองน่านให้คง “คุณค่าความเป็นน่าน” ตราบนานเท่านาน