ระเบิดเวลาลูกใหญ่ ธพว.‘หนี้รายย่อย’รอปะทุ! เกินครึ่งของพอร์ตสินเชื่อ 8.8 หมื่นล.
แกะระเบิดเวลาลูกใหญ่ของ ธพว. ‘หนี้รายย่อยไม่มีหลักประกัน’ มหาศาลรอปะทุ มีเกินกว่าครึ่งของพอร์ตสินเชื่อ 8.8 หมื่นล. ย้อนหลัง 2 ปี ปล่อยกว่า 5 หมื่นล. ผิดนัดมากกว่า 50% แต่ปรับโครงสร้างหนี้ซ่อน NPL ไว้กว่า 1.5 หมื่นล. แบงก์ชาติเข้าตรวจเดือน ส.ค.นี้ จับตาอาจสั่งให้กันสำรองเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นล. งานนี้กระทบผลประกอบการอย่างรุนแรง มีหวังเข้าสู่วัฏจักรเดิม
การแถลงผลประกอบการครึ่งแรกปี 2559 ของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ระบุว่า ธพว. มีกำไร 6 เดือนแรกถึง 1,104 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 เกือบเท่าตัว ‘สำนักข่าวอิศรา’ ได้นำกำไรของปี 2558 มาชำแหละพบว่า มีการปรับปรุงรายการทางบัญชี จากที่ควรจะขาดทุนกลับเป็นกำไรมากกว่า 1,200 ล้านบาท ส่อว่ากำไรของปี 2559 ก็อาจจะซ้ำรอยกับปี 2558
ในการแถลงผลประกอบการ ยังได้ระบุถึงตัวเลขสินเชื่อและ NPL ว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 16,479 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 88,532 ล้านบาท ยอดหนี้ NPL คงเหลือ 20,011 ล้านบาท คิดเป็น 22.6 % ของสินเชื่อรวม เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 27,184 ล้านบาทหรือ 31.47% โดย NPL ลดลง 7,173 ล้านบาท
ระบุเหตุผลสำคัญที่ ธพว. สามารถลดหนี้ NPL ได้มาก นอกจากการขายหนี้ NPL แล้ว ยังมาจากการสร้างระบบ Loan Monitoring เพื่อป้องกันหนี้ตกชั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง มีการติดตามดูแลลูกหนี้ที่อ่อนแออย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPL ได้ดีขึ้น และธนาคารได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ NPL ที่ยังดำเนินกิจการอยู่ควบคู่ไปด้วย
จึงต้องเจาะลึกถึงการปล่อยสินเชื่อของ ธพว. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และกระบวนการทำงานของระบบ Loan Monitoring ว่าเป็นอย่างไร ? ถึงได้ป้องกันหนี้ตกชั้นเอาไว้ได้ หลังจากที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยของ นายสมหมาย ภาษี ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ให้ ธพว. เน้นปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท และห้ามไม่ให้รับ Refinance ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี เนื่องจาก ก่อนหน้านั้น หนี้รายใหญ่ที่เป็นหลักร้อยล้านบาท ซึ่ง ธพว. รับ Refinance มาจากธนาคารอื่น เป็นหนี้เสียจำนวนสูงในช่วงปี 2552-2554 ทำให้ ธพว. ต้องหันมาเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อย
แต่ปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่ ธพว. คิดค้นขึ้นมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ไม่นับรวมโครงการของรัฐบาล) ล้วนแต่เป็นสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทที่ไม่ต้องใช้หลักประกัน ใช้เพียง บสย. ค้ำประกัน โดยมีชื่อโครงการต่าง ๆ กัน ซึ่งสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกัน เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และจากสถิติของ ธพว. ที่เคยปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ ปรากฏว่า มีอัตราผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 50% และเมื่อแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้แล้วจะเหลือเป็น NPL ในระดับ 30% เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ของการปล่อยสินเชื่อโครงการนั้น ๆ
ในอดีตหน่วยงานทางด้านบริหารความเสี่ยงของ ธพว. ได้เคยวิเคราะห์แนวโน้ม และสาเหตุการเกิดหนี้ NPL ของผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันไว้ว่า แนวโน้มการเกิดหนี้ NPL จะสูงขึ้นถึง 30 % ในแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งการเกิดหนี้ NPL มาจากสาเหตุหลัก 5 ประการ คือ
1) การผ่อนปรนหลักเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์
2) ผู้กู้เห็นว่า ไม่ต้องนำทรัพย์สินเของตนเองมาใช้เป็นหลักประกัน จึงมีเจตนาไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่ยื่นกู้
3) การเร่งรัดการแสวงหาลูกค้าของธนาคาร
4) การวิเคราะห์สินเชื่อที่ไม่รัดกุม
5) การร่วมกันทุจริตของเจ้าหน้าที่ธนาคารและลูกหนี้
โดยการเกิดหนี้ NPL เป็นจำนวนสูง อาจมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือหลาย ๆ สาเหตุรวมกัน
แต่ ธพว. ก็ยังคงออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เห็นแล้วว่าอัตราการเกิดหนี้ NPL ของสินเชื่อประเภทนี้จะสูงถึง 30% ซึ่งเป็นอัตราที่ทำให้ธนาคารต้องขาดทุน และถึงขั้นกระทบต่อการดำรงอยู่ขององค์กร แต่ก็ยังคงเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทนี้ เนื่องจาก สามารถปล่อยสินเชื่อได้เร็ว ทำให้เห็นผลงานได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการ หรือคณะกรรมการธนาคาร
ในปี 2558 ที่ ธพว.ปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 31,000 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 98% หรือเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกัน ใช้เพียง บสย. ค้ำประกันเท่านั้น และในครึ่งแรกของปี 2559 ได้ปล่อยสินเชื่อใหม่อีก 16,000 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อประเภทนี้อีกเช่นกัน ดังนั้น ย้อนหลังไป 2 ปี ธพว.ปล่อยสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันไปไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับที่มีอยู่เดิม พอร์ตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันจะสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาท ในขณะที่ ธพว.มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้นเท่ากับ 88,000 ล้านบาท
สาเหตุที่สัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันสูงขึ้นกว่าที่มีหลักประกัน ยังมาจากการประมูลขายหนี้ที่มีหลักประกันไป 10,000 ล้านบาท และถูกแทนที่ด้วยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันจากที่มีหนี้รายย่อยที่ไม่มีหลักประกันเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นมาก ธพว.จึงได้สร้างระบบการติดตามหนี้รายย่อย หรือ Loan Monitoring ขึ้นมาเพื่อป้องกันหนี้ตกชั้น (ตามที่ได้แถลงข่าว) และอ้างว่า สามารถป้องกันหนี้ตกชั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องเจาะลึกถึงกระบวนการทำงานของระบบนี้ว่าเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพจริง หรือเป็นแต่เพียงการซ่อนหนี้ NPL
โดย ธพว. ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ในระดับสายงานที่กำกับดูแลโดยผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เพื่อทำหน้าที่ติดตามเร่งรัดหนี้รายย่อยขึ้นเป็นการเฉพาะ ในขณะที่ ธพว. มีสายงานบริหารสินทรัพย์ที่ทำหน้าที่ติดตามเร่งหนี้อยู่เดิมแล้ว โดยสายงานใหม่ชื่อว่า สายงานบริหารคุณภาพสินเชื่อ ให้รายงานตรงต่อกรรมการผู้จัดการ แบ่งงานของสายงานนี้ออกเป็น 4 ฝ่ายตามพื้นที่ เรียกว่า ฝ่ายควบคุมคุณภาพสินเชื่อ 1-4
การติดตามเร่งรัดหนี้ของสายงานนี้ แตกต่างจากธนาคารทั่วไป ซึ่งธนาคารทั่วไปจะติดตามเร่งรัด เพื่อให้ลูกหนี้นำเงินที่ค้างชำระ ไม่ว่าจะเป็นกี่งวดก็ตาม มาชำระกับธนาคารให้ครบถ้วน หรือหากจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ ณ ขณะนั้น ที่ไม่ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ตกลงกันใหม่ จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า ลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลงจนเสร็จสิ้น หากไม่เป็นเช่นนั้น ธนาคารทั่วไปก็จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป เพื่อช่วยให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้ อีกทั้ง ธนาคารทั่วไปมีแนวคิดว่าการติดตามหนี้ที่ใช้วิธีการที่เข้มงวด จะได้ผลมากกว่าวิธีการผ่อนปรน และเป็นผลดีกับทั้งลูกหนี้และธนาคาร
แต่การปฏิบัติงานจริงของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินเชื่อ ทั้ง 4 ฝ่าย ของ ธพว. กลับไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตามเร่งรัดหนี้ของสถาบันการเงินโดยทั่วไป โดยไม่ได้เน้นการติดตามเอาเงินที่ลูกหนี้ค้างชำระมาชำระให้ครบถ้วน แต่เน้นว่า จะทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ให้ลูกหนี้ตกชั้นเป็น NPL ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ หรือเน้นให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ด้วยการตั้งพักเงินที่ค้างชำระทั้งหมดไม่ว่ากี่งวดก็ตามเอาไว้ก่อน พร้อมกับรีเซ็ทงวดค้างชำระให้เป็นศูนย์ และกำหนดเงื่อนไขการชำระใหม่โดยลดจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระต่อเดือนให้ต่ำลง และเริ่มต้นชำระหนี้กันใหม่ ซึ่งการลดจำนวนเงินงวดลงจะทำให้ต้องชำระเงินงวดสุดท้ายเป็นเงินก้อนใหญ่ หรือจะต้องขยายระยะเวลากู้ให้ยาวออกไป ซึ่งบางรายทำให้ระยะเกินกว่าหลักเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์สินเชื่อนั้น
การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติอย่างมาก ในลักษณะซ่อนลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่ให้โผล่ขึ้นมาเป็น NPL คือ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เดือนแรก ๆ หลังการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ เพิ่งผ่านการวิเคราะห์สินเชื่อมาแล้วว่า มีความสามารถชำระหนี้ตามจำนวนที่ตกลงกัน จึงได้รับอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้น ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ตามข้อตกลงไปได้อย่างน้อยที่สุด 2-3 ปี แล้วอาจมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อรายได้จึงขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ แต่การปรับเปลี่ยนหลังจากอนุมัติไปได้เพียงไม่กี่เดือน แสดงถึงการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่รัดกุมให้กับลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งการปรับเงื่อนไขให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้จึงเป็นเพียงการยืดเวลาการเป็นหนี้ NPL ออกไป โดยอีกไม่นานก็จะต้องตกชั้นเป็น NPL
การอนุมัติให้ลูกหนี้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าลูกหนี้ยังจะสามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงกันใหม่ได้หรือไม่ แต่การพิสูจน์รายได้ของลูกหนี้ เจ้าหน้าที่ ธพว. เพียงแต่ดูจากบันทึกของลูกหนี้หรือคำบอกเล่าของลูกหนี้แล้วเชื่อตามนั้น และลูกหนี้ก็ได้รับอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ จึงไม่ชัดเจนว่า ลูกหนี้จะชำระหนี้ตามข้อตกลงใหม่ได้หรือไม่ และเงินก้อนใหญ่ในงวดสุดท้ายจะชำระได้อย่างไร
ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ธพว. ปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันไปประมาณ 50,000 ล้านบาท (ตามที่แถลงข่าว) มีลูกหนี้มากกว่าครึ่งที่ผิดนัดชำระหนี้ และถูกส่งเข้าสู่ระบบ Loan Monitoring เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เฉลี่ยเดือนละมากกว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 2 ปี จะมีลูกหนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นวงเงินมากกว่า 25,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้อาจมีลูกหนี้บางรายปรับเปลี่ยนเงื่อนไขมากกว่า 1 ครั้ง ในช่วง 2 ปีนี้ หักออก 10,000 ล้านบาท จะเหลือ 15,000 ล้านบาท
ลูกหนี้ที่มีเงินต้นรวม 15,000 ล้านบาทนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อยที่ปล่อยใหม่ในช่วง 2 ปี และผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เดือนแรก ๆ หลังการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ตั้งแต่ตอนที่พิจารณาอนุมัติแล้ว เมื่อเริ่มต้นชำระจึงชำระไม่ได้ จึงต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการเป็น NPL
ลูกหนี้กลุ่มนี้ เมื่อแบงก์ชาติเข้าตรวจสอบ (ซึ่งการตรวจสอบประจำปี 2559 จะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้) จะถูกจัดชั้นหนี้ใหม่ที่เรียกว่า การจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพ หรือการจัดชั้นหนี้ที่ดูจากความสามารถชำระหนี้ที่แท้จริงของลูกหนี้ว่าจะชำระหนี้ได้เสร็จสิ้นตามข้อตกลงหรือไม่ โดยพิจารณาจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งหากแบงก์ชาติมีความเข้มงวดตามมาตรฐานเดียวกับการตรวจสอบแบงก์พาณิชย์ ลูกหนี้จำนวน 15,000 ล้านบาท เกือบทั้งหมดอาจถูกปรับเปลี่ยนชั้นหนี้ จากหนี้ปกติ เป็น NPL
ผลจากการถูกจัดชั้นเป็น NPL จะทำให้ต้องกันสำรองหนี้เพิ่มขึ้น โดยลูกหนี้กลุ่มนี้มีเพียง บสย.ค้ำประกัน ซึ่ง บสย.จะรับผิดชอบชำระหนี้แทนลูกหนี้เพียง 18% ของพอร์ตลูกหนี้ในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดย ธพว. ไม่ต้องกันสำรองในส่วนนี้ แต่ส่วนที่เหลืออีก 82% ของลูกหนี้ส่วนใหญ่ใน 15,000 ล้านบาท ที่จะถูกแบงก์ชาติจัดชั้นใหม่เป็น NPL จะต้องกันสำรองเพิ่มเท่ากับ 100% ของเงินต้น ซึ่งอาจทำให้ ธพว.ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 10,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างรุนแรง และเข้าสู่วัฏจักรเดิม คือ เกิดความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ระมัดระวังหรือขาดธรรมาภิบาล ซึ่งครั้งนี้ ไม่ใช่สินเชื่อรายใหญ่ แต่เป็นรายย่อย
นี่คือระบบ Loan Monitoring ที่ ธพว. นำมาใช้และอ้างว่า มีประสิทธิภาพ แต่อาจแสดงประสิทธิภาพเฉพาะก่อนแบงก์ชาติเข้าตรวจสอบ โดยแบงก์ชาติยังไม่เคยตรวจสอบการปฏิบัติงานของ ธพว. ในปี 2558 และครึ่งแรกของปี 2559 แบงก์ชาติเข้าตรวจสอบครั้งหลังสุด สิ้นสุดเพียง 31 ธันวาคม 2557
หลังผ่านการตรวจสอบของแบงก์ชาติในเดือนสิงหาคมนี้แล้ว ต้องติดตามดูว่า ระบบ Loan Monitoring ของ ธพว. จะยังทรงประสิทธิภาพอยู่อีกหรือไม่ และ ธพว. จะยังปล่อยสินเชื่อต่อไปได้หรือไม่? เพราะคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดที่มีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน มีคำสั่งให้หยุดปล่อยสินเชื่อ หากสินเชื่อที่ปล่อยใหม่มีหนี้ NPL เกิน 5% เนื่องจาก การปล่อยสินเชื่อแล้วเป็นหนี้เสีย ไม่มีประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการ และธนาคาร
อ่านประกอบ :
ชำแหละ กำไร 1,235 ล. ธพว.ปี 58 อาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง? - ปี 59 ส่อซ้ำรอย
'คลัง'ขยับสอบ-สั่งแจง ปม ธพว.อุ้ม บ.พายัพ ไม่ถูกฟ้องฉ้อโกง -'สาลินี'เลี่ยงตอบคำถาม
เบื้องหลัง'ธพว.'ตั้งเงื่อนไขพิสดาร? ปล่อยกู้ รร.นานาชาติ360ล.-ปริศนาเงินฝาก60ล.