ภาคประชาชนแถลงการณ์ร่วมค้าน ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ หวั่นไม่เป็นอิสระ
บ่ายวันนี้ (4 ส.ค. 2559) ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายสื่อภาคประชาชน และองค์กรผู้บริโภค 7 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมทั้งออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยอมรับสาระหลักหลายประเด็นของร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... หรือ ร่าง พ.ร.บ. กสทช.
สุวรรณา จิตรประภัสสร์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ภาคประชาชนไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ. กสทช. ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีเจตนายึดคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของอันมีค่าที่ประชาชนเจ้าของ และทำลายหลักการการปฏิรูปสื่อที่ภาคประชาชนร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2535
สุวรรณา กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ. ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช. ไม่ใช่เป็นการกีดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมอบอำนาจให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจควบคุมกำกับดูแล กสทช. ซึ่งอาจทำให้เกิดการครอบงำและแทรกแซงการทำงานของ กสทช. ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการลดอำนาจถ่วงดุลในการตรวจสอบ กสทช. ให้เหลือเพียงเป็นกลไกการตรวจสอบภายใน ทำให้องค์กรนี้ขาดความโปร่งใสและธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องที่มีการกำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยเมื่อมีการเรียกคืนคลื่นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะคลื่นเป็นทรัพยากรสาธารณะ การเรียกคืนคลื่นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่ควรมีการนำเงินสาธารณะไปให้หน่วยงานที่ถือครองคลื่นและแสวงหาประโยชน์ในอดีตที่ผ่านมา
ด้าน ดร. จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องการปฏิรูปสื่อมาโดยตลอด เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ทำให้องค์กรอิสระอย่าง กสทช. จะกลายสภาพเป็นเพียงหน่วยงานภายใต้กระทรวงไอซีที และถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ความอิสระในการทำงานที่ภาคประชาชนคาดหวังว่า กสทช. มี ก็จะไม่มี และเมื่อขาดความอิสระไป สิทธิของประชาชนก็จะถูกลดทอนไปด้วย สิ่งที่อยากเห็นคือ กสทช. ยังคงทำงานเป็นอิสระเหมือนเดิม โดยทำงานในระนาบเดียวกับกระทรวงไอซีทีและคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าว เครือข่ายสื่อภาคประชาชน และองค์กรผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา สถาบันปวงผญาพยาว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ซึ่งมีสาระสำคัญ 9 ประเด็น คือ
1.ให้นำกระบวนการสรรหาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. กสทช. ปี 2553 กลับมาใช้เพื่อเป็นหลักประกัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่
2.ให้กำหนดตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ และกำหนดคุณสมบัติกรรมการด้านผู้บริโภคต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ กำหนดจำนวนปีของประสบการณ์การทำงาน ให้เท่าๆ กับผู้สมัครกรรมการด้านอื่น
3.ให้กำหนดตัวแทนกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพ เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ เพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นของประชาชนอย่างทั่วถึง
4.ให้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประเมินเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของ กสทช. ตามเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความโปร่งใสขององค์กร และให้คงข้อกำหนดเรื่องเปิดเผยรายงานตรวจสอบของ กตป. ไว้อย่างเดิมด้วย
5.ให้เพิ่มกรรมการ กตป. ที่เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านสิทธิเสรีภาพในคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพื่อถ่วงดุลการบริหารงานของ กสทช.
6.ให้ลดบทบาทคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการกำกับดูแล กสทช. ให้มีความเท่าเทียมกันและมีความร่วมมือในการทำงานในระดับเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
7.ให้ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในการเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ ออกไป และให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปี 2553 กล่าวคือ เรียกคืนคลื่นความถี่ทั้งหมดเพื่อนำมาจัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรม
8.ให้ตัดประเด็นการนำเงินกองทุนไปลงทุน เพราะกองทุนมีวัตถุประสงค์ต่างๆ ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการทำบริการอย่างทั่วถึงทั้งด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการคุ้มครองผู้บริโภค การเสริมความเข้มแข็งประชาชน เรื่องการเท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสื่อสาร ร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องพึงเคารพจุดประสงค์หลักของกองทุนที่กำหนดให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทั่วไป
9.ให้กำหนดว่าอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้มาตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ. กสทช. ปี 2553 ให้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียน มิใช่มีเพียงแค่พิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเท่านั้น เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง