เท่าทันกฎหมาย-รักษาสิทธิ วัคซีน “ผู้บริโภค-ชุมชนเข้มแข็ง”
รอบปีที่ผ่านมา เครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับข้อร้องเรียนชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคร่วม 900 กรณี ส่วนใหญ่ถูกโน้มน้าวให้เปลี่ยนพฤติกรรมจากโฆษณาผิดกฎหมาย กลวิธีเล่นแร่แปรธาตุจากผู้ประกอบการหลอกลวงให้ตกเป็นเหยื่อ
..........................
รายงานสถานการณ์ความทุกข์ของผู้บริโภคปี 2554 พบว่ามีผู้ร้องเรียน 895 กรณี แบ่งเป็น 7 กลุ่มปัญหา ได้แก่ 1.ด้านการเงินการธนาคาร อาทิ ใบแจ้งหนี้ของบัตรเครดิตไม่แสดงรายละเอียดค่าใช้จ่าย ผู้บริโภคถูกเชิญชวนกึ่งบังคับให้ทำประกันแบบคุ้มครองหนี้สิน การล่อหลอกให้ผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำทำให้ต้องแบกรับภาระค่าดอกเบี้ย
2.ด้านสินค้าและบริการ พบว่ามีการบ่ายเบี่ยงและประวิงเวลาของบริษัทประกันภัย และมักจะอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เข้าเงื่อนไขการรับประกัน นอกจากนี้ยังพบความเสียหายและด้อยคุณภาพของสินค้าใหม่ 3.ด้านปัญหาสื่อและโทรคมนาคม พบว่ามีโฆษณาผิดกฎหมายจำนวนมากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมักจะโอ้อวดคุณสมบัติเกินจริง เผยแพร่ผ่านเคเบิล-ทีวีดาวเทียม ส่วนปัญหาโทรศัพท์มือถือพบการยัดเยียดบริการเสริมและยกเลิกการใช้บริการยาก
4.ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบการร้องเรียนการใช้สิทธิบัตรทองเป็นลำดับต้นๆ เช่น โรงพยาบาลเอกชนไม่ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพ มีการโยกย้ายสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่แจ้งให้ทราบ 5.ด้านบริการสาธารณะ พบว่าประชาชนวิตกเรื่องค่าน้ำค่าไฟสูงเกินจริง รวมถึงขับรถโดยสารหลับในไม่ชำนาญเส้นทาง 6.ด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารของประชาชน พบการจำหน่ายสินค้าหมดอายุและแสดงฉลากไม่ชัดเจน
7.การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วยการฟ้องเป็นคดี ทั้งคดีแพ่งสามัญ คดีอาญา และคดีผู้บริโภคผ่านคดีอุบัติเหตุรถโดยสารโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์ทนายความอาสาได้ช่วยเหลือในการฟ้อง 124 คดี ผลคดีสิ้นสุด 108 คดี สามารถเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 27.2 ล้านบาท
ใช่หรือไม่ว่าปัญหาทั้งหมดในข้างต้น เกิดขึ้นจากความไม่รู้เท่าทันสื่อ-ไม่รู้กฎหมาย-ไม่รู้สิทธิของตนเอง และไม่รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์ที่มุ่งหลอกลวงเพียงเพื่อกอบโกยผลกำไรโดยไร้ความรับผิดชอบ
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฉายภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่าน “ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ว่าตลอดปี 2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติดตามโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในวิทยุชุมชน-เคเบิลทีวีท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็เดินหน้ายุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยใน 10 จังหวัด
น.ส.สารี เล่าว่า เครือข่ายฯ ทั้ง 10 จังหวัด เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายผ่านสื่อท้องถิ่นด้วยการฟังวิทยุ-เคเบิลทีวี อย่างน้อยจังหวัดละ 2 สถานี ตลอด 24 ชั่วโมง โดยพบว่าสินค้าที่นำมาโฆษณาส่วนใหญ่ไร้การควบคุมและไม่มีการขออนุญาตโฆษณาอย่างถูกต้อง
พบโฆษณาในชุมชนและสื่อท้องถิ่นเข้าข่ายหลอกลวงจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคแทนยาได้ มีการนำผู้ป่วยด้วยโรคร้ายมาชวนเชื่อว่าเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านั้นแล้วดีขึ้น อาการป่วยหายไป ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
“การผลิตซ้ำจนทำให้คนเชื่อคือปัญหา โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับความงาม-สมรรถภาพทางเพศ มีบางผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาถึงขั้นกินแล้วนมฟูรูฟิต”
สำหรับผู้โฆษณา ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ-สถานีโทรทัศน์ หรือผู้ดำเนินรายการ-ดีเจ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้านในชุมชน เมื่อบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ชวนเชื่อ ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงจิตใจของผู้บริโภค
“พบชาวบ้านรายหนึ่งดูโฆษณาเอ็มไซม์แล้วเชื่อ อยากกิน บังคับบุตรชายไปซื้อมาให้ ท้ายที่สุดเสียชีวิตไป เรายังไม่ฟันธงเพราะเอ็มไซม์ กำลังหาว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวอื่นแทรกซ้อนหรือไม่”
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่าปัญหาข้างต้นสะท้อนการจัดการที่บกพร่อง โดยเฉพาะมาตรฐานแต่ละจังหวัดที่ลักลั่นกัน เช่น ความเข้มข้นของสาธารณสุขจังหวัด บางจังหวัดเมื่อมูลนิธิฯร้องเรียนไปก็จัดการทันที บางจังหวัดไม่สนใจ บางแห่งเชื่องช้าติดยึดขั้นตอนราชการจนทำอะไรไม่ได้
ยังพบว่าคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มักจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดในระดับปรับเงินเท่านั้น ทั้งๆที่กฎหมายให้อำนาจถึงขั้นปิดโรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องได้
“อย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เกือบทุกยี่ห้อไม่โฆษณาตามประกาศ อย.เลย ไม่มีคำเตือนเรื่องปริมาณการบริโภค อย.ก็ไม่ได้ทำอะไร กติกาดูจะไม่มีความหมาย ที่ผ่านมาเราได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์รังนก 100% พบส่วนผสมรังนกแท้ไม่ถึง 1% ต้องขอบคุณอย.ที่จัดการให้ แต่แค่นี้ยังไม่พอ”
เอ็นจีโอด้านสุขภาพ ยังให้ภาพยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยว่า ปัญหาหลักที่พบคือฉลากไม่ถูกต้องและการแฝงขายสินค้าที่หมดอายุ
เธอเล่าว่า เครือข่ายได้ให้คำปรึกษาผู้บริโภครายหนึ่ง หญิงรายนี้ซื้อเฉาก๊วย 1 แพ็กใหญ่บรรจุ 10 ถุงเล็ก ตามหลักที่ถูกต้องในแพ็กใหญ่ต้องแสดงวันหมดอายุ แต่กลับไม่มี เมื่อหญิงรายนี้กลับไปถึงบ้านแล้วแกะเฉาก๊วยออกมาพบว่าหมดอายุแล้ว เครือข่ายจึงเสนอทางออกให้
“ตอนแรกผู้บริโภครายนี้ก็คิดว่าจะนำไปเปลี่ยนดีหรือไม่ คุ้มกับค่าน้ำมันรถและเวลาที่เสียไปหรือไม่” ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจนำสินค้าไปเปลี่ยน เครือข่ายจึงแนะนำให้ไปขอค่ารถ 500 บาทจากผู้ขายสินค้าด้วย โดยบทสรุปคือเธอได้ทั้งสินค้าใหม่และค่ารถ 500 บาท
“ผู้บริโภครายนั้นพูดมาคำหนึ่งว่า เขาไม่ได้มีหน้าที่เอาของหมดอายุมาคืน แต่ห้างมีหน้าที่ขายของที่ไม่หมดอายุ สะท้อนให้ความคิดพื้นฐานที่ดี ถ้าคนคิดแบบนี้กันหมดของหมดอายุก็จะไม่มี” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุ
ยังมีกลุ่มเด็กนักเรียนกาญจนบุรี ที่ตื่นตัวจนสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างน่ายกย่อง เป็นเครือข่ายทำงานเรื่องอาหารปลอดภัย พวกเขาพบฉลากสินค้าที่ระบุวันหมดอายุ เป็นเหตุให้ต้องถามหาความรับผิดชอบจากผู้ขาย
“เมื่อผ่านการอบรมจากมูลนิธิฯ รู้กฎหมายว่าคนขายของหมดอายุมีโอกาสถูกปรับไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท จำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ เด็กกลุ่มนี้เลยไปที่ร้านขายของ เสนอให้คนขายต้องทำเอ็มโอยูร่วมกันว่าหลังจากนี้ห้ามขายของหมดอายุ และต้องสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคของเด็กในโรงเรียน 1 หมื่นบาทเท่ากับค่าปรับที่จะต้องเสีย ถ้าไม่ตกลงจะเดินหน้าเรียกร้องสิทธิถึงที่สุด
“สุดท้ายผู้ขายสินค้าก็ต่อรองกับกลุ่มนักเรียน ขอจ่าย 5,000 บาท แล้วยอมลงนามเอ็มโอยูกับเด็กๆ โมเดลของเด็กกลุ่มนี้ทำให้มูลนิธิฯ กลับมาคิดว่าจะมีช่องทางใดที่นำข้อมูลความรู้นี้ไปสู่ชาวบ้าน”
เอ็นจีโอแถวหน้าของประเทศ อธิบายแนวทางดำเนินงานว่าขณะนี้มูลนิธิฯ ได้ 100 ปัญหาสุขภาพจากชุมชนมาแล้ว อยู่ระหว่างพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อขยายผลต่อ โดยทำเป็นคู่มืออย่างง่าย ลักษณะ How to เช่น เมื่อผู้บริโภคพบของหมดอายุ สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง คู่มือนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งตัวผู้บริโภคเอง และเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
“สำหรับผู้บริโภคขั้นที่หนึ่งอาจจะขอค่ารถ ขั้นที่สองขอสินค้าใหม่พร้อมค่าชดเชยเสียเวลา หรือถ้าเป็นเครือข่ายผู้บริโภค เมื่อเจอโฆษณาหลอกลวง ขั้นแรกที่ต้องทำคือหยิบเทปขึ้นมาอัด จากนั้นก็เป็นขั้นตอนสองสามสี่ ตามเส้นทางการเคลื่อนไหว เช่น ต้องไปพบใครบ้าง หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง”
สำหรับปี 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ชุมชนเกิดความรู้ และให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
“ที่พบมากคือฉลากไม่เป็นภาษาไทยและไม่ชัดเจน เราจะทำหน้าที่แฉว่าบริษัทนี้ทำไม่ถูกต้อง ถ้าแฉแล้วจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นตัวแทนผู้บริโภคฟ้องให้หยุดขายสินค้าเหล่านั้น โดยจะทำทั่วประเทศให้เกิดรูปธรรม”
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ จะทำให้กฎหมายและมาตรการต่างๆถูกดำเนินการอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญจะเสนอให้มีการปรับปรุงบทลงโทษ เช่น การไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งขณะนี้มีบทลงโทษปรับเงินเพียง 5,000 บาท ก็ต้องเข้มข้นขึ้น และจะทำความร่วมมือกับ อย.และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ใช้อำนาจปิดรายการทันที หากเพิกเฉยปล่อยให้มีโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต
“ตรงนี้เราได้ไอเดียจากวิทยุชุมชน จ.ชลบุรี เขาบอกว่าวันๆจะถูกพวกเจ้าของสินค้าโทรมาคุย และเสนอผลประโยชน์ให้ เช่น คุณเอาไปก่อนเลย 5,000 บาท และจะจ่ายรายเดือนอีกต่างหาก แลกกับการขอโฆษณา 1 รายการ วัดกันว่าเจ้าของสื่อจะเอายังไง แต่ถ้าเราบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เจ้าของสื่อต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วม เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้”
……………………
การเคลื่อนไหวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเพียงกรณีศึกษาการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค หากแต่ตัวผู้บริโภคเอง ถ้ารู้กฎหมาย รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์และสื่อ รวมทั้งรู้รักษาสิทธิตัวเองโดยไม่มองว่าการถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเข้มแข็งของผู้บริโภคจะเกิดขึ้น โดยมีรากฐานหยั่งลึกลงในชุมชน .