นายกฯประชุมบอร์ด กสทช.เร่งผลัก “บรอดแบนด์” เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ
นายกฯ เป็นประธานประชุมบอร์ด กสทช. เห็นชอบร่างนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไทย 10 ปี ยึดหลักยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม-ปรัชญาพอเพียง-เรียนรู้ตลอดชีวิต-ลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาส ตั้งเป้าอีก 5 ปี คนไทย 80% เข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ต่ำกว่า 80% ภายใน 10 ปี 95%
วันที่ 17 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ(กทสช.) โดยที่ประชุมเห็นชอบ(ร่าง)กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ระยะ พ.ศ. 2554-2563 (ICT 2020) เพื่อให้ กสทช. พิจารณาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า และดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 3 ของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2557-2561 ต่อไป
ทั้งนี้หลักการสำคัญในการจัดทำกรอบนโยบาย ICT 2020 คือ 1.ใช้แนวคิดหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 2.ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก ICT ในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้ประชาชนในการรับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน 3.พัฒนาโดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4.ความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องทางนโยบายกับนโยบายและแผนที่ใช้อยู่ปัจจุบัน 5.ส่งเสริมให้ภาคส่วนอื่นๆมีบทบาทในการพัฒนามากขึ้น รวมถึงการลงทุนด้าน ICT
โดยมีสาระสำคัญของกรอบนโยบาย ICT 2020 อาทิ สร้างการมี การเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน Broadband(อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญกับบริการบน Mobile device สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มี ICT Literacy, Information Literacy และ Media Literacy และมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมนวัตกรรมการบริการโดยบูรณาการ ICT ในการคิด ออกแบบ พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจฐานบริการและความคิดสร้างสรรค์ การใช้ทรัพยากรร่วมเพื่อความคุ้มค่า ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบ(ร่าง)นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ดำเนินการตาม มาตรการภายใต้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อคณะกรรมการ กทสช. พิจารณาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อประกาศเป็นนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติต่อไป ตลอดจนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกคณะกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้รวมงานที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียวกันด้วย
สาระสำคัญของ(ร่าง)นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ คือการกำหนดนโยบายหลักให้บริการบรอดแบนด์เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นเดียวกับน้ำ ไฟฟ้า หรือถนนทางด่วนที่ต้องมีอย่างเพียงพอ ประชาชนมีโอกาสเลือกใช้บริการที่หลากหลายทั่วถึงเท่าเทียมกัน ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสแข่งขันอย่างเสมอภาค โดยมีอัตราค่าบริการพื้นฐานที่เหมาะสม โดยมีการให้บริการแบบ 24 x 7 ที่ระดับคุณภาพเชื่อถือได้ 99.99% ภาย ในปี 2558 พร้อมกันนี้ ยังมีนโยบายให้โครงการบรอดแบนด์นั้นเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษา สาธารณสุข บริการของรัฐ เศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ดี ขึ้น โดยมีการครอบคลุมอย่างทั่วถึง คือให้ประชากรไทยไม่ต่ำกว่า 80% จะต้องสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ได้ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 2563 .
ที่มาภาพ : www.google.co.th/images?q=อินเตอร์เน็ตชุมชน.