4 แนวทางหลังประชามติร่าง รธน. ไม่ผ่านเอาไงต่อ-จับตา คสช.ฉลุยหรือแห้ว?
ประเมิน 4 แนวทางหลังประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านพร้อมคำถามพ่วง อาจได้เลือกตั้ง ส.ค.-ก.ย.ปี’60 ถ้าไม่ผ่านอาจปัดฝุ่น รธน.ปี’50 ปรับมาใช้ใหม่ จับตามีประชามติอีกหนหรือไม่
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 วัน จะถึงวันลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ที่อาจจะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ พลิกโฉมหน้าทางการเมืองไทยไปตลอดกาล คือการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘คสช.’ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559
หากจำกันได้ นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ 2 ปีเศษ ได้ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ฉบับ (ไม่นับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557) นั่นคือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘เรือแป๊ะ’ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ
ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ มีการใส่ตำแหน่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ให้อำนาจกับบรรดา ‘ขุนทหาร’ เข้าไปควบคุม และมีอำนาจแทรกแซงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ปัจจุบันถูกยุบไปแล้ว) ‘คว่ำ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่า มี ‘ใบสั่ง’ มาจาก ‘บิ๊ก คสช.’ รายหนึ่ง ที่เกรงว่า หากปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านออกไป จะถูกประชาชนไม่เห็นชอบ แล้วจะกระเทือนมาถึงอำนาจของ คสช. ได้
ต่อมา คสช. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยอัญเชิญ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ เนติบริการ ‘ระดับครุฑ’ เข้ามานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในการร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง
โดยคราวนี้ คสช. ส่งหลักการมาให้ กรธ. แต่ต้นเลยว่า ต้องให้เป็นฉบับที่ ‘ปราบโกง-ปรองดอง’ ซึ่งถูกรัฐบาลนำมาชูโรงอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า อาจเอื้อในการต่อท่ออำนาจของ คสช. เนื่องจากเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ รวมถึงในบทเฉพาะกาลมีการกำหนดให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. ครั้งแรกก่อน โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี ขณะเดียวกันยังมีคำถามพ่วงประชามติอีกว่า ให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และเป็นได้ 2 ครั้ง ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ นี้ผ่าน ส.ว. ล็อตแรก จะมี ‘บิ๊ก 4 เหล่าทัพ’ เข้าไปนั่งโดยตำแหน่งอัตโนมัติ ส่วนที่เหลือ คสช. สรรหาทั้งหมด และในเมื่อมีอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ครั้งด้วย
ดังนั้นหากมี ‘ใบสั่ง’ จากใครบางคน ‘ล็อบบี้’ เลือกตัวนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว เมื่อ ส.ว. มีโอกาสโหวตเลือกได้ 2 ครั้ง บุคคลที่ถูกล็อบบี้ไว้ดังกล่าว ก็จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 2 สมัย หรือ 8 ปี นั่นเอง !
ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าว จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ?
แต่ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org วิเคราะห์แล้ว ะสามารถออกมาได้อย่างน้อย 4 หน้าด้วยกัน ดังนี้
หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คำถามพ่วงให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่าน
หากเป็นเช่นนั้น กรธ. จะต้องดำเนินการร่างกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ให้ครบภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากครบ 1 เดือนแล้ว ยังพิจารณาไม่เสร็จ ให้ถือว่ากฎหมายลูกดังกล่าว สนช. ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นส่งไม้ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากฎหมายลูกดังกล่าวภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะทูลเกล้าฯ
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไนยในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ประกาศใช้พร้อมกับกฎหมายลูก (ในส่วนนี้ไม่มีการกำหนดระยะเวลา เนื่องจากเป็นพระราชอำนาจ) หลังจากนั้นจะมีการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยใช้เวลาหาเสียงประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะเปิดประชุมสภาสมัยแรก และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
เท่ากับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ นั่นคือประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. ปี 2560
สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน แต่คำถามพ่วงฯไม่ผ่าน
ระยะเวลาจะเหมือนกับกรณีที่หนึ่ง แต่ ส.ว. ไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากออกมาในรูปเกมนี้ ปัญหาการล็อบบี้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจจะยากขึ้น แต่ยังคงเปิดช่องให้มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกเช่นเดิม
สาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงฯผ่าน
กรณีนี้จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นคำถามพ่วงฯ ก็ถือว่าไม่มีผลแต่อย่างใด โดยต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพิ่มเติม ซึ่ง คสช. มีการแย้ม ๆ เป็นนัยแล้วจากทั้ง ‘วิษณุ เครืองาม’ เนติบริกร รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ประธาน สนช. รวมถึง ‘บิ๊ก คสช.’ หลายคน ประเมินกันไว้แล้วว่า อาจมีการปัดฝุ่น รัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับใช้แก้ไขบางมาตราใหม่
แต่จะมีการให้ลงประชามติอีกครั้งหรือไม่ ต้องรอดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เสียก่อน ว่ากันว่า ขณะนี้มีการเขียนแก้เกมหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านไว้อยู่แล้ว รอเพียงแค่ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบเท่านั้น
สี่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน คำถามพ่วงฯไม่ผ่าน
จะเหมือนกรณีที่สามทุกประการ
ทั้งหมดคือแนวทางภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องจับตาดูกันว่า จะออกมาในรูปแบบไหน
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบรรดา ‘นักการเมือง-เซเลป’ ของทั้งสองสีสองฝ่าย คือ ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย เริ่มออกมาปลุกเร้ามวลชนของตัวเองให้ลงประชามติตาม 'ความเชื่อทางการเมือง’ ของตัวเองกันแล้ว
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือร่วง ต้องรอลุ้นกันในวันที่ 7 ส.ค. นี้ !
หมายเหตุ : ภาพประกอบประชามติจาก tnews