เปิดตัว‘บ.บางบอน’ผู้ผลิตหีบบัตรประชามติ ใบละ 244 บ.-ก่อน‘สมชัย’โยนแตก!
เปิดตัว 3 เอกชนคว้างานทำวัสดุอุปกรณ์ออกเสียงประชามติ กกต. ‘บ.บางบอน’ ชนะทำหีบ ‘บ.นิวเปเปอร์’ ทำสายรัด-จ้างทำคูหาลงคะแนน ‘บ.จันทร์วาณิชย์ฯ’ ทำแนวกั้นพลาสติค ก่อนเกรียวกราวโลกออนไลน์ ‘สมชัย’ โยนหีบแตก
กลายเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างเกรียวกราวในโลกออนไลน์ทันที ภายหลังนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดตัวหีบบัตรลงคะแนนประชามติ โดยยืนยันว่าเป็น ‘รูปแบบใหม่’ มีลักษณะเป็นพลาสติกใส ใช้นำร่องก่อนใน 5 หมื่นหน่วยออกเสียง
พร้อมระบุ มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี รับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม ทนความร้อนได้ถึง 56 องศาเซลเซียส มีราคาต้นทุนใบละ 244 บาท (ราคากลาง 250 บาท) ส่วนสาเหตุที่เปลี่ยนเนื่องจากหีบบัตรแบบเดิมเป็นกล่องกระดาษเคลือบด้วยพีวีซี ต้นทุนใบละ 180 บาท ใช้ได้แค่ 1-2 ครั้งก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ดังนั้นของใหม่จึงมีความคุ้มค่ามากกว่า
ก่อนที่จะทำการโยนหีบบัตรลงคะแนนต่อหน้าสื่อมวลชน นัยว่าเพื่อแสดงถึงความทนทานและแข็งแรงของหีบบัตร ทว่าเมื่อโยนไปเพียง 3-4 ครั้ง หีบบัตรดังกล่าวได้แตกออก พร้อมกับสีหน้าตกใจของนายสมชัย
“ผมทุ่มแรงไปหน่อย และเอาปากหีบลงก็เลยแตกได้ แต่ถ้าใช้งานจริงคงไม่มีการเอาหีบบัตรไปโยนรุนแรงในลักษณะนี้” นายสมชัย ระบุ ก่อนที่จะสาธิตใหม่โดยการโยนอีก 10 ครั้ง และเชิญให้สื่อได้ทดสอบความแข็งแรง โดยให้ขึ้นไปยืนบนหีบบัตร (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000076674)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบราคากลางของการจัดซื้อหีบบัตรดังกล่าว พบรายละเอียดดังนี้
โครงการดังกล่าว เป็นการประกวดราคาจ้างทำวัสดุอุปกรณ์ในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 แบ่งเป็น 4 รายการ ได้แก่
1.จ้างทำหีบบัตรออกเสียง จำนวน 5 หมื่นหีบ พร้อมจัดส่งตามบัญชีจัดสรร ภายในวงเงิน 12.5 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว)
2.จ้างทำสายรับหีบบัตร จำนวน 1.2 ล้านเส้น พร้อมจัดส่งตามที่สำนักงานกำหนด ภายในวงเงิน 4.2 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว)
3.จ้าทำแนวกั้นแถบพลาสติค จำนวน 1 แสนม้วน พร้อมจัดส่งตามที่สำนักงานกำหนด ภายในวงเงิน 4 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว)
4.จ้างทำคูหาลงคะแนน จำนวน 92,500 คูหา พร้อมจัดส่งตามบัญชีจัดสรร ภายในวงเงิน 16,650,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว)
รวมทั้ง 4 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 37,350,000 บาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบริษัทที่ชนะการประกวดราคาจ้างในโครงการดังกล่าวทั้ง 4 รายการ มีทั้งหมด 3 บริษัท ดังนี้
1.บริษัท บางบอน พลาสติค กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการจ้างทำหีบบัตรออกเสียง
2.บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด เป็นผู้ชนะการจ้างทำแนวกั้นแถบพลาสติค
3.บริษัท นิวเปเปอร์ จำกัด เป็นผู้ชนะการจ้างทำสายรับหีบบัตร และจ้างทำคูหาลงคะแนน
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทวงพาณิชย์ พบรายละเอียด ดังนี้
บริษัท บางบอน พลาสติค กรุ๊ป
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2529 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 186 ซอยพระรามที่ 2 54 แยก 4 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ประกอบธุรกิจรับจ้างทำสินค้าประเภทพลาสติค มีนายปัญญา บุญญลักษม์ และ น.ส.ดวงดาว บุญญลักษม์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีนายปัญญาถือหุ้นใหญ่สุด 167,000 หุ้น มูลค่า 16.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีคนในสกุล ‘บุญญลักษม์’ เป็นผู้ถือหุ้น
บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2533 ทุนปัจจุบัน 140 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 699 ถ.สีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ประกอบธุรกิจการผลิต มีนางบวรฤดี พูนสรณ์ศิริ นายธนพล กองบุญมา และ น.ส.จิรวัลย์ ยุทธโกวิท เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีบริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 3.5 แสนหุ้น มูลค่า 35 ล้านบาท นอกนั้นเป็นคนสกุล ‘กองบุญมา’ ร่วมถือหุ้นทั้งหมด
บริษัท นิวเปเปอร์ จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2552 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 5 ซอยเพชรเกษม 67 ถ.เพชรเกษม แขวงหลักสอง เขตบางแค กทม. ประกอบธุรกิจการผลิต นำเข้า ส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษ (บรรจุภัณฑ์จากกระดาษ-แก้ว) มีนายชาย สุวรรณเกต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีนายชายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 99,998 หุ้น มูลค่า 9,999,800 บาท
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกต. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกระบวนการจัดซื้อว่า ดำเนินงานตามขั้นตอนและระเบียบ ก่อนที่จะเปลี่ยนหีบบัตรเป็นรูปแบบใหม่ที่เป็นพลาสติคนั้น ได้สอบถามไปยังหน่วยงานทางวิชาการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์และประเมินดูแล้ว เนื่องจากต้องการให้หีบแบบใหม่สามารถใช้งานได้นาน และทนทานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หลังจากได้ผู้ชนะการประกวดราคาแล้ว คณะกรรมการตรวจรับ ได้พิจารณาแล้ว พบว่า ดำเนินการถูกตามสเป็ค และ TOR ทุกประการ
เมื่อถามว่า นายสมชัย ระบุว่า หีบบัตรดังกล่าวทนทานเป็นอย่างมาก และอยู่ได้นับ 10 ปี แต่ทำไมโยนไม่กี่ทีแล้วถึงแตก จะมีการรับผิดชอบอย่างไร แหล่งข่าว ระบุว่า แม้ว่าคณะกรรมการตรวจรับจะไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านพลาสติคก็จริง แต่ได้ส่งตัวอย่างหีบบัตรแบบใหม่ให้กับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลาสติคตรวจสอบดูแล้ว พบว่า มีความทนทานจริง ส่วนเรื่องที่อยู่ได้เป็น 10 ปีนั้น อยู่ที่กระบวนการเก็บ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ปรึกษาหารือกันว่าจะเก็บอย่างไร ต้องรอให้การลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 เสร็จสิ้นเสียก่อน
“เอาจริงหีบบัตรแบบนั้น ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการโยน หรือกระแทกอย่างรุนแรง เพราะปกติก็ไม่มีใครโยนหีบบัตรกันแบบนั้นอยู่แล้ว ส่วนความทนทานนับ 10 ปี เป็นการประเมินเบื้องต้น ก็อยู่กระบวนการจับเก็บ คงไม่มีของแบบไหนที่เอาไปตากแดดตากฝนแล้วทนได้เป็น 10 ปีหรอก” แหล่งข่าว ระบุ
เมื่อถามว่า กรณีนี้จะต้องมีการรับผิดชอบหรือไม่ แหล่งข่าว ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัทดังกล่าว แต่บริษัทดังกล่าวคงจะทราบเรื่องจากข่าวแล้ว คงต้องให้สำนักงาน กกต. ตรวจสอบดูก่อนว่า สาเหตุที่หีบบัตรแตกดังกล่าว เป็นเพราะกระบวนการขนส่งจากบริษัทเขา หรือว่าเกิดจากการโยนของฝ่าย กกต. เอง ทั้งนี้หากพบสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็อาจเชิญบริษัทดังกล่าวเข้ามาสอบถามได้
ทั้งหมดคือเบื้องลึกเบื้องหลังในกระบวนการจัดจ้าง ‘หีบบัตรลงประชามติ’ แบบใหม่ ก่อนที่จะเกิดเรื่อง ‘หีบแตก’
ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสีสันแรกที่จะอยู่ในความทรงจำสำหรับจุดเริ่มต้นในการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ !
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสมชัยจาก thaipbs