ข้าวไทย 'รอระบาย' ทำอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด
เราหมดเวลาไปสิบกว่าปี หมดเงิน ไป6-7 แสนล้านบาท ทำไมวันนี้ชาวนายังต้องมานั่งถามเรื่องปัญหาราคาข้าว ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิ้น อนาคตประเทศไทยจะวางตำแหน่งเรื่องข้าว อย่างไร ปัจจุบันมีข้าวรอระบายอยู่ที่ 9.7 ล้านตัน แต่เป็นข้าวเสีย ข้าวเกรด C 4-5 ล้านตัน โจทย์คือรัฐบาลจะระบายอย่างไร ให้เจ็บตัวน้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว สรุปความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 286,639 ล้านบาท และโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก 18,743 ล้านบาท พร้อมเตรียมส่งให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบในวันที่ 3 ส.ค.นี้ เพื่อเตรียมการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป
นั่นถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการรับจำนำข้าว
และเมื่อไม่นานมานี้ ทาง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เปิดผลการศึกษา “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ” เพื่อศึกษาว่า “ระบายข้าวอย่างไรจึงขาดทุนและกระทบชาวนาน้อยที่สุด และไม่เกิดปัญหาข้าวเสียปนกับข้าวบริโภค”
โดยในรายงานผลการศึกษาของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ปัจจุบันสต็อคข้าวคงเหลืออยู่ที่ 9.7 ล้านตัน แต่หากย้อนเวลากลับไปในช่วงรัฐประหารใน เดือน พ.ค. 2557 แต่พบว่ามีข้าวในสต็อกมีเพียง 17.28 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณข้าวคงคลังตามบัญชีระบุว่ามี 18.7 ล้านตัน ทั้งนี้ยังพบว่ามีข้าวที่ไม่ได้ส่งเข้าโกดังและข้าวไม่ออกรหัสอีกกว่า 0.67 ล้านตัน และข้าวที่มีข้อผูกพันขายอีก 0.75 ล้านตัน ยังพบอีกว่ามีข้าวเกรด C ผิดชนิด ข้าวเสีย กองล้มอีกกว่า 5.84 ล้านตัน
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ก่อนรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลไทยมีสต็อคน้อยมาก เพราะรัฐไม่มีนโยบายซื้อสินค้าเข้าสต็อค ยิ่งกว่านั้นรัฐไม่จำเป็นต้องเก็บสต็อคเกษตรที่ส่งออก เพราะประเทศมีผลผลิตส่วนเกิน และสินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย จากนั้น ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ มาสู่ช่วงของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงค์สวัสดิ์ รัฐบาลมีสต็อคเพิ่มมาก เพราะมีการขึ้นราคาจำนำ
นับตั้งแต่เริ่มมีนโยบายจำนำข้าวทุดเม็ด ทำให้รัฐมีสต็อคข้าวจำนวนมหาศาล ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับจำนำไปทั้งสิ้นกว่า34.5 ล้านตัน หรือว่า 53% ของผลผลิต แต่กลับขายได้เพียง 18.07 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ กว่า 71% เป็นการขายแบบ G to G ปลอมและขายข้าวให้พรรคพวกในราคาต่ำเป็นพิเศษ โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ขายต่ำกว่าราคาตลาดถึง 5,082 บาทต่อตันหรือ 29%
ในขณะที่ผลการศึกษาของ TDRI ระบุว่าในช่วง ส.ค. 2557-มิ.ย. 2559 รัฐบาล คสช. มีการระบายข้าวไปแล้ว 7.5 ล้านตัน มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท
ส่วนใหญ่กว่า 86% ใช้วิธีประมูลเพื่อบริโภคในประเทศ ส่วนการขายแบบรัฐต่อรัฐ (GtoG) เป็นข้าวใหม่โดยรัฐบาลผู้ซื้อเจรจากับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยโดยตรง โดยราคาขายข้าวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่ำกว่าราคาตลาด 2,664 บาทต่อตัน หรือ 20%
จากผลการศึกษายังพบว่าวิธีประมูลแบบโปร่งใสจะทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนสูงสุด แต่วิธี GtoG ปลอมและไม่เปิดเผย ข้อมูลจะทำให้รัฐขาดทุนมากที่สุด
และสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขายข้าวได้ราคาดีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเน้นระบายข้าวเกรดดี ทำให้ราคาขายต่ำกว่าตลาดไม่มากนัก
ดร.นิพนธ์ ระบุถึง การนำข้าวเข้าเก็บในโกดังมีปัญหาหลายประการ อาทิ ปัญหาด้านคุณภาพ และข้าวผิดชนิด ปัญหาด้านกายภาพของโกดัง การดูเเลรักษาที่ไม่มีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังไม่มีการจัดทำบัญชีและฐานข้อมูลปริมาณ ชนิด คุณภาพ และ รวมทั้งผังโกดังและผังการกองข้าวที่ถูกต้อง เป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ข้าวในสต็อกกว่าครึ่งในปัจจุบันหรือราว 4-5 ล้านตัน เป็นข้าวคุณภาพต่ำ (ข้าวเกรด C) และเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำมาก เช่น มีอายุมากกว่า 5 ปี หรือเป็นปลายข้าว จึงไม่เหมาะต่อการบริโภค
เขายังเสนอแนะควรนำไปผลิตเป็นเอทานอล ชีวมวล หรืออาหารสัตว์มากกว่าและการระบายข้าวคงไม่ได้ราคาดีเช่นเดิม
"ยิ่งระบายข้าวช้า ก็ยิ่งขาดทุนหนักเพราะภาระต้นทุนการเก็บรักษาและค่าดอกเบี้ยสูงถึง ปีละ 18,300 ล้านบาท หรือตันละ 1,570 ล้าน/ปี"
ดร.นิพนธ์ มองถึงสาเหตุที่ทำให้การระบายข้าวในสต็อคเป็นไปอย่าล่าช้า
ประการแรกคือ ข้าราชการไม่ใช่พ่อค้า จึงไม่เข้าใจสภาพตลาดมากเท่าพ่อค้า
ประการที่สอง ตลาดข้าวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่การตัดสินใจไม่ทันต่อสถานการณ์
และประการสุดท้าย เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ขายข้าว ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถขายราคาต่ำ หรือ ข้าวเน่าเสียได้
นอกจากนี้พบว่าตลาดไทยมีความต้องการจำกัด ขณะที่ทุกปีก็มีผลผลิตข้าวใหม่ออกสู่ตลาด ในส่วนตลาดโลกก็มีข้อจำกัดในการดูดซับส่วนเกิน ซึ่งปริมาณการค้าข้าวมีเพียงร้อยละ 8 ของการผลิตทั้งโลก โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1 ใน 4
นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการฟ้องร้องคดี ก็มีส่วนในการทำให้การระบายข้าวเป็นไปอย่างล่าช้า นักวิชาการทีดีอาร์ไอ บอกว่า แน่นอนย่อมส่งผลต่อการขาดทุน ดังนั้นการระบายข้าวยิ่งเร็ว จะช่วยให้ขาดทุนน้อยลง
แต่ยิ่งระบายเร็ว ย่อมหมายความว่าต้องมีการระบายออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลง ทางที่ดีควรค่อยๆระบายอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน หรือเดือนละ 2 ครั้งจะขาดทุนน้อยกว่าขายเป็นช่วงและลดการเก็งกำไรได้
นอกจากนี้การลดราคาขาย โดยขายเป็นเกรดอาหารสัตว์ เอธานอลจะทำให้ขาดทุนมาก แต่อาจคุ้มค่ากว่าการเก็บข้าวไว้ในสต็อคเป็นเวาลานานเกิน 4-5 ปี เพราะข้าวจะเสื่อมคุณภาพมากขึ้น และรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บบำรุงสต็อค ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายรับลดลง 10,000 ล้านบาท/ปี
'
"รัฐบาลควรตรวจสต็อกข้าวอีกครั้ง ก่อนเร่งระบายข้าวเกรด C โดยเฉพาะ เนื่องจากต้องขายแบบขาดทุนทำให้เจ้าหน้าที่ถูกโจมตีเรื่องราคาและถ้านำไปเผาเป็นชีวมวลก็ถูกโจมตีเรื่องทำลายทรัพย์สินของแผ่นดิน"
ดร.นิพนธ์ ระบุเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาการระบายข้าวขาว จะมีผลทำให้ราคาข้าวขาวลดลงเล็กน้อย แต่ไม่มีผลกระทบกับราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ในทางตรงข้าม การระบายข้าวชนิดอื่นๆ กลับมีผลกระทบต่อราคาข้าวขาวและข้าวเหนียว แต่ไม่มีผลกระทบราคาข้าวหอมมะลิ ส่วนการระบายข้าวในช่วงเก็บเกี่ยวจะมีผลกระทบต่อราคาข้าวอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้การระบายข้าวมีผลต่อราคาไม่มาก เนื่องจากข้าวจำนวนมากที่เก็บไว้ในสต็อกได้ส่งผลกระทบทางลบต่อราคาตลาดในปัจจุบันไปแล้ว ทำให้การระบายข้าวมีผลกระทบต่อราคาเพียงเล็กน้อย ขณะที่ความต้องการข้าวมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำมาก ทำให้การระบายข้าวจำนวนมากเป็นไปได้ยาก ยกเว้นว่าจะมีการลดราคาขายลงมามากๆ
" บทเรียนสำคัญที่ผ่านมาโดยเฉพาะกรณีของ การรับซื้อข้าว พบว่ารัฐบาลไม่ควรคิดแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิด แล้วนำมาเก็บไว้ในสต็อคโดยเด็ดขาด เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐไม่เอื้อในการขายข้าว ทั้งยังเจอภาวะขาดทุนมหาศาล มีค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเวลาและเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก ซึ่งวันนี้รัฐต้องเร่งขายข้าวให้หมดภายใน 2 ปี ส่วนข้าวที่เสื่อมคุณภาพหรือข้าวเกรด C อาจต้องขอให้ คสช.ใช้อำนาจ ม. 44 เพื่อขายข้าวดังกล่าวเป็นเกรดอุตสาหกรรม และต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้กลับเข้ามาสู่ตลาดข้าวบริโภค" ดร.นิพนธ์ ระบุ
ด้านน.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การระบายคือปลายน้ำของโครงการับจำนำข้าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนการระบายคือการปิดจ็อบ ซึ่งแน่นอนปิดไม่ได้ อย่างที่ทราบ ที่ปิดไม่ได้ เพราะตั้งแต่เริ่มต้น ที่ทำโครงการรับจำนำ เราไม่เคยรู้เลยว่าต้องใช้เงินเท่าไร และ จะจบตรงไหน จะขายยังไง ซึ่งเป็นคำถามที่ตอนนั้น ไม่มีใครถาม มีแต่ก็ไม่มีพูดตอบ ซึ่งก็เป็นจุดเสี่ยง ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องจนทุกวันนี้
"การระบายที่ทำได้เชื่องช้ามาก ก็ส่งผลไม่เพียงเฉพาะเรื่องของงบประมาณของรัฐ จริงๆ ส่งผลต่อตลาดข้าวต่อเนื่องมาหลายปี แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นตัวถ่วงในตลาดข้าว บทเรียนต่อไปรัฐต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะดำเนินการโครงการลักษณะแบบนี้"
น.ส.กอบสุข มองว่าปัญหาอย่างหนึ่งของโครงการนี้ คือยังมีคนจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้ตระหนักว่า ได้ก่อความเสียหายมากน้อยเพียงไหน ทั้งความซับซ้อนในเรื่องของ ตลาดข้าว กลไกซับซ้อน รัฐก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล หรือเปิดเผย ก็ทำไปในทางตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ก็สร้างความสับสนให้สาธารณชนเป็นอย่างมาก
'"มีเรื่องน่าแปลกใจว่า มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านในวงการเกษตรยอมรับไม่ค่อยรู้เรื่องกลไกการจำนำข้าว มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยเชื่อว่ามีการโกง เพราะฉะนั้นในหลายภาคส่วนยังมีความไม่เข้าใจอยู่มากว่า โครงการจำนำข้าวมีความเสียหายขนาดไหน ส่วนภาคการเมืองที่เคยคุยด้วย ยังยืนยันว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี"
ด้านนายปราโมทย์ วาณิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย มองโครงการรับจำนำข้าว เมื่อศึกษาลงไปเราพบบาดแผลที่เกิดขึ้นในชาติ กับภาษีของประชาชน จริยธรรมการค้า อุตสาหกรรมค้าข้าวในประเทศ เป็นเรื่องใหญ่มาก ผลงานวิจัยของ TDRI ตอบได้หลายคำถาม วันนี้เราเพียงพอหรือยังกับนโยบายเหล่านี้ เราสูญเสียมหาศาล ปี 2553-2554 เป็นยุคการประกันรายได้ของรัฐบาล นายกฯอภิสิทธิ์ ตัวเลขที่ใช้ไปคือ 6.3 หมื่นล้านบาท สองปี 1.2 แสนล้านบาท
ผลการวิจับบอกว่า ถ้าเราต้องบาดเจ็บขนาดนี้เเล้ว เขาเห็นว่า "ทำไมวันนี้ เรากลับมาพบว่า ชาวนาก็ยังจนอยู่แบบเดิม เราหมดเวลาไปสิบกว่าปี หมดเงิน ไป6-7 แสนล้านบาท ทำไมวันนี้ชาวนายังต้องมานั่งถามเรื่องปัญหาราคาข้าว ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิ้น"
ในยุครัฐบาลเพื่อไทย โครงการจำนำข้าว ทุกเม็ดราคา1.5หมื่นบาท ผลวิจัยออกมาชัดเจนว่า ใช้เวลาสองปีครึ่ง ใช้จ่ายไป 2 แสนล้านบาท นั่นคือยุคนักการเมือง ที่นี้ในยุค คสช. ก็ยังมีจ่ายอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพราะว่าเป็นช่วงรอยต่อ
"กลับมาปีนี้ ก็ยังจ่าย โครงการไร่ละ 1พันบาท แต่ละคนไม่เกิน 10 ไร่ เท่ากับว่าครอบครัว1หมื่นบาท มี 3 ล้านครอบครัว ก็ 3หมื่นกว่าล้านบาท" นายปราโมทย์ ชี้ว่า นี่คือโจทย์ ที่จะฟ้องว่าในอนาคต สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเสียหาย สร้างความวิบัติให้ประเทศมาเพียงพอเเล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีผู้บริหารประเทศ ที่มีวิสัยทัศน์ว่า การจะใช้ภาษีของประชาชน 4-5 หมื่นล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องการอุดหนุน แต่มาสร้างความเข้มเเข็งให้เกิดขึ้นได้ไหม สร้างความเข้มเเข็งในชาวนา
เราจะก้าวต่อไปอย่างไร ต้องยอมรับการระบายข้าว 1.)ไม่ปรากฏว่ามีนักกการเมืองเข้ามาแทรกแซง 2.)ไม่ปรากฏว่ามีพ่อค้าเข้ามาฮั้ว เรื่องนี้ต้องให้เครดิต คสช. จะมีขีดจำกัดว่า การระบายข้าว
"ถ้าคุณคิดว่านี่คือทรัพยสินของพ่อแม่คุณ แล้วคิดแบบพ่อค้า คุณจะปล่อยให้ข้าวค้างในโกดังเยอะไหม คุณจะออกมาตรการยังไงในคุณเจ็บตัวน้อยที่สุด เราเสนอว่า ทำไมไม่ใช้มาตรา 44 เว้นระเบียบราชการออกไป แล้วดึงเอาผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาชี้แนะ ว่าจะระบายออกไปอย่างไร เราบอกว่าระบบราชการไม่เอื้อให้เกิดประสิทธิภาพ ในการก่อให้ประหยัดที่สุด แล้ววันนี้ เราพบว่า คนในประเทศทั่วไทย กินข้าวค้างสต็อคทั้งนั้น เราสร้างผลงานเหล่านี้เอาไว้ ในอนาคตประเทศไทยจะวางตำแหน่งเรื่องข้าว อย่างไร ทิศทางจะดูเเลชาวนาอย่างไร” ปราโมทย์ กล่าวทิ้งคำถามไว้ตอนท้าย