ชัดๆปม‘จุฬาฯ’ฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ ไฉนโดนเบี้ยว-ไขปริศนา‘พัลลภ’เปิดงานบ่อย?
“…ท่าน (พล.อ.พัลลภ) เป็นคนดี ให้ความช่วยเหลือผมมาตลอด สำหรับความสัมพันธ์ของผมกับท่าน อาจเรียกท่านว่าพ่อก็ย่อมได้ แต่ท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ แต่ที่เชิญท่านมาเปิดงาน ก็ในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผมเคารพ…”
เงื่อนปมสำคัญประการหนึ่งของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ฝากเงินสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ วงเงินกว่า 915 ล้านบาท แต่ถูก ‘เบี้ยว’ ไม่คืนเงินตามกำหนดชำระ ส่งผลให้สหกรณ์จุฬาฯ ฟ้องแต่ศาลมีนบุรี เพื่อเรียกเงินต้น+ดอกเบี้ยเงินฝากคืนประมาณ 1,063 ล้านบาท โดยศาลฯนัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 10 ต.ค. 2559 นั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือปัญหาในการก่อสร้างโครงการ ‘บ้านสวนสารคาม’ บริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยการเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) กันระหว่าง สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อขายในราคาถูกให้กับสมาชิกของสหกรณ์ทั้ง 4 แห่งดังกล่าว
เนื่องจากในการก่อสร้างดังกล่าวนั้น สหกรณ์จุฬาฯ ได้ทยอยฝากเงินแก่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ เพื่อใช้เป็นค่าก่อสร้างบ้าน-คอนโดมีเนียม-ทาวน์เฮ้าส์-ตึกแถว ขณะที่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ได้ใช้ที่ดิน+อสังหาริมทรัพย์ เป็นหลักประกันความเสี่ยงในการฝากเงินดังกล่าวไว้ตลอด
จนกระทั่งยอดพุ่งสูงถึง 915 ล้านบาท ส่วนมูลค่าที่ดิน+อสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าสูงกว่าพันล้านบาท (ตามคำให้สัมภาษณ์ของ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานสหกรณ์จุฬาฯ และนายอชิรเดช หรือวนวัชร์ กนกโชติชัยวัชร์ ประธานสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นมาให้เห็นชัด ดังนี้
เมื่อปี 2554 มีการเซ็น MOU กันระหว่างสหกรณ์จุฬาฯ สหกรณ์มหาสารคามฯ สหกรณ์ มศวฯ และสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ เพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร ‘บ้านสวนสารคาม’ ต่อมาเมื่อปี 2556 สหกรณ์จุฬาฯ ทยอยฝากเงินแก่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ โดยมีหลักประกันเป็นที่ดินจำนวนกว่า 200 ไร่ มูลค่า (ขณะนั้น) ประมาณ 198 ล้านบาท กระทั่งช่วงปี 2557 ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์+ที่ดิน มีมูลค่ากว่าพันล้านบาท
นอกจากการเซ็น MOU กับ 3 สหกรณ์ข้างต้นแล้ว สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ยังดำเนินการเซ็น MOU กับสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเตรียมเข้าไปดำเนินการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย
อย่างไรก็ดีช่วงเดือน พ.ค. 2557 กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งหนังสือมาที่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ มีสาระสำคัญคือ ขอให้ระงับการดำเนินงานโครงการ ‘บ้านสวนสารคาม’ เนื่องจากเห็นว่าขัดกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ที่ระบุให้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต้องขายให้กับสมาชิกภายในสหกรณ์เท่านั้น ไม่สามารถขายให้สมาชิกอื่นนอกสหกรณ์ได้ พร้อมกับให้แก้ไขภายใน 180 วัน
แต่นายอชิรเดช ชี้แจงว่า กรณีนี้นิติกรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ตีความผิดประเด็น เพราะข้อเท็จจริงตามข้อบังคับสหกรณ์ ประเภทสหกรณ์บริการ (เคหสถาน) หมวด 2 ข้อ 2 ข้อย่อย 5 ระบุว่า ให้ร่วมมือกับสหกรณ์อื่น ชุมนุมสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย องค์กรชุมชนภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงกิจการของสหกรณ์ ดังนั้น การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯสามารถกระทำได้
หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าว สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ได้ยุติการดำเนินโครงการทั้งหมด และส่งหนังสืออุทธรณ์ไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ ขอให้ขยายเวลาการแก้ไขจาก 180 วัน เป็น 1 ปี เพราะระยะเวลากระชั้นเกินไป และยังไม่สามารถขายโครงการดังกล่าวให้กับกลุ่มทุนอื่นได้ทัน
ขณะเดียวกันสำหรับสหกรณ์จุฬาฯ เมื่อรับทราบว่าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น จึงได้ขอถอนเงินฝากออกจากสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ทั้งหมด รวมเงินต้น+ดอกเบี้ย ประมาณ 915 ล้านบาท อย่างไรก็ดีสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ไม่สามารถให้ได้ เพราะถูกคำสั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ระงับการดำเนินงานอยู่ ส่งผลให้ถูกสหกรณ์จุฬาฯ ฟ้องเรียกเงินต้น+ดอกเบี้ย รวมทั้งหมด 1,063 ล้านบาท
ส่วน รศ.ดร.สวัสดิ์ ยืนยันชัดเจนว่า ในการฟ้องร้องดังกล่าว หากไม่ได้คืนเป็นเงิน ก็จะได้คืนเป็นที่ดิน+อสังหาริมทรัพย์ในโครงการทั้งหมด รวมมูลค่ากว่าพันล้านบาท ดังนั้นขอให้สมาชิกสหกรณ์จุฬาฯ มั่นใจว่าได้เงินคืนแน่
ต่อมาช่วง มี.ค. 2559 กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีหนังสือตอบกลับอนุมัติเงื่อนไขของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ โดยขยายเวลาเพิ่มเป็น 1 ปี 2 เดือน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยนายอชิรเดช ระบุว่า ปัจจุบันได้เจรจาขายโครงการดังกล่าว รวมถึงทรัพย์สินทั้งหมดของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ให้กับกลุ่มทุนจากจีนคือ Hebei Saving Energy Investment Company Limited ร่วมกันกับกลุ่มทุนจากไทยคือ บริษัท มอนเทอเรย์ พาร์ค รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) รวมวงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะนำไปใช้หนี้แก่ลูกหนี้ทั้งหมด รวมถึงสหกรณ์จุฬาฯ ด้วย
นายอชิรเดช ระบุด้วยว่า ได้พูดคุยกับกลุ่มสหกรณ์ที่มาฝากเงินกับสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯทั้งหมดแล้ว รวมถึงสหกรณ์จุฬาฯด้วย ซึ่งทุกแห่งก็ตกลงให้ดำเนินการตามนี้ เชื่อว่าจะสามารถขายทรัพย์สินทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนจากจีนได้ประมาณสิ้นปีนี้
(อ่านประกอบ : ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้)
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงขณะนี้ คือเกิดจากสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ‘เบี้ยว’ จ่ายเงินต้น+ดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์จุฬาฯ จนกระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้อง
ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ คือหนึ่งใน ‘นอมินี’ ให้กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น นายอชิรเดช ยืนยันชัดเจนว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง !
“สหกรณ์ฯเราไม่เคยปล่อยกู้หรือกู้เงินจากสหกรณ์คลองจั่นฯ ไม่เคยทำธุรกรรมร่วมกัน ผมไม่เคยรู้จักกับเขา (นายศุภชัย) เป็นการส่วนตัว รู้แค่ว่าเขาดัง เขามีคดีความอยู่ แต่ที่ถูกเชื่อมโยงเพราะเราเป็นหนี้สหกรณ์จุฬาฯเหมือนกัน คนก็เลยมองว่า ผมหรือสหกรณ์ฯเราเป็นนอมินีให้เขา ซึ่งไม่จริง ผมก็ดำเนินงานสหกรณ์ฯของผม ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกัน เรื่องนี้ตรวจสอบได้ทั้งหมด” นายอชิรเดช กล่าว
อีกเงื่อนปมประการหนึ่งคือ ในการเปิดงานต่าง ๆ ของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ มักปรากฏตัว พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มาเป็นประธานบ่อย ๆ
ทำให้เกิดข้อข้องใจว่า นายอชิรเดช และสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ อาจมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับ พล.อ.พัลลภ รวมถึงนักการเมืองเครือข่าย ‘ซีกสีแดง’ อยู่เนือง ๆ ?
ประเด็นนี้ นายอชิรเดช ยืนยันว่า รู้จักกับ พล.อ.พัลลภ เมื่อนานมาแล้วตั้งแต่สมัยยังไม่ได้ทำสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ โดยก่อนหน้านี้เคยถูก ‘ผู้ใหญ่’ รายหนึ่งชักชวนให้ไปซ่อมแซมบ้านของ พล.อ.พัลลภ หลังจากนั้นจึงได้รู้จัก และติดต่อกันเรื่อยมา
“ท่าน (พล.อ.พัลลภ) เป็นคนดี ให้ความช่วยเหลือผมมาตลอด สำหรับความสัมพันธ์ของผมกับท่าน อาจเรียกท่านว่าพ่อก็ย่อมได้ แต่ท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ แต่ที่เชิญท่านมาเปิดงาน ก็ในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผมเคารพ” นายอชิรเดช ระบุ
ส่วนมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ‘ซีกสีแดง’ หรือไม่นั้น นายอชิรเดช ระบุว่า ไม่เคยเล่นการเมือง และไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งสีแดงหรือสีเหลือง ไม่เคยดีลงานกับพวกนักการเมือง สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-เบื้องหลัง ความสัมพันธ์ระดับ ‘พ่อ-ลูก’ ของ พล.อ.พัลลภ และนายอชิรเดช จนถึงขั้นที่ต้องเชิญมาเป็นประธานในการเปิดตัวงานต่าง ๆ ของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯทุกครั้ง !
อ่านประกอบ :
ถูกคำสั่งระงับทำบ้านจัดสรร! ปธ.นพเก้ารวมใจขายต่อทุนจีนพัน ล.คืน‘จุฬา’ครบแน่
เส้นทางฝากเงิน‘จุฬาฯ’ถึง ‘คลองจั่น-เครือข่าย’ 1.2 พันล.จับตาได้คืนหรือแห้ว?
ไม่รู้เรื่องแค่เซ็น MOU! สหกรณ์สารคามฯแจงปม‘นพเก้ารวมใจ’ทำบ้านจัดสรรพันล.
โชว์โมเดลบ้านจัดสรรพัน ล.‘นพเก้ารวมใจ’ใช้คืนจุฬาฯ-‘พัลลภ’โผล่พิธีเปิดอีก
ที่ตั้ง‘นพเก้ารวมใจฯ’เป็นบ้านในเคหะรามฯ-‘พัลลภ-บิ๊ก ตร.’โผล่พิธีเปิด สนง.ปทุมฯ
ไขที่มาสหกรณ์จุฬาฯฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ 915 ล.ก่อนถูกเบี้ยวฟ้องเรียกคืนพันล.
ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแจงปมปล่อยกู้-ฝาก‘คลองจั่น-เครือข่าย’-ฟ้องเรียกเงินแล้ว 2 แห่ง
หนี้อ่วม! เจาะไส้ใน‘นพเก้ารวมใจ’ หาเงินจากไหนมาใช้คืนสหกรณ์จุฬาฯพันล.?
สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้
สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล.
ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแถลงพิเศษแจงสารพัดข้อสงสัยปล่อยกู้-ฝากเงิน‘คลองจั่น-พวก’
มั่นใจได้คืนแน่! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯไม่หวั่นคืนเป็นหุ้นเอกชนถูกดีเอสไอสอบฟอกเงิน
ทยอยใช้หนี้แล้ว! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯยันสมาชิกไม่ต้องกังวลปมปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่นฯ
ขีดเส้น 7 วันแจงปมปล่อยกู้คลองจั่น! ประชุมสหกรณ์จุฬาฯเดือดวอล์คเอ้าท์เพียบ
สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล.
สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้
มั่นใจได้คืนแน่! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯไม่หวั่นคืนเป็นหุ้นเอกชนถูกดีเอสไอสอบฟอกเงิน