ปม "การเมือง-ศาสนา" ทำประชามติชายแดนใต้ป่วน
กลายเป็นประเด็นความมั่นคงขึ้นมาทันที เมื่อเกิดกรณีแขวนป้ายผ้าและพ่นสีสเปรย์ในอารมณ์ไม่ใช่แค่ "คัดค้าน" แต่เป็น "ต่อต้าน" การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เหตุป่วนประชามติ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเรียกว่าเป็น “เหตุก่อกวน” เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 20 จุด และ อ.สะบ้าย้อย ในฐานะ 1 ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 จุด รวมเป็น 22 จุด
แม้จำนวนจะไม่มาก (ตัวเลขของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นับได้แค่ 9 จุด) เพราะขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่เคยแขวนป้ายผ้าโจมตีรัฐบาลพร้อมกันมาแล้วมากกว่า 300 จุด แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ให้ความสำคัญกับสถานการณ์นี้
“เหตุการณ์พ่นสีสเปรย์บนลงป้ายบอกทางและป้ายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ไม่สามารถชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการลงประชามติ หรือกลุ่มผู้ก่อเหตถุรุนแรง เพราะในพื้นที่มีหลายกลุ่ม รวมถึงวัยรุ่นคึกคะนอง”
เป็นคำตอบจาก พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
สาเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ฟันธงว่าการสร้างสถานการณ์ป่วนครั้งนี้เป็นฝีมือของฝ่ายใด เพราะกระแสต้านร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ปลายด้ามขวานมีมาจากหลายทิศทาง
เริ่มจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เชื่อมโยงกับผู้สูญเสียอำนาจ ซึ่งคัดค้านรัฐบาลทหารอยู่แล้ว มีการปลุกกระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง
ตามมาด้วยการเปิดประเด็นมาตรา 67 ที่มีความอ่อนไหวทางศาสนา เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนให้มีมาตรการปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด แต่เขียนถึงศาสนาอื่นเพียงไม่กี่คำ
การปลุกกระแสประเด็นนี้ลามไปถึงปมคาใจที่มีคนพุทธคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดในหลายจังหวัด และการอุปถัมภ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ระยะหลังกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปตรวจสอบเงินอุดหนุนรายหัวอย่างเข้มข้น
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้นำศาสนาอิสลามและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาบางส่วนออกมาชูธงต้านร่างรัฐธรรมนูญอย่างคึกคักผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดตั้งองค์กรสังเกตการณ์ประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเปิดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นระยะ และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีการส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ กกต.ว่ากระทำผิดกฎหมาย เพราะแจกจุลสารชี้นำการทำประชามติด้วย
ขณะที่กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยเฉพาะในปีกที่ขับเคลื่อนงานทางการเมืองทั้งในทางเปิดและแบบใต้ดิน
ความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายความมั่นคงแจ้งเตือนไว้ก่อนแล้ว คือการแขวนป้ายผ้า พ่นสี แสดงท่าทีต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยโยงไปถึงการเรียกร้องเอกราชและการแบ่งแยกดินแดน ด้วยการชูประเด็น “ไม่เอารัฐธรรมนูญไทย” ซึ่งล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นแล้ว
แผนการที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบได้ คาดว่าจะมีการเขียนข้อความในบัตรออกเสียงประชามติว่า "ปาตานีเอกราช" แทนกากบาทรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อสร้างกระแสว่าคนชายแดนใต้ต้องการเอกราชและเป็นอิสระจากรัฐไทย
ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงกำลังศึกษาข้อกฎหมายว่า การจงใจทำบัตรเสีย ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากเป็นความผิด จะมีการแจ้งความดำเนินคดีหลังวันที่ 7 ส.ค.
ขณะที่การประเมินแนวโน้มผลการลงประชามติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังเชื่อว่าเฉพาะประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะผ่านประชามติไปได้ ส่วนคำถามพ่วงอาจไม่ผ่าน
และสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นกังวล พร้อมสั่งให้จับตาเป็นพิเศษ ก็คือการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบผสมโรง จึงน่าเชื่อว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ปลายด้ามขวานหนนี้ จะร้อนระอุค่อนข้างแน่!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายผ้าต้านร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขอบคุณภาพจากเจ้าหน้าที่)