ชาวนาพื้นเมืองบางระกำ ศรีสะเกษ “ฟื้นทำนาโบราณ” ปลดหนี้ กู้ชีวิตคน กบ ปลา
เมื่อเร็วๆนี้ ชาวกวย ชนเผ่าหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ ร่วมกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูการทำนาแบบดั้งเดิม เพื่อลดทุนสูง-แก้ปัญหาหนี้สิน และอันตรายจากสารเคมี การทำนาบนแปลงรวมของชุมชนยังสะกิดให้ชาวบ้านหันมามองอดีตและรากเหง้าตน เพื่อพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริง
นางดาวรุ่ง แซ่โค้ว ผู้ใหญ่บ้าน บ้านระกา ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวถึงสถานการณ์การการทำนาปัจจุบันที่เน้นความสะดวกสบาย ทำให้จากชาวนากลายเป็นผู้จัดการนา เร่งว่าจ้างแรงงานให้เสร็จภายใน 1-2 วัน และใช้วิธีการหว่านมากกว่าการดำ ซึ่งมีส่วนทำให้ใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น คือยาฆ่าหญ้า เพราะนาหว่านจะมีวัชพืชเยอะ สร้างปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษวัดได้จากในอดีตมีปลาและกบเยอะ มีการซื้อขายในหมู่บ้านถึงวันละ 1,000 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันสูญหายไป รวมถึงต้นทุนการทำนาที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้ชาวนายิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้มากขึ้น ขณะที่ความเอื้ออาทรต่อกันของคนในชุมชนลดน้อยลงทุกที
นางดาวรุ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งชาวบ้านจะเป็นผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลและวิจัยเอง คือโครงการวิจัยชุดฟื้นฟูวิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิม มีการจัดกิจกรรมลงแขกในแปลงรวมขึ้นในวันที่ 4-5 ก.ย.53 ที่ผ่านมาที่บ้านระกา โดยในกิจกรรมมีการลงแขกถอนกล้า ไถและคราดนาโดยใช้ควาย มีชาวบ้านในหมู่บ้านที่เป็นทั้งคนทำนาแบบดั้งเดิมประมาณ 5 ครอบครัว และคนทำนาแบบสมัยใหม่มารวมตัวกัน โดยทุกคนจะห่อข้าวมาจากบ้านเพื่อกินร่วมกันในตอนกลางวัน
ในกิจกรรมมีการให้ความสำคัญและเชิดชูกลุ่มคนที่ยังทำนาแบบดั้งเดิม โดยการนำควายของตัวเองมาไถและคราดนา เป็นตัวหลักพาเพื่อนบ้านทำนาแบบดั้งเดิม เพื่อสะกิดให้ทุกคนหันกลับมามองว่ารากเหง้าตนมากจากไหน จะยากเกินไปหรือไม่ ถ้าจะหันกลับมองวิถีชีวิตการพึ่งพาตัวเองแบบดั้งเดิม
ด้านนางวิไล ดวงธนู ชาวนาบ้านระกา เป็นอีกหนึ่งในหลายครอบครัวที่ยังทำนาแบบดั้งเดิม กล่าวว่า ยังคงทำนาแบบดั้งเดิม ทั้งๆที่คนอื่นมองว่าโบราณ คร่ำครึ เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี และเป็นสิ่งที่พ่อแม่เคยพาทำมาตั้งแต่เด็ก กิจกรรมวันนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกภาคภูมิใจมาก
ทั้งนี้บรรยากาศของการจัดกิจกรรม เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทุกคนต่างกระตือรือร้นช่วยกันทำนาบนแปลงรวม ที่มีประมาณ 1 ไร่ .