ชำแหละ กำไร 1,235 ล. ธพว.ปี 58 อาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง? - ปี 59 ส่อซ้ำรอย
ข้อมูลเชิงลึก ! ชำแหละ ตัวเลข กำไร 1,235 ล. ธพว. ปี 58 อาจไม่ใช่ผลประกอบการที่แท้จริง แต่มาจากการกลับรายการทางบัญชีที่สำคัญ 2 รายการ กระทบการจ่ายโบนัสปี 58 อาจขัดมติ ครม. ชี้กำไรครึ่งแรกปี 59 ที่เพิ่งแถลง อาจซ้ำรอย?
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ร่วมกันแถลงผลประกอบการของธนาคาร 6 เดือนแรกของปี 2559 ว่า เดือนมิถุนายน 2559 มีกำไรสุทธิ 206 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิรวม 1,104 ล้านบาท เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2558 มีกำไรสุทธิ 604 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท คิดเป็น 82.78 % ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 16,479 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 88,532 ล้านบาท ยอดหนี้ NPL คงเหลือ 20,011 ล้านบาท คิดเป็น 22.60 % ของสินเชื่อรวม เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 27,184 ล้านบาท หรือ 31.47% โดย NPL ลดลง 7,173 ล้านบาท
โดยให้เหตุผลว่าธนาคารได้สร้างระบบ Loan Monitoring เพื่อป้องกันสินเชื่อตกชั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการติดตามดูแลลูกหนี้ที่อ่อนแออย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPL ได้ดีขึ้น และธนาคารได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ของลูกหนี้ NPL ที่ยังดำเนินกิจการอยู่ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารได้มีการขายลูกหนี้ NPL ออกไปรวม 1,433.35 ล้านบาท และตั้งแต่คณะกรรมการชุดนี้เข้ามาดูแล ธพว.เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 เป็นต้นมา ธนาคารได้ขายลูกหนี้ NPL ไปแล้ว 7,613.66 ล้านบาท
จากผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2559 ตามที่ประธานและกรรมการผู้จัดการได้แถลงข่าวต่อ
สื่อมวลชน และได้เปรียบเทียบกับผลประกอบการในปี 2558 โดยเฉพาะในเรื่องกำไรของปี 2558 มีกำไรเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 100 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 200 ล้านบาท หรือเกือบเท่าตัว ซึ่งเมื่อปี 2558 ประธานและกรรมการผู้จัดการ ธพว.ก็ได้จัดแถลงผลงานทุก ๆ เดือน เช่นเดียวกับปี 2559 และให้เหตุผลที่ทำให้ ธพว.มีกำไรในทำนองเดียวกันว่า มาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพดี การติดตามการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด และการแก้ไขหนี้ที่ได้ผล รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
แต่จากการตรวจเยี่ยม ธพว.ของ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงปลายปี 2558 ได้มีข้อสงสัยในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารธนาคารขนาดใหญ่มาก่อนว่า สถานะของ ธพว.ที่มีสินเชื่อคงค้างประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ NPL ในระดับ 30% และมีพนักงานประมาณ 1,500 คน ไม่น่าจะมีกำไรได้
เมื่อย้อนกลับไปดูงบการเงินของ ธพว.ในปี 2558 หลังจาก สตง. ตรวจสอบแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประจำปี ของ ธพว. ในงบกำไรขาดทุน ในปี 2558 ได้แสดงกำไรสุทธิ 1,235 ล้านบาท และเมื่อดูที่มาของกำไรจำนวนดังกล่าว จะพบข้อมูลอย่างน้อย 2 รายการในหมวดค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆ ที่ส่งผลถึงกำไรปี 2558 ของ ธพว. อย่างมีนัยสำคัญ คือ
1. รายการ “กลับรายการประมาณการหนี้สิน” จำนวน 938.71 ล้านบาท ซึ่งการกลับรายการส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลง โดยได้มีหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 5.16.2 ระบุว่า “ธนาคารทบทวนประมาณการสำรองค่าใช้จ่ายตราสารอนุพันธ์ (กรณี FRCD ที่ ธพว.ถูกฟ้อง) เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ทำให้มีการกลับรายการสำรองดังกล่าว จำนวน 938.71 ล้านบาท” โดยการบันทึกบัญชี กรณีกลับรายการสำรองที่เคยตั้งไว้เมื่อหลายปีก่อน ธพว.ได้นำไปหักออกจากรายการค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆ
2. รายการ “ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน” จำนวน 947.66 ล้านบาท จะเห็นถึงความไม่สอดคล้องกับปี 2557 โดยไม่ควรจะมีตัวเลขต่ำกว่าปี 2557 ที่มีจำนวน 1,190.89 ล้านบาท แต่ในปี 2558 กลับต่ำกว่า 243.23 ล้านบาท ทั้งที่มีจำนวนพนักงานใกล้เคียงกัน และปี 2558 พนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนจากปี 2557 โดยมีหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 5.28 ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน จำนวน 947.66 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการโอนกลับรายการโบนัสค้างจ่าย จำนวน 313.13 ล้านบาท ซึ่งธนาคารรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายและตั้งค้างจ่ายตั้งแต่ปี 2556 และปี 2557”
ความหมายคือ เงินที่ ธพว.เตรียมไว้ (ตั้งค้างจ่าย) สำหรับจ่ายโบนัสให้กับพนักงานในปี 2556 จำนวน 313.13 ล้านบาท แต่ต่อมาไม่ได้จ่ายจริง (เนื่องจากประธาน ธพว.แจ้งว่าพนักงานเสียสละไม่รับโบนัส ???) ซึ่ง ธพว.ได้บันทึกบัญชีกรณีนี้โดยคืนกลับเข้าไป หรือนำไปลดในรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานของปี 2558
ดังนั้น จึงเท่ากับว่า รายการในหมวดค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆ ถูกปรับลดลงไป 2 รายการใหญ่ ๆ รวมเป็นจำนวน 1,251.84 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 รายการ เป็นรายการทางบัญชีไม่ได้สะท้อนผลการดำเนินงานในปี 2558 ทำให้กำไรในปี 2558 สูงกว่าความเป็นจริงในปี 2558 ไปถึง 1,251.84 ล้านบาท หากนำตัวเลขนี้ไปหักออกจากตัวเลขกำไรสุทธิที่ระบุอยู่ในงบกำไรขาดทุน คือ 1,235.26 จะทำให้ผลประกอบของ ธพว.ในปี 2558 เปลี่ยนเป็นขาดทุน 16.58 ล้านบาท ซึ่งควรจะเป็นผลประกอบการที่สะท้อนความเป็นจริงของ ธพว.มากกว่า
ตามหลักการบัญชีโดยทั่วไป เมื่อมีการกลับรายการทางบัญชี ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ถูกบันทึกไว้ในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะเป็นรายการที่มียอดเงินเป็นจำนวนสูงถึง 1,251.84 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในปีปัจจุบันอย่างรุนแรง จะนำไปบันทึกไว้ในบัญชีกำไรขาดทุนสะสม เพื่อไม่ให้ผลประกอบการในปีปัจจุบันถูกบิดเบือน
การบันทึกบัญชีในส่วนของการกลับรายการค้างจ่ายโบนัสพนักงานในปี 2556 โดยนำไปลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานในปี 2558 นอกจากทำให้ไม่สะท้อนผลประกอบการในปี 2558 แล้ว ยังเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พรบ.ธพว.มาตรา 41 ที่กำหนดไว้ว่า “กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเพื่อจ่ายเป็นเงินปันผล บำเหน็จรางวัลประจำปี ตามมาตรา 30 และเงินสำรอง ให้โอนเข้าบัญชีกำไรสะสม” ทำให้รายการค้างจ่ายโบนัสพนักงานที่ไม่ได้จ่ายจริงในปี 2556 จำนวน 313.13 ล้านบาท จะต้องโอนเข้าบัญชีกำไรสะสมตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากจากนี้ กำไรสุทธิที่ระบุอยู่ในงบกำไรขาดทุน ปี 2558 จำนวน 1,235.26 ยังถูกนำไปพิจารณาในเรื่องอื่นๆ อีก ทั้งในเรื่องการประเมินผลการทำงานของผู้บริหารและกรรมการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกนำไปพิจารณาเพื่อจ่ายโบนัสให้กับพนักงานและกรรมการ
หลักเกณฑ์การจ่ายโบนัส ตามมติ ครม. ในกรณีของ ธพว.กำหนดให้จ่ายโบนัสให้กับพนักงานได้เมื่อมีกำไร โดยจำนวนที่จ่ายรวมไม่เกิน 40% ของกำไร ส่วนจะจ่ายได้เป็นจำนวนกี่เท่าของเงินเดือน ขึ้นอยู่กับผลการประเมิน โดยมีคะแนนประเมินตั้งแต่ 1 ถึง 5 คะแนน และจำนวนโบนัสที่จะได้รับมีจำนวนตั้งแต่ 2 เดือน ถึง 7 เดือน นอกจากนี้กรรมการธนาคารก็มีสิทธิได้รับโบนัสด้วย โดยกรณีที่ธนาคารมีกำไร 1,000-2,000 ล้านบาท จะได้รับโบนัสที่เป็นฐาน จำนวน 90,000 บาท และเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากฐานตามผลการประเมิน
ซึ่งในปี 2558 คณะกรรมการ ธพว.ได้เสนอขอกระทรวงการคลังเพื่อจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน เป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนของพนักงาน 2 เดือน หรือเป็นเงินประมาณ 140 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่า ธพว.มีกำไร ตามที่ปรากฏในหน้าแรกของงบกำไรขาดทุน และได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการประเมินผลการทำงานของพนักงานเพื่อจ่ายโบนัส
จึงเป็นข้อสงสัยว่า งบกำไรขาดทุนในปี 2558 ของ ธพว.ที่ระบุว่ามีกำไร 1,235.26 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ ธพว.และกระทรวงการคลัง นำไปพิจารณาเพื่ออนุมัติจ่ายโบนัสให้กับพนักงานและกรรมการธนาคาร อาจไม่ได้พิจารณาหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่ สตง.ได้แสดงให้เห็นไว้โดยชัดเจน ที่สะท้อนว่ากำไรไม่ได้เกิดจากผลประกอบการที่แท้จริง แต่ถ้าไม่มี 2 รายการนั้น ในปี 2558 ธพว.ก็จะไม่มีกำไรที่จะนำไปจ่ายโบนัสได้ เช่นนี้แล้วการจ่ายโบนัสจะถูกต้องตามมติ ครม. หรือไม่
ในปี 2558 ธพว.ได้แถลงข่าวผลประกอบการทุก ๆ เดือน ว่ามีกำไรเดือนละประมาณ 100 ล้านบาท จึงอาจจะคลาดเคลื่อน เพราะหลังจากงบการเงินได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว แสดงให้เห็นว่ามาจากการกลับรายการทางบัญชีที่สำคัญ 2 รายการใหญ่ และถ้าหากเอา 2 รายการนี้ออกไปจากงบกำไรขาดทุน กลับทำให้ ธพว.ขาดทุนเสียด้วยซ้ำ ในแต่ละเดือนจึงไม่ควรมีกำไร ดังนั้น การแถลงผลประกอบการรายเดือนใน ปี 2559 ทีมีกำไรเฉลี่ยประมาณ 200 ล้านบาท จึงต้องดูต่อไปว่าหลัง สตง.ตรวจสอบ จะมีหมายเหตุอะไรอีก?
หลังจากสิ้นสุดปีดำเนินงาน 2558 ได้ไม่นาน ในเดือนมกราคม 2559 ธพว.ได้จัดแถลงผลประกอบการของปี 2558 ทันที ก่อนที่ สตง.จะตรวจสอบงบการเงิน ว่า ธพว.มีกำไรสุทธิสูงถึง 1,339 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ามาจาก ธพว.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 3.1 หมื่นล้านบาท และเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพดี ทำให้มีดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น และหนี้ NPL ลดลงจาก 3.5 หมื่นล้านบาท หรือ 40% ในปี 2557 คงเหลือเพียง 2.3 หมื่นล้านบาท หรือ 27% ในปี 2558
ก่อนหน้านั้น ธพว.ได้แถลงข่าวผลประกอบการเป็นประจำทุกเดือน การแถลงข่าวในเดือนมกราคม 2559 จึงเป็นการสรุปผลการดำเนินงานรวมของทุกเดือน ตลอดปี 2558
แต่เมื่องบการเงินของ ธพว.ผ่านการตรวจสอบจาก สตง.ซึ่งตรวจเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2559 ปรากฏว่า ผลการดำเนินงานจริง ของ ธพว.ไม่เป็นดังเช่นที่แถลงข่าวมาตลอดปี 2558 เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ ซึ่งหมายถึงว่า ธพว.ไม่ได้มีผลกำไรจากการดำเนินงานอย่างแท้จริง โดยไม่ได้มีกำไรที่มาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพดี และการลดหนี้ NPL ได้จำนวนสูง ที่จะส่งผลให้เกิดผลกำไรขึ้นเป็นหลักพันล้านตามที่ได้แถลงข่าวมาตลอดปี 2558 แต่กลับเป็นการขาดทุนเสียด้วยซ้ำ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีความพยายามกลับรายการทางบัญชี เพื่อให้ผลกำไรยังคงเป็นตามที่ได้แถลงข่าวตลอดปี 2558 และแถลงข่าวครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดปี 2558 จึงได้กลับรายการทางบัญชี 2 รายการใหญ่ คือ กลับรายการสำรองความเสียหายหากแพ้คดี FRCD จำนวน 900 ล้านบาทเศษ ทั้งที่คดีเพิ่งตัดสินจากศาลชั้นต้นให้ ธพว.ชนะคดี แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอน หากคดีถึงที่สุดแล้ว ธพว.แพ้คดี จะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับ ธนาคาร แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ ถึง มากกว่า 5,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ถึงเวลานั้นหากไม่ได้สำรอง หรือสำรองไว้ไม่เพียงพอ อาจกระทบถึงสถานะของ ธพว.อย่างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติแสดงความเป็นห่วงมาโดยตลอด และ ธพว.ได้กลับรายการทางบัญชีอีกรายการหนึ่ง คือ รายการโบนัสค้างจ่ายของปี 2556 ซึ่งบอร์ดชุดนี้มีมติไม่ให้จ่ายโดยอ้างว่าพนักงานเสียสละ ในขณะที่บอร์ดชุดเดิมเห็นควรให้จ่ายและได้ตั้งสำรองจ่ายไว้ในปี 2556 โดยได้นำรายการโบนัสค้างจ่ายจำนวน 300 ล้านบาทเศษ คืนกลับเข้าไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานของปี 2558 เมื่อรวม 2 รายการนี้แล้ว จะมีตัวเลขพอ ๆ กับกำไรที่บอร์ด ธพว.ได้แถลงข่าวไปแล้ว คือประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท แต่มีที่มาไม่เหมือนกัน
ซึ่งหากดูงบการเงินไม่ละเอียด หรือไม่ได้ดูหมายเหตุประกอบงบการเงิน ฉบับที่ผ่านการตรวจของ สตง.ก็จะเข้าใจว่า กำไรปี 2558 ของ ธพว.เป็นไปตามที่ได้มีแถลงข่าวตลอดปี 2558
การกลับรายการทางบัญชี ที่ได้บันทึกบัญชีในปีบัญชีก่อนหน้า หรือหลาย ๆ ปีก่อนหน้า หากจำเป็นต้องกลับรายการ ตามมาตรฐานทางบัญชี ควรจะต้องบันทึกอยู่ในบัญชีกำไรขาดทุนสะสม
ฉะนั้น การแถลงผลกำไร ครึ่งแรกปี 2559 จึงยังเป็นข้อสงสัย?
อ่านประกอบ:
'คลัง'ขยับสอบ-สั่งแจง ปม ธพว.อุ้ม บ.พายัพ ไม่ถูกฟ้องฉ้อโกง -'สาลินี'เลี่ยงตอบคำถาม
เบื้องหลัง'ธพว.'ตั้งเงื่อนไขพิสดาร? ปล่อยกู้ รร.นานาชาติ360ล.-ปริศนาเงินฝาก60ล.