เล่าเรื่องจากประสบการณ์ใช้ HIA กับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
ตราบใดเราไปโทษชาวบ้านว่า คุณเอาแต่อคติ เอาแต่ภาพในอดีตไปคิดไม่ยอมมองไปข้างหน้า ก็จะทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น เพราะชาวบ้านไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรือมีความรู้ทางระบาดวิทยาที่จะไปเชื่อมโยงว่า คุณปล่อยอะไรออกมาแล้วทำให้เขาป่วยไม่ป่วย ชาวบ้านโทษนิคมฯหมด ดังนั้นเราต้องมองเขาอย่างเข้าใจ เพราะนิคมฯ มีภาพลักษณ์ในอดีตอย่างนั้นจริงๆ
HIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพคืออะไร เหมือนหรือต่างกับ EIA หรือ EHIA อย่างไร
HIA มีผลต่อการอนุมัติ-อนุญาตโครงการหรือไม่ โครงการอะไรบ้างที่อยู่ในข่ายต้องทำ HIA
และจริงหรือไม่ที่ HIA ขัดขวางการพัฒนา
HIA (Health Impact Assessment ) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นกระบวนการตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีบ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) บอกว่า หลักเกณฑ์ HIA ถึงปัจจุบันบังคับใช้มากว่า 7 ปีแล้ว เป็นการสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะที่ดีและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม มุ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลผลกระทบต่างๆ ทั้งในเชิงบวกและลบ จากนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินงาน ร่วมสร้างทางเลือกในการพัฒนาจัดการพื้นที่ ร่วมกันตัดสินใจอย่างสมานฉันท์ ตลอดจนร่วมกันตรวจสอบ ประเมินผลในระยะยาวต่อไป
ภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันวิชาการวิชาชีพต่างเห็นตรงกันว่า กระบวนการ HIA ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีกลางที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ช่วยลดความขัดแย้ง นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน
หลังจากมีการประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 1 บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีการประกาศ HIA ฉบับใหม่ ฉบับที่ 2 เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยหลักเกณฑ์ใหม่เน้นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่ปล่อยให้มีการตัดสินใจไปแล้วจึงมีการประเมินผลกระทบเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเมื่อมีข้อร้องเรียนในระหว่างดำเนินโครงการ และ/หรือเมื่อแล้วเสร็จ ก็สามารถจัดทำ HIA ได้เช่นเดียวกัน
ขณะที่ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มองว่า HIA ฉบับเดิมมีปัญหา คือ หลายภาคส่วนต่างฝ่ายต่างดำเนินการ จึงมีการปรับให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการกำหนดนโยบาย แผนงานต่างๆได้เกิดการยอมรับ เปิดรับข้อมูลรอบด้าน
หลายๆ โครงการก็สามารถชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาออกแบบและวางแผนทำ HIA เพื่อให้เกิดการยอมรับผลร่วมกันได้ เรื่องที่แนวโน้มนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีทางเลือกนโยบายที่หลากหลาย มีความคิดเห็นและผลกระทบที่แตกต่างในแต่ละกลุ่ม เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ อาทิ โครงการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสวัสดิการสังคมในอนาคต การเจรจาการทำข้อตกลงทางการค้า การจัดการขยะ การพัฒนาพื้นที่ริมเจ้าพระยา การขนส่งในอนาคต การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดทำผังเมืองและการออกแบบเมือง เป็นต้น
ไม่ใช่แต่โครงการใหม่ๆ อย่างโครงการท่าเทียบเรือ โครงการเหมืองแร่ โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ ที่กำลังจะเกิดเท่านั้น
มีตัวอย่างพื้นที่ภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ตั้งมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว ในอดีตนับว่า เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก
รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงการนำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปใช้ในพื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ซึ่งวันนี้มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่อย่างยั่งยืน
กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community-Based Health Impact Assessment:CHIA) และเครื่องมือระบาดวิทยาโดยประชาชน (Popular epidemiology) เป็นกระบวนการและเครื่องมือที่ รศ.นพ.พงศ์เทพ นำมาประยุกต์ใช้ โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และความร่วมมือจากชาวบ้านใน 4 ตำบลรอบนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ได้แก่ บ้านกลาง มะเขือแจ้ เหมืองง่า และเวียงยอง
“แรกๆ ชาวบ้านเป็นโรคอะไร ก็จะโทษนิคมฯ หมด ว่าชาวบ้านไม่ได้ เราต้องมองเขาอย่างเข้าใจเพราะมีภาพลักษณ์ในอดีตอย่างนั้นจริงๆ” รศ.นพ.พงศ์เทพ เริ่มเล่า และย้อนไป 20-30 ปีก่อน นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เคยมีปัญหาเกิดขึ้นจริง ไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะในอดีต บางโรงงานแอบอัดเอาสารพิษสารเคมีลงไปในน้ำใต้ดิน มีการเอาขยะพิษทิ้งเรี่ยราด เป็นต้น ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดี พอเวลาชาวบ้านเจ็บป่วยจริงๆ นี่คือประสบการณ์ในอดีตที่ชาวบ้านรู้สึกว่า โรงงานในนิคมฯ แห่งนี้เคยทำให้เขาเจ็บป่วย
ภาพจำเหล่านี้จะฝังใจ แม้ต่อมานิคมฯ หรือโรงไฟฟ้ามีการจัดการที่ดีแล้ว แต่พอชาวบ้านเจ็บป่วย ภาพในอดีตจะโผล่ขึ้นมาทันที ทั้งหมดเป็นความรู้สึก ที่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เคยรู้สึก
“บ่อน้ำนี้มีมีสารพิษ สารเคมี ตั้งแต่นิคมฯ มาตั้ง ชาวบ้านกินน้ำจากบ่อนี้ไม่ได้เลย มีกลิ่น หรือตั้งแต่นิคมฯ มาตั้งชาวบ้านเป็นโรคปอด โรคมะเร็งเพิ่มขึ้น แม้แต่ปลูกข้าวก็มีแต่พันธุ์ดูใบ (มีแต่ใบไม่มีรวงข้าว) เพราะนิคมฯ เปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง ข้าวรับแสงตลอดจึงไม่ออกรวง
กระทั่งปลามีแต่กลิ่นผงซักฟอก ก็เป็นการกระทำของนิคมฯ
แม้แต่พระสงฆ์ยังบอก ตั้งแต่มีนิคมฯ มาตั้งคนเข้าวัดน้อยลง เพราะโรงงานในนิคมฯ ไม่อนุญาตให้คนงาน ซึ่งเป็นลูกหลานเข้าวัด มัวแต่ทำโอที หรือนิคมฯ ไม่เคยเข้ามาทอดกฐินที่วัดเลยก็มี”
หมอจากมช. เห็นว่า ภาพแบบนี้เราจะไปโทษชาวบ้านไม่ได้ ตราบใดเราไปโทษชาวบ้านว่า “คุณเอาแต่อคติ เอาแต่ภาพในอดีตไปคิดไม่ยอมมองไปข้างหน้า ก็จะทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น เพราะชาวบ้านไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีความรู้ทางระบาดวิทยาที่จะไปเชื่อมโยงว่า คุณปล่อยอะไรออกมาแล้วทำให้เขาป่วยไม่ป่วย ชาวบ้านโทษนิคมฯหมด ดังนั้นเราต้องมองเขาอย่างเข้าใจ เพราะนิคมฯ มีภาพลักษณ์ในอดีตอย่างนั้นจริงๆ”
ในระหว่างที่มีนำกระบวนการ CHIA ไปเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ประยุกต์ใช้ในการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างต้นเหตุของปัญหากับภัยคุมคามสุขภาพใน 4 ตำบลร่วมกัน ส่งผลให้ชุมชนเข้าใจ รับรู้ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และหอบหืด ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่กิจกรรมของชาวบ้านก็มีส่วน
“ที่ชาวบ้านบอกบ่อน้ำนี้สงสัยมีสาร ตั้งแต่นิคมฯ มาตั้ง ชาวบ้านกินน้ำจากบ่อนี้ไม่ได้เลย มีกลิ่น เราบอกว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ เอาน้ำไปตรวจเลย ทำทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อพิสูจน์ความจริง ทุกอย่างต้องแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความรู้สึก
หรือ ตั้งแต่นิคมฯ มาตั้งชาวบ้านปลูกข้าวไม่ได้เลย มีแต่พันธุ์ดูใบ เราก็ทำแบบสอบถามคนปลูกข้าวจริงๆ มีสักกี่รายเป็นอย่างนั้น เอาเข้าจริงมีปลูกข้าวไม่ถึง 5% มีแค่ 1-2 ราย
บางกรณีคุยแบบเจาะลึก คนเข้าวัดน้อยลง นิคมฯ ไม่เคยมาทอดกฐิน นำประเด็นความรู้สึกมาแสวงหาข้อเท็จจริง
ปรากฎว่า ความเชื่อหลายอย่าง พอชาวบ้านหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ทั้งโฟกัสกรุ๊ป ทำแบบสอบถาม หรือการสุ่มตัวอย่างน้ำไปตรวจ ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด เห็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”
รศ.นพ.พงศ์เทพ ชี้ชัดว่า ข้อเท็จจริงหลายอย่างตรงข้ามกับที่ชาวบ้านคิด เช่น โรคหลายโรค มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง อยู่ห่างจากนิคมฯ เยอะ แต่กลายเป็นกิจกรรมของชุมชนทั้งนั้นเลย
“พื้นที่ที่ชาวบ้านเป็นโรคดังกล่าวไปอยู่รอบสวนเกษตร สวนลำไยที่ใช้ยาฆ่าแมลง หรือเผาใบไม้ และพื้นที่ชาวบ้านอยู่ ก็อยู่ใต้ลม ที่ลมพัดผ่าน โรงสีข้าว เตาเผาศพใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเผาศพฟรี รวมถึงการล้างถังสารเคมีจากนิคมฯ ก็มีส่วน”
บางประเด็นทางสังคม ก็พบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เช่น ตั้งแต่ตั้งนิคมฯ มาก่อให้เกิดอาชญกรรมชัดเจน เพราะมีแรงงานต่างถิ่นเข้ามา มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เพราะคนงานใช้มอเตอร์ไซด์ หรือแม้แต่เรื่องการเข้าวัดน้อยลง ก็จริง
ภาพข้อเท็จจริงทั้งหมด รศ.นพ.พงศ์เทพ บอกว่า มีการนำไปสะท้อนให้กับนิคมฯ อะไรที่จริงก็สะท้อนไป แต่อะไรที่ไม่จริง ชาวบ้านจะรู้สึกที่เชื่อมาตั้งนานนั้น วันนี้มันไม่ใช่ แต่เกิดจากกิจกรรมของเขาเอง
“มิน่าเชื่อ เวลาคืนข้อมูลเราจะให้ชุมชนเล่ากันเอง นำสู่การแสวงหา แก้ไขปัญหา ผมบอกชาวบ้านเสมอว่า หากคุณยังฝังใจนิคมทำให้คุณป่วย ต่อให้ปิดวันนี้ โรคคุณหายไหม เพราะสาเหตุของโรคยังอยู่”
นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดจากการแสวงหาหลักฐานเชิงประจักษ์
“ก่อนนำกระบวนการ HIA มาใช้ลดความขัดแย้งระหว่างนิคมฯ กับชุมชน นิคมฯ ก็สงสัย เอ๊ะชาวบ้านจะฟ้องร้องไหม พอนำเสนอผลการศึกษา เขาดีใจมาก เครื่องมือนี้ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ในที่สุดลดความขัดแย้ง แม้แต่รองผู้ว่าการนิคมฯ บอกจะเอาเครื่องมือนี้ไปใช้ทุกนิคมในประเทศไทย เพราะเป็นเครื่องมือลดความขัดแย้งได้อย่างดี”
รศ.นพ.พงศ์เทพ สรุปทิ้งท้ายด้วยว่า การทำ CHIA เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ถือเป็นแบบฝึกหัด ต่อไปนี้คุณสามารถใช้เครื่องมือ HIA ไปประเมินเรื่องอะไรก็ได้ อบต. หรือเทศบาลมีโครงการอะไรมาลงปีหนึ่งๆ หลายสิบหลายร้อยโครงการ สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้มีการจัดทำ HIA ได้
“จะเห็นว่าที่ผ่านมา EIA มีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดี เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะเห็นไม่ตรงกันในเชิงวิชาการ ฟากชาวบ้านเห็นว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น มีโรงไฟฟ้าป่วยเกิดขึ้น ทำให้เขาป่วยสารพัดโรค ฝ่ายโรงงานก็บอกฉันทำตามมาตรฐานหมดแล้ว
ฉะนั้น การที่ชาวบ้านป่วยไม่ได้เกิดจากการกระทำของฉัน หลายกรณีนำไปสู่การฟ้องร้องกัน พอเมื่อไหร่ฟ้องร้องกันนั้น
อย่าลืมว่า ชุมชนยังต้องอยู่กับโรงงาน คนสองคนทะเลาะกันแล้วจะมองหน้ากันอย่างไร ฉะนั้น HIA คือเครื่องมือการแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อไหร่เป็นข้อเท็จจริงที่ชุมชนแสวงหาเองแล้วนั้น ก็จะเป็นข้อเท็จจริงตามวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก”
HIA คือเครื่องมือที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และการมีส่วนร่วม
HIA ทำให้เกิดการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ บ่อยครั้งพอได้ข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การลดความขัดแย้งลงได้